สุจิตต์ วงษ์เทศ / พระเจ้าตะเภาทอง สุนทรภู่จดนิทาน ในนิราศวัดเจ้าฟ้า

แผนผังคูน้ำรูปวงกลมกับรูปสี่เหลี่ยม [ถูกทำลาย] ของเมืองอู่ตะเภา ต.ม่วงหวาน อ.หนองแซง จ.สระบุรี [โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ พ.ศ.2557]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระเจ้าตะเภาทอง

สุนทรภู่จดนิทาน

ในนิราศวัดเจ้าฟ้า

 

“พระเจ้าตะเภาทอง” เป็นคำสำคัญในนิราศวัดเจ้าฟ้า เสมือน GPS บอกทางไปวัดเจ้าฟ้าในนิราศอยู่บนเขาพนมยงค์ ต.หินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี ดังนี้

  1. วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์อยู่บนเนินโขดหรือดินโขด สร้างโดยพระเจ้าตะเภาทอง
  2. พระเจ้าตะเภาทอง เป็นนิทานท้องถิ่นเมืองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นเมืองโบราณ ต.ม่วงหวาน อ.หนองแซง จ.สระบุรี พื้นที่ต่อเนื่องเขาพนมยงค์ ซึ่งมีซากวัดร้างสมัยอยุธยา อยู่ ต.หินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี
คูน้ำชั้นในเมืองอู่ตะเภา เป็นวงกลม ซึ่งท้องถิ่นดูแลรักษาไว้ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี แต่คูน้ำชั้นนอกเป็นสี่เหลี่ยมถูกทำลายหายหมดนานแล้ว [ภาพจากโดรน มติชนทีวี ธันวาคม 2562]

พระเจ้าตะเภาทอง สร้างวัดเจ้าฟ้า

 

เมืองอู่ตะเภา มีนิทานเรื่องพระเจ้าตะเภาทอง สำนวนสุนทรภู่ [ได้จากลายแทง แล้วแต่งเป็นกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้า] สรุปดังนี้

พระเจ้าตะเภาทองไปเที่ยวเล่นบนเนินโขด [ภูเขาลูกเตี้ยๆ] เห็นโขดหินขาวเหมือนสำลีตั้งเด่นอยู่โดดเดี่ยว จึงให้สลักเป็นพระพุทธรูปขนาดเท่าพระองค์ แล้วสร้างวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์เพื่อสืบพระศาสนา

ครั้นสร้างสำเร็จ มีฤๅษี 4 ตน เหาะมาถวายยาอายุวัฒนะแล้วหายไป พระเจ้าตะเภาทองรับยาอายุวัฒนะใส่ตุ่มทองบรรจุไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปที่สลักนั้น แล้วกำกับว่าถ้าใครขุดหาพบก็อนุญาตตักไปกิน แต่ให้ปฏิสังขรณ์วัดไว้เหมือนเดิมด้วย

นิทานพระเจ้าตะเภาทอง สุนทรภู่แต่งเป็นกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้า “แต่โบราณเรื่องพระเจ้าตะเภาทอง” พรรณนาว่าเดินขึ้นดินโขดแล้วพบสิ่งต่างๆ ดังนี้

 

มาเที่ยวเล่นเห็นหินบนดินโขด                  เดี่ยวสันโดษดังสำลีไม่มีหมอง

จึงจัดช่างสร้างอารามตามทำนอง               ทรงจำลองลายหัตถ์เป็นปัฏิมา

รูปพระเจ้าเท่าพระองค์แล้วทรงสาป          ให้อยู่ตราบศักราชพระศาสนา

พอฤๅษีสี่องค์เหาะตรงมา                       ถวายยาอายุวัฒนะ

เธอไม่อยู่รู้ว่าหลงในสงสาร                      ซ้ำให้ทานแท่งยาอุตสาหะ

ใส่ตุ่มทองรองไว้ที่ใต้พระ                        ใครพบปะเปิดได้เอาไปกิน

ช่วยสร้างโบสถ์โขดเขื่อนให้เหมือนเก่า        นามนั้นเขาเขียนแจ้งที่แท่งหิน

วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์                      ได้ทราบสิ้นสืบสายเพราะลายแทง

เป็นตำรามาแต่เหนือท่านเชื่อถือ                ดูหนังสือเสาะหาอุตส่าห์แสวง

มาพบปะจะได้ขุดก็สุดแรง                       ด้วยดินแข็งเขาประมูลด้วยปูนเพชร

 

สุนทรภู่จดนิทาน

 

พระเจ้าตะเภาทองไม่มีตัวตนจริง เพราะเป็นชื่อในนิทานท้องถิ่นของเมืองอู่ตะเภา [ตะเภาเป็นภาษาปากชาวบ้านคำเดียวกับสำเภา หมายถึงเรือใหญ่แบบจีนโบราณ]

แต่เป็นคำบอกเล่าที่สุนทรภู่ได้ยินได้ฟังในครั้งนั้นแล้วจดไว้ จึงไม่จำเป็นต้องตรงกันทุกอย่างกับคำบอกเล่าสมัยหลังๆ จนปัจจุบัน แม้ในสมัยเดียวกัน ถ้าคนเล่าเป็นคนละคนหรือต่างกลุ่ม เนื้อหารายละเอียดอาจต่างไปก็ได้ ไม่เป็นเรื่องประหลาดหรือผิดพลาด

ส่วนสาระสำคัญอันเป็นแกนหลักอยู่ที่ชื่อตัวเอกของเรื่องคือพระเจ้าตะเภาทอง กับชื่อสถานที่คือเมืองอู่ตะเภา เป็น “ตะเภาเดียวกัน”

 

เมืองอู่ตะเภา

 

เมืองอู่ตะเภา เป็นชุมชนเก่าแก่ มีพัฒนาการราวหลัง พ.ศ.1000 (บางทีเรียกยุคทวารวดี) พบหลักฐานโบราณคดีเป็นแนวคูน้ำล้อมรอบพื้นที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนใน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งศาสนสถาน มีคูน้ำล้อมรอบ ยาวประมาณ 1,300 เมตร เป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 240 เมตร

ส่วนนอก พื้นที่ทั่วไป [ไม่ศักดิ์สิทธิ์] ที่ตั้งคุ้มหลวงเจ้านาย, เรือนขุนนาง และพ่อค้าคหบดี มีคูน้ำล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมมุมมน แต่ละด้านยาวประมาณ 1,000 เมตร

แหล่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมสมัยเมืองอู่ตะเภา ได้แก่ ถ้ำโพธิสัตว์ [ทับกวาง], เขาพุทธฉาย [สระบุรี], เขาพนมยงค์ [หินกอง]

ชื่อเมืองอู่ตะเภามีทั่วไป แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน เป็นแต่ชื่อพ้องกัน

เมืองอู่ตะเภา ไม่เอกเทศ แต่เป็นเมืองสถานีการค้าของรัฐละโว้ [ลพบุรี] บนเส้นทางการค้าดินแดนภายใน อยู่กึ่งทางระหว่างรัฐละโว้กับเมืองดงละคร [นครนายก] บนเส้นทางไปบ้านเมืองทางตะวันออก ได้แก่ เมืองศรีมโหสถ [ปราจีนบุรี], ปราสาทสด๊กก๊อกธม [สระแก้ว], เมืองพระนคร [โตนเลสาบ กัมพูชา]

“เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว ท้องถิ่นนี้เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ และมีน้ำตลอดปี สามารถใช้เป็นทางสัญจรไปมาค้าขายกันได้” [จากหนังสือ วัฒนธรรมฯ จังหวัดสระบุรี กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ.2544 หน้า 79]