คนของโลก : คัสเซม โซไลมานี นายพลอิหร่านผู้ตกเป็นเป้าของสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา เกิดความตึงเครียดไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางแผ่กระจายไปทั่วโลก เมื่อคัสเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติของประเทศอิหร่านถูกสหรัฐอเมริกาโจมตีด้วยโดรนจนเสียชีวิตคาสนามบินในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ร่ำลือกันถึงขั้นว่า นี่จะเป็นชนวนก่อสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นหรือไม่

กระทรวงกลาโหมสหรัฐออกมายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่ารับคำสั่งจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐให้สังหารผู้บัญชาการทหารรายนี้

ด้วยเหตุผลว่า โซไลมานีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธก่อการร้ายในภูมิภาคตะวันออกกลาง และโจมตีกำลังทหารของสหรัฐบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

ขณะที่อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดประเทศอิหร่าน ประกาศจะ “แก้แค้นอย่างสาสม” กับผู้ก่อการฆาตกรรมอุกอาจครั้งนี้

ขณะที่ชาติมหาอำนาจอย่างฝรั่งศส จีน รัสเซีย ต่างออกมาประณามการกระทำรุนแรงของสหรัฐในครั้งนี้ที่ส่งผลสะเทือนกับเสถียรภาพของประชาคมโลกเป็นอย่างยิ่ง

คำถามสำคัญคือ คัสเซม โซไลมานี คือใคร? การเสียชีวิตของผู้บัญชาการทหารรายนี้ทำไมจึงสร้างความโกรธแค้นให้กับอิหร่านได้อย่างมากมายเช่นนี้

 

โซไลมานี นายพลวัย 62 ปี นอกจากจะเป็นผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติ กองกำลังทรงประสิทธิภาพที่สุดของอิหร่านแล้ว เขายังเป็นผู้บัญชาการกองกำลัง “คุดส์” กองกำลังอิหร่านที่ปฏิบัติการลับภายนอกประเทศ

ว่ากันว่าโซไลมานีเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลในประเทศรองลงมาจากอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดอิหร่านเพียงคนเดียวเท่านั้น มีบทบาทนำอิหร่านเข้าไปมีอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างมากมาย

และหากพูดในแง่สงครามและสันติภาพแล้ว โซไลมานีมีบทบาทเหมือนกับเป็น “รัฐมนตรีต่างประเทศ” ที่แท้จริงของประเทศ

โซไลมานีมีบทบาทอยู่เบื้องหลังตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ในปี 1998 ก่อนหน้าที่สหรัฐอเมริกาจะบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001

โซไลมานีแสดงบทบาทอย่างเปิดเผยมากขึ้นเมื่อปี 2018 ในฐานะผู้มีบทบาทในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในประเทศอิรัก

นั่นแสดงให้เห็นว่าโซไลมานีมีประสบการณ์ในการต่อรองอำนาจในตะวันออกกลางมายาวนานกว่า 20 ปีเลยทีเดียว

 

ในช่วงเวลากว่า 20 ปี โซไลมานีพยายามขยายอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการทำปฏิบัติการลับ จัดหาอาวุธ ให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรมุสลิมชีอะห์และกลุ่มชาวเคิร์ดในอิรักในการต่อสู้กับซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำเผด็จการในอิรัก ให้การสนับสนุนกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน เรื่อยไปจนถึงกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์

หลังจากสหรัฐบุกอิรักในปี 2003 โซไลมานีมีบทบาทอย่างยิ่งในการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่างๆ โจมตีฐานที่มั่นและกำลังทหารสหรัฐในอิรักจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ โซไลมานียังได้รับการยอมรับในฐานะผู้วางกลยุทธ์เพื่อช่วยให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ของประเทศซีเรียกลับมาได้เปรียบกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลที่ขยายตัวขึ้นในช่วงหลัง ทำให้รัฐบาลซีเรียซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างรัสเซียอีกแรง กลับมายึดคืนพื้นที่จากกลุ่มต่อต้านได้อีกครั้ง

รายงานข่าวระบุว่า นายพลโซไลมานีเกิดในครอบครัวยากจน แม้ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่ไต่เต้าตามลำดับชั้นทางทหารขึ้นมาเรื่อยๆ และมีความสนิทสนมกับผู้นำสูงสุดอย่างคาเมนีเป็นอย่างดี

บทบาทในการนำอิหร่านแทรกแซงในซีเรียในปี 2013 ทำให้โซไลมานีกลายเป็นคนดังในอิหร่านอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่ามีชาวอิหร่านกดติดตาม “อินสตาแกรม” ของโซไลมานีจำนวนมหาศาล

 

ความโด่งดังของโซไลมานีในอิหร่านนั้น อดีตนักวิเคราะห์ซีไอเอระบุว่า เปรียบได้กับเจมส์ บอนด์, เออร์วิน รอมเมล และเลดี้ กาก้า รวมเอาไว้เป็นคนคนเดียวกัน

อีกสิ่งยืนยันความนิยมของโซไลมานีในอิหร่านคือ การสำรวจความคิดเห็นประชาชน จัดทำโดยอิหร่านโพล รวมไปถึงการสำรวจของมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ที่น่าเชื่อถือ เผยแพร่เมื่อปี 2018 พบว่าความนิยมในตัวโซไลมานีในอิหร่านมีสูงถึง 83 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าประธานาธิบดีอิหร่านอย่างฮัสซัน รูฮานี รวมไปถึงโมฮัมหมัด จาวาด ชารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านเองเสียอีก

ความนิยมเหล่านี้แน่นอนว่าสะท้อนเป็นความโกรธแค้นที่ทวีคูน โดยเฉพาะการเสียชีวิตของโซไลมานี ที่เป็นฝีมือของศัตรูตลอดกาลของอิหร่านอย่างสหรัฐอเมริกา

ชนวนแห่งความตึงเครียดนี้ จะส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพและความสงบสุขของโลกมากน้อยแค่ไหน คงต้องจับตาดูแบบไม่กะพริบ