หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ /’ในความมืด’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือดาวแอฟริกัน - ดวงตาเสืออยู่ในตำแหน่งค่อนมาทางจมูก และมีคุณสมบัติในการมองเห็นในความมืด คุณสมบัตินี้มีในสัตว์กินพืชซึ่งอยู่ในสถานภาพเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน งานของเสือไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกไม่เคยง่าย

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ในความมืด’

 

“ความมืด” ไม่มีจริง

ผมอยากเริ่มต้นอย่างนี้ ความหมายที่ผมอยากสื่อ คือ แม้แต่ในคืนข้างแรม ขณะอยู่บนเปลรายล้อมด้วยความมืดมิด มืดกระทั่งยกมือขึ้นใกล้ใบหน้าก็มองไม่เห็น

ผมเขียนประโยคนี้บ่อย

“ไม่เห็น” หรอก ถ้าเราใช้เพียงความสามารถของสายตามอง

กองไฟมอดดับ ถ้าเป็นค่ำคืนข้างขึ้น ป่าถูกครอบคลุมด้วยความสว่างจากแสงจันทร์นวล

เดินกลับแคมป์ได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฉาย

หรือในคืนข้างแรม ปรับสายตาให้คุ้นชิน รอบๆ ตัวก็ไม่ได้มืดอย่างที่คิด

ความสามารถของคนนั้นด้อยกว่าสัตว์

ความมืดไม่ใช่ปัญหาของพวกมัน ขณะเรียนรู้กับสัตว์ป่า

ประโยคที่เราคุ้นชินว่า บางสิ่งนั้น “เห็น” ได้ด้วยใจ

เป็นความจริง

 

กลางคืน

สำหรับสัตว์ป่า พวกมันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในช่วงกลางคืน โดยเฉพาะสัตว์ที่ทำหน้าที่ล่า

เช่น เสือ พวกมันมองเห็นได้ในความมืด คือ ความจริงเพราะได้รับทักษะ ซึ่งรับการฝึกฝนมาจากแม่ และได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างเหมาะสมกับงาน พวกมันจึงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์

อวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งของเสือคือตา ระบบประสาทสัมผัสของเสืออยู่ในขั้นดีมาก โดยเฉพาะระบบการมองเห็น ที่มีการพัฒนามานาน

ในลูกนัยน์ตาเสือมีเซลล์รับภาพที่สำคัญสองชนิด คือ Rod Cell และ Cone Cell

เซลล์ร็อดมีความไวต่อแสง ทำหน้าที่รับภาพในที่มีแสงน้อย เช่น เวลากลางคืน

ส่วนเซลล์โคน ทำหน้าที่รับภาพที่มีแสงมากๆ เช่น กลางวัน รวมทั้งภาพสี และให้รายละเอียดของวัตถุที่อยู่นิ่งๆ ได้ดี

นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พวกมันเห็นในความมืด เสือสามารถขยายรูม่านตาและแก้วตาได้กว้างเมื่อเทียบกับขนาดของจอรับภาพ

มีจอรับภาพไวต่อแสงเพราะมีเซลล์ร็อดมากกว่าเซลล์โคน

ดวงตาเสือสะท้อนแสง นี่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอีกเช่นกัน เพราะจอรับภาพของตาเสือตอบสนองต่อแสงได้มากขึ้น ด้วยการอาศัยฉากสะท้อนแสงด้านหลังจอภาพ ฉากนี้นักวิทยาศาสตร์ให้ชื่อว่า “เทปทัม”

เมื่อแสงเข้าสู่ตาบางส่วนจะผ่านจอรับภาพไปโดยไม่ถูกเซลล์รับภาพ รับรู้ หรือดูดกลืนไว้

เทปทัมช่วยสะท้อนแสงส่วนนี้กลับมาเพื่อให้โอกาสกับเซลล์รับภาพอีกครั้ง

แสงบางส่วนเมื่อสะท้อนฉากเทปทัมแล้วยังไม่ถูกจอรับภาพดูดรับ จะเดินทางกลับออกมาทางรูม่านตา

การออกแบบที่ซับซ้อนอย่างฉลาด ล้ำลึกเช่นนี้ทำให้เมื่อเราส่องไฟ หรือเมื่อดวงตาเสือกระทบแสง มันจึงสะท้อนแสงไฟเป็นดวง

ในความมืดมิด เหยื่อถูกมองเห็นอย่างชัดเจน

 

ผมนึกถึงเวลาในบ้านชายป่าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

มีช่วงหนึ่ง เสือดาวโตเต็มวัยตัวหนึ่งเข้ามา “อาละวาด” ในสถานีอย่างสม่ำเสมอ

ผมใช้คำว่าอาละวาด เพื่อให้ดูน่าหวั่นเกรง สมกับศักดิ์ศรี

ที่จริงเสือดาวตัวนี้ไม่ได้เข้ามาทำร้ายหรือสร้างความหวาดกลัวให้ใครๆ หรอก

แต่ถ้านับการแอบเอารองเท้าไปแทะเล่น ไม่ก็มานอนขวางรถ คนที่ไปโทรศัพท์ ณ จุดชมวิว ที่ซึ่งมีสัญญาณ กลับสถานีไม่ได้ ต้องรอให้มันตื่นก่อน

เช้าๆ มันมานั่งตากแดดอุ่นๆ บนสะพานไม้ข้างป้ายทางเข้าสถานี

ทำท่าราวกับอยากเข้ามาร่วมวงกับเรา ที่กำลังกินข้าวอยู่ในครัว

กลางคืนถ้ามีเสียงกวางร้องติดต่อกันนานๆ นั่นแสดงว่าเสือกำลังทำงาน

หลายครั้งกวางวิ่งเข้ามาใกล้เราที่นั่งผิงไฟ

สำหรับเสือ ความมืดไม่มีจริง

แต่งานของมันก็ใช่ว่าจะง่าย

กระนั้นก็เถอะ คืนหนึ่งมันล่ากวางได้สำเร็จ จุดที่มันล่าได้ อยู่ข้างๆ ครัว ล่าได้แล้วก็ไม่ยอมลากไปกินไกลๆ

ทำให้เราต้องทนกับกลิ่นเหม็นๆ ของซากกวางอยู่หลายวัน

 

เห็นความเป็นไปของเสือ

นี่คือเหตุผลที่ทำให้รู้ว่า ผม “ด้อยกว่า” สัตว์ป่าในทุกๆ ทาง

คืนหนึ่งผมเดินจากครัวกลับบ้านพัก อากาศเดือนมกราคมเย็นยะเยือก

เป็นคืนแรมสามค่ำ เส้นทางเล็กๆ เห็นรางๆ

ก่อนถึงบ้าน ผมเปิดไฟคาดหัวดูรอบๆ แสงไฟกระทบดวงตาสะท้อนแสงไฟ

เสือดาวตัวนั้นนั่งอยู่ตรงลานปูนเล็กๆ ก่อนขึ้นบันได

ผมเดินเข้าไปใกล้ มันลุกขึ้นมองนิ่งๆ ก่อนหันหลัง เดินช้าๆ มุ่งเข้าชายป่า

ผมนั่งบนขั้นบันได ดับไฟฉาย

ไม่รู้หรอกว่า เสือมานั่งทำอะไรตรงนี้

ณ ตำแหน่งที่เสือนั่งอยู่เมื่อสักครู่ ผมมองรอบๆ ต้นไม้รางเลือน เบื้องบน ดาวส่องประกายระยิบ แท้จริงแล้ว กลางคืนไม่ได้มืดมิดสักเท่าใด

และคล้ายกับว่า การ “เห็น” ในบางสิ่งก็ไม่ต้องใช้ดวงตา ที่มีคุณสมบัติพิเศษแต่อย่างใด

แต่เพราะรู้ถึงความ “ด้อยกว่า”

จึงทำให้รู้ว่า เสือคงเห็นอะไรๆ อีกมากมาย

“เห็น” ในสิ่งที่ผมไม่เห็น

สำหรับเสือ “ความมืด” ไม่มีจริง…