‘ครม.’ ฟันฉับควบรวมกิจการ ‘แคท-ทีโอที’ ขีดเส้นตั้งบริษัทใหม่ใน 6 เดือน ดันชิมลางประมูล 5G ก.พ.นี้

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มีการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้บริษัทที่ตั้งใหม่ใช้ชื่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ มีมติเห็นชอบให้บริษัทเอ็นที ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ และมติ ครม. ที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจทั่วไป มาใช้บังคับในหลักการเดียวกันกับที่แคทและทีโอที ได้รับเมื่อแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัดตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ มากำหนดขอบเขตสภาพการจ้าง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

พร้อมกันนี้ ให้บริษัทเอ็นที สามารถจัดซื้อจัดจ้างในลักษณะการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐ (จีทูจี) ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอ็นที ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พิจารณานำเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาความเหมาะสมในประเด็นการกำหนดให้บริษัทเอ็นที เป็นผู้สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความมั่นคง รวมทั้งบริการเพื่อสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยให้รัฐสนับสนุนคลื่นความถี่ที่เหมาะสมในการทำภารกิจดังกล่าว

นอกจากนี้ ให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 และให้ยุบเลิกบริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ (เอ็นบีเอ็น) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (เอ็นจีดีซี) โดยให้แคทและทีโอที รับพนักงานที่ลาออกไปทำงานที่บริษัทเอ็นบีเอ็น และบริษัทเอ็นจีดีซี ให้กลับเข้าทำงานในระดับเดิม และได้สิทธิประโยชน์เท่าที่ได้อยู่เดิมในวันที่ลาออกไป และให้นับอายุงานต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางการถือหุ้นของแคทและทีโอที ในบริษัท INET ตามที่เสนอ และให้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอีเอสกำกับดูแลและดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยให้ดำเนินการควบรวมกิจการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ และรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทราบทุกเดือนต่อไป

ขณะเดียวกัน ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้แคท และทีโอที เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 5G ตามเงื่อนไขประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เกี่ยวข้อง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จุดแข็งของการควบรวมกิจการนี้ จะช่วยให้เกิดการผสานศักยภาพ สร้างความพร้อมให้กับรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของประเทศไทย เพื่อรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการสิ้นสุดสัมปทานถือครองคลื่นความถี่ในปี 2568 ซึ่งทั้งสองหน่วยงาน จะไม่เหลือคลื่นความถี่ในมือเลย อีกทั้ง เป็นการสร้างโอกาสของการไปสู่ธุรกิจในอนาคตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงธุรกิจ 5G ซึ่ง กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ส่วนขั้นตอนหลังจากผ่านมติ ครม. จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ด้าน เพื่อให้ทำการศึกษาและจัดทำแผน ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านการควบรวมกิจการ และด้านทรัพยากรบุคคล ทำการศึกษา และกำหนดทิศทางในการดำเนินงานภายหลังการควบรวมกิจการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือน กระบวนการควบรวมกิจการจึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์

สำหรับโครงสร้างหลังการควบรวม บริษัทเอ็นที จะแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 สายงาน ได้แก่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ, ธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างประเทศ, ธุรกิจบริการโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์, ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารไร้สาย และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริการดิจิทัล