จิ๋วเล่าเรื่องป๋า* (7) : ความขัดแย้งป๋าเปรม/พล.อ.อาทิตย์

*พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าเรื่อง / บุญกรม ดงบังสถาน เรียบเรียง

เหตุการณ์ 1-3 เมษายน 2524 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมืองการทหารอย่างรุนแรง ความขัดแย้งทางทหารได้ถูกขยายมากขึ้น เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.เปรมกับทหารบางส่วนก็ไม่เหมือนเดิม

เนื่องจากทหารที่ก่อการล้วนเป็นคนใกล้ชิด พล.อ.เปรม เป็น ทส. เป็นที่ปรึกษาและเคยสนับสนุน พล.อ.เปรมมาก่อนทั้งสิ้น

คงต้องใช้เวลากว่าจะเรียกความเอกภาพ ความสัมพันธ์ที่ดีกลับคืนมา

การให้อภัยด้วยการนิรโทษกรรมให้กับผู้ก่อการเหมือนกับการทำปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งในอดีต ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ พล.อ.เปรมทำเพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในกองทัพโดยเร็ว

พล.อ.เปรมมีความปรารถนาที่จะสร้างความสมัครสมานสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นในกองทัพ สิ่งที่ทำเฉพาะหน้าคือเยียวยาความเสียหายทางทรัพย์สินและสภาพจิตใจของคนที่พัวพันในเหตุการณ์นั้นด้วย

แต่เหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงปี พ.ศ.2525 ได้ตอกย้ำความขัดแย้งทางทหารและการเมือง และก็ท้าทายความพยายามของ พล.อ.เปรมในการที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น

ในช่วงปี 2525 ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นหลายครั้ง บางครั้งมุ่งร้ายเอาชีวิตท่านด้วย

แต่เหตุร้ายๆ ก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อความพยายามของท่าน พล.อ.เปรมมิได้หวั่นวิตก ยังคงหนักแน่น มั่นคง ไม่สูญเสียบุคลิกความเป็นผู้นำแม้แต่นิดเดียว

ได้มีการรายงานไว้ในหนังสือ “โลกสีขาว” ว่า ปี 2525 ซึ่งเป็นปีฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี แทนที่เหตุการณ์จะสงบปราศจากความรุนแรงสมกับเป็นปีอภิมหามงคล

แต่ปรากฏว่าบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองและทหารยังปกคลุมไปหมด ความไม่สงบได้ก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง พล.อ.เปรมได้ถูกคนร้ายพยายามลอบสังหารที่จังหวัดลพบุรีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2525

วันที่ 9 กันยายนปีเดียวกัน กระทรวงกลาโหมถูกคนร้ายลอบเอาระเบิดไปวาง โชคดีตรวจพบก่อน ระเบิดจึงไม่ทันได้ทำงาน

นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง มีการวางระเบิดก่อกวนความไม่สงบตามจุดต่างๆ ในกรุเทพฯ แม้แต่บ้านสี่เสาซึ่งเป็นบ้านพัก พล.อ.เปรมยังถูกคนร้ายขว้างระเบิดใส่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2525

คราวนี้อีกเช่นเคยไม่มีใครได้รับอันตราย

 

อย่างที่กล่าวไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.เปรมกับทหารบางกลุ่มไม่ได้แน่นแฟ้นเหมือนเดิม แต่ท่านก็พยายามที่จะดึงความสัมพันธ์ที่ดีกลับคืนมา แม้ว่าทหารเหล่านั้นจะพยายามยึดอำนาจจากท่าน แต่ พล.อ.เปรมก็ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองหรืออาฆาตมาดร้าย เพราะคนเหล่านั้นนอกจากมีเลือดเนื้อความเป็นทหารเหมือนกับท่านแล้ว หลายคนก็เป็นคนใกล้ชิดและช่วยเหลืองานท่าน

พูดง่ายๆ เป็นคนกันเองแท้ๆ แม้แต่ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบกที่ถูกยังเติร์กชูให้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติก็เป็นประธานที่ปรึกษา พล.อ.เปรม

ในขณะเดียวกัน พล.อ.เปรมได้พยายามแสดงให้เห็นที่จะสร้างดุลกำลังในกองทัพด้วยการแต่งตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่อ 1 ตุลาคม 2525 ทำให้ศูนย์อำนาจเทไปข้าง พล.อ.อาทิตย์อย่างน่าจับตามากทีเดียว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กองทัพมีปัญหา พล.อ.อาทิตย์จะจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพขึ้นในกองทัพ

พล.อ.อาทิตย์มีบทบาทสูงมากในการคลี่คลายสถานการณ์ “เมษาฮาวาย” และหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็เติบโตขึ้นมาเรื่อย จากรองแม่ทัพขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 แม่ทัพภาคที่ 1 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก จนกระทั่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก

เมื่อเป็นผู้นำกองทัพก็ยิ่งทำให้บทบาท พล.อ.อาทิตย์โดดเด่นมากขึ้น จนเป็นที่คาดหมายของสื่อมวลชนในขณะนั้นว่าท่านคือทายาทของ พล.อ.เปรมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หากไม่เดินสะดุดเท้าตัวเองเสียก่อน

 

กองทัพนำโดย พล.อ.อาทิตย์ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2521 โดยให้ยืดบทเฉพาะกาลออกไปอีกและเสนอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ รัฐบาลไม่เห็นด้วย

รัฐบาลแถลงเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2526 ว่า จะไม่เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญและไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่บุคคลหลายฝ่ายกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ แต่จะวางตัวเป็นกลาง (หนังสือรัฐบุรุษชื่อเปรม)

การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพขึ้นมาทันที และยิ่งร้อนระอุมากขึ้นเมื่อรัฐบาลปฏิเสธที่จะทำตามที่กองทัพต้องการ จนเกิดความหวั่นวิตกต่อการเกิดปฏิวัติรัฐประหารขึ้นอีกครั้งทั้งๆ ที่แผลยังไม่หายสนิทดีจากเหตุการณ์ “เมษาฮาวาย” ในรัฐบาลเปรม 2

20 มกราคม 2526 พล.อ.อาทิตย์ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ชี้แจงเหตุผลของการเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีเสียงคัดค้านก็ประกาศที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องนี้อีกต่อไป

“กระผมได้ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้วในวันนี้” พล.อ.อาทิตย์ประกาศเสียงดังฟังชัดผ่านทางสถานีโทรทัศน์

วันรุ่งขึ้น ได้มีนายทหารระดับสูงซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาลาออกตาม พล.อ.อาทิตย์อีกหลายคน ยิ่งเป็นการกดดันรัฐบาลมากยิ่งขึ้น และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำกองทัพที่เคยร่วมกันปราบกบฏยังเติร์ก

แน่นอน พล.อ.เปรมยังคงนิ่ง สุขุม เก็บอารมณ์ได้ดีมากในสถานการณ์อย่างนั้น โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนใดๆ ที่อาจจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เกิดความเลวร้ายมากขึ้น

16 มีนาคม 2526 รัฐสภาประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวาระ 3 ผลการลงมติด้วยคะแนนลับปรากฏว่าสมาชิกเห็นชอบให้ผ่าน 254 เสียง ซึ่งมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

จึงเป็นอันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีอันตกไป

นี่คงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการรอมชอมกับกองทัพของรัฐบาล คือ ไม่ได้บล็อกโหวต ปล่อยให้สมาชิกลงคะแนนอย่างอิสระ แต่เมื่อเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่กองทัพผลักดันจึงไม่สำเร็จ โทษรัฐบาลไม่ได้

เพียงแค่ 3 วันผ่านไปหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป วันที่ 19 มีนาคม 2526 พล.อ.เปรมประกาศยุบสภาและให้มีเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 18 เมษายนปีเดียวกัน

หลังเลือกตั้ง คือวันที่ 26 เมษายน พล.อ.เปรมแถลงว่า “จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก” โดยให้เหตุผลว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วก็ควรให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย คือ ให้พรรคการเมืองจัดการกันเอง

แต่ด้วยการสนับสนุนของพรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคกิจสังคม ประชาธิปัตย์ ประชากรไทยและพรรคชาติประชาธิปไตย พล.อ.เปรมได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งโดยจัดตั้งเป็นรัฐบาลเปรม 4

 

ลดค่าเงินบาทท้าทาย พล.อ.อาทิตย์อีกครั้ง

รัฐบาลบริหารมาได้ไม่ถึงปีดี ปัญหาเศรษฐกิจก็ได้ตั้งเค้าเกิดวิกฤตขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของไทยก็เริ่มมีปัญหามากแล้ว เนื่องจากขาดดุลการค้า มีภาระหนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นและทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก ด้วยเหตุที่รัฐบาลได้ขึ้นราคาสารธาณูปโภคและให้เงินอุดหนุนแก่รัฐวิสาหกิจในรูปเงินชดเชยการขาดทุน โดยรัฐบาลได้นำเงินกู้จากสถาบันการเงินเอกชนต่างประเทศมาใช้อุดหนุนแทนงบประมาณ

ส่งผลให้รัฐบาล พล.อ.เปรมต้องเจรจาขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งแรกจำนวน 814.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2524 โดย IMF ยื่นเงื่อนไขให้ไทยปรับปรุงกลไกการหารายได้เพิ่ม

แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น เศรษฐกิจโลกก็ตกต่ำ ส่งผลให้รัฐบาลต้องเจรจาขอกู้เงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2 วงเงิน 270 ล้านเหรียญสหรัฐ สิ้นสุดโครงการปี 2526 และขอเงินกู้จากธนาคารโลกควบคู่ไปด้วย 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัญหาเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจต่างประเทศก็ยังเพิ่มขึ้นจนถึงวิกฤตในปี 2526 เงินทุนสำรองทางการเหลือเพียง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทางการออกมาตรการจำกัดการขยายสินเชื่อ บริษัทเงินทุนมีปัญหาจนเป็นที่มาของ “โครงการ 4 เมษายน 2527” ที่ปรับปรุงการบริหารของบริษัทเงินทุนให้มีประสิทธิภาพ ออก พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เพื่อป้องกันและปราบปรามการกู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งขณะนั้นนิยมกันในรูปของวงแชร์

ควบคุมการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้เพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 18 ส่งเสริมการส่งออกโดยการยกเว้นอากรขาออกสำหรับสินค้าบางประเภท แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควรเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐมีค่าสูงขึ้นมาก

กระทั่งวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 รัฐบาลได้ตัดสินใจประกาศลดค่าเงินบาทครั้งสำคัญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศลดค่าเงินบาทลงในเดือนพฤษภาคมและเดือนกรกฎาคม 2524 การลดค่าเงินบาทในปี 2527 เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกที่ตกต่ำลงเพราะค่าเงินบาทแข็งตัวและหันมาใช้ระบบการเงินแบบตะกร้า (Basket of Money) (การเมืองเรื่องลดค่าเงินบาทสมัย พล.อ.เปรม สถาบันพระปกเกล้า)

ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นที่สร้างความยุ่งยากให้แก่ พล.อ.เปรม ปัญหาการเมือง การทหารก็ก่อตัวขึ้นอีก ปัญหาเก่าคือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญซาไปแล้ว ปัญหาใหม่ได้ปะทุขึ้นอีก นั่นคือเรื่องลดค่าเงินบาท

 

ในช่วงลดค่าเงินบาทนั้น พล.อ.อาทิตย์ไม่ได้อยู่ประเทศไทย ท่านได้เดินทางไปเยือนประเทศทางยุโรป

แต่ทันทีที่รัฐบาลได้ตัดสินใจลดค่าเงินบาท ทำให้บรรดา 5 พลเอกของ 3 เหล่าทัพ หรือ “5 เสือ” ของเหล่าทัพได้ทำหนังสือถึง พล.อ.เปรมแสดง ไม่เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาทและกดดันให้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรีโดยด่วนก่อนที่สถานการณ์จะนำไปสู่วิกฤตมากกว่านี้

ผม (พล.อ.ชวลิต) ตอนนั้นเป็นรองเสนาธิการทหารบกยศพลโท เห็นปัญหาและต้องการให้บรรยากาศลดความตึงเครียดลง

ด๊อกเตอร์วีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษา พล.อ.เปรมในขณะนั้นเล่าไว้ในหนังสือรัฐบุรุษชื่อเปรม ว่า

“ตลอดวันจันทร์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ให้ผมไปหาหลังบ้านป๋า ตอนนั้น พล.อ.ชวลิตเป็นรองเสนาธิการทหารบก ส่วนคุณอาทิตย์เป็นผู้บัญชาการทหารบก คุณชวลิตก็บอกกับผมว่านายท่านโกรธมาก กำลังจะกลับเมืองไทย ให้ผมช่วยอัดเทปชี้แจงนายที”

เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทย พล.อ.อาทิตย์ได้ออกอากาศรายการสนทนาปัญหาบ้านเมืองซึ่งเป็นรายการของทหารทางช่อง 5 และช่อง 7 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2527 ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวไม่เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาท

ส่วนรัฐบาลก็ได้เตรียมการชี้แจงไว้แล้วเช่นกัน โดยมอบหมายให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกอากาศทางช่อง 3 และช่อง 9 ในวันเดียวกับที่ พล.อ.อาทิตย์ออกอากาศ โดยชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องลดค่าเงินบาท

ตอนนั้นไม่ทราบว่าได้มีการนำเอาระบบการวัดเรตติ้งมาใช้กันแล้วหรือยัง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.เปรมก็ยังคงเป็น พล.อ.เปรม ท่านไม่ได้ตระหนกต่อแรงกดดันจากผู้นำทหาร นิ่ง สุขุม ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัว มั่นคงในหลักการและหนักแน่นในสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้ว สิ่งสำคัญท่านไม่ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวเพื่อเป็นการตอบโต้อีกฝ่ายเลย ปัญหาจึงไม่บานปลาย

ข้อเรียกร้องของ 5 พลเอกจาก 3 เหล่าทัพ ให้ยกเลิกลดค่าเงินบาทและปรับปรุงคณะรัฐมนตรีนั้น ถูก พล.อ.เปรมปฏิเสธทั้ง 2 ข้อ โดยที่อีกฝ่ายก็ทำอะไรท่านไม่ได้

 

ในสมัยผมเป็นรัฐบาลก็มีการลดค่าเงินบาทอันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ถูกสะสมมานาน เรามีปัญหาด้านการเงินการคลังที่รุนแรง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันหลายปี มีภาระหนี้ต่างประเทศมาก

ท่ามกลางปัญหาดังกล่าวผมก็ได้รับความห่วงใยและความเมตตาจาก พล.อ.เปรม ท่านพยายามที่จะช่วยเหลือผมทุกอย่าง หาคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยงานผม กอบกู้วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น

พล.อ.เปรมเข้าใจปัญหา และมีประสบการณ์ในการลดค่าเงินบาท ท่านมองว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่งานของรัฐบาล เป็นงานของแผ่นดิน เป็นงานของพระเจ้าอยู่หัว

เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งชาติจะต้องช่วยกัน เพราะเป็นงานของแผ่นดิน

เรื่องนี้ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิตได้เล่าไว้ในหนังสือ “โลกสีขาว” ถึงเบื้องหลังการตัดสินใจเข้าไปช่วยงานรัฐบาลในช่วงวิกฤตว่า

ในปี 2540 สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจการเงินทรุดโทรมลงเป็นลำดับ เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก

พล.อ.เปรมได้เรียกเข้าไปชี้แจงแสดงความเห็นแล้วก็เชิญ พล.อ.ชวลิตไปพบท่าน แต่เหตุการณ์ต่างๆ ได้ดำเนินต่อไปจนประกาศลดค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 สถานการณ์ตอนนั้นวุ่นวายสับสนมาก

ขณะที่กำลังประชุมสภาวิจัยแห่งชาติ ได้รับโทรศัพท์จาก พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบก ให้เข้าไปกินกาแฟในกองบัญชาการกองทัพบก ตัวเองพาซื่อเข้าไป ก็ไปพบ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ด้วยจึงถูกทั้งสองคนล็อกคอไว้เลย

แล้วเชิญ พล.อ.ชวลิตมาแล้วบอกว่าผมจะต้องเข้าไปร่วมรัฐบาลเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้อิดเอื้อนอยู่

พล.อ.มงคลจึงโทรศัพท์ไปเรียนป๋า ป๋าเลยบอกให้มาเดี๋ยวนี้ ทั้งหมดนั่นแหละ ก็เลยไปหาป๋า

“ป๋าบอกว่านี่ป๋าสั่ง ไม่ได้ขอร้องนะ เราจะต้องไปช่วยพี่จิ๋ว เพราะงานนี้ไม่ใช่งานของพี่จิ๋ว เป็นงานของแผ่นดิน เป็นงานของประชาชน เป็นงานของพระเจ้าอยู่หัว

ที่เรามาช่วยป๋าอยู่ 8 ปี 5 เดือน ก็ไม่ใช่งานป๋าแม้แต่นิดเดียว เป็นงานของแผ่นดิน เป็นงานของประชาชน เป็นงานของพระเจ้าอยู่หัว ที่คนไทยทุกคนมีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบเมื่อถึงเวลา เราต้องกลับเข้าไปรับตำแหน่งรองนายกฯ ร่วมกับพี่จิ๋วเขา ช่วยพี่จิ๋วเขา”

นี่คือสิ่งที่ผมอยากบันทึกไว้ถึงความเมตตาและความห่วงใยที่ พล.อ.เปรมมีต่อรัฐบาลผม

สิ่งสำคัญที่สุด งานที่รัฐบาลคิดหรือทำก็ดี ท่านเห็นว่าไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นงานของประชาชน งานของแผ่นดิน งานของพระเจ้าอยู่หัว เมื่อถึงคราวมีปัญหา คนไทยควรมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน

จิตใจของท่านสูงส่งจริงๆ