ใส่บ่าแบกหาม /พรพิมล ลิ่มเจริญ /The Farewell

ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ

The Farewell

 

เธอจ๊ะ

The Farewell เป็นหนังดีจังเลย ฉันยกให้เป็น 1 ใน 10 หนังดีประจำปีนี้ของฉัน

สร้างจากประสบการณ์ชีวิตของ Lulu Wang ผู้กำกับการแสดงเรื่องนี้ และยังลงมือเขียนบทเองด้วย

ประสบการณ์คือ หมอวินิจฉัยโรคพบว่าคุณย่าผู้เป็นที่รักป่วยกำลังจะตาย ครอบครัวลงความเห็นว่าจะไม่บอกคุณย่า จะเก็บความป่วยไข้นี้ไว้เป็นความลับ ไม่ให้คุณย่าได้ล่วงรู้เป็นอันขาด

แต่แล้วทีนี้ เราไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้น่ะสิ!

Awkwafina ที่เราคุ้นเคยจากเรื่อง Crazy Rich Asians กับ Ocean’s 8 เป็นหญิงทันสมัย พูดเร็ว เสียงดัง มาแสดงเรื่องนี้บทบาทต่างจากเรื่องเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง เป็นหญิงสาวลูกครึ่งจีน-อเมริกัน เป็นคนพูดน้อย เดินไหล่คุ้ม ไม่มั่นใจ สีหน้าแววตาเหมือนแบกโลก เหมือนเก็บกดกักกันอัดอั้นสรรพสิ่งไว้ในใจ

อควาฟิน่าแสดงเป็น Billie สาวลูกครึ่งจีน-อเมริกัน พ่อ-แม่พาอพยพออกจากประเทศจีนมาตั้งรกรากที่มหานครนิวยอร์กตั้งแต่บิลลี่ยังเล็ก พ่อ-แม่ส่งเสียร่ำเรียน

แกอยากเป็นนักเขียน พากเพียรพยายาม ความสำเร็จยังอยู่อีกไกล นี่ก็เพิ่งชวดทุนกุ๊กเกนไฮม์มา

บิลลี่สนิทกันกับคุณย่า คุยกันผ่านทางโทรศัพท์เป็นประจำ

 

Nai Nai บิลลี่เรียกคุณย่า ไน ไน เป็นภาษาจีน เป็นคำเรียก grandma (paternal grandmother)

paternal เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง related through the father หรือก็คือ มีความสัมพันธ์กันฝั่งพ่อ

paternity เป็นคำนาม เราจะเห็นกันบ่อยขึ้นคือ paternity leave คือ การลางานที่องค์กรอนุญาตให้คนเป็นพ่อหรือคนทำหน้าที่พ่อลาไปดูแลลูกที่เพิ่งคลอดออกมาได้

เพราะฉะนั้น ไน ไน ก็คือคุณย่านั่นเอง แต่เห็นในโปสเตอร์หนังเวอร์ชั่นภาษาไทยตั้งชื่อ “กอดสุดท้ายคุณยายที่รัก” ก็เลยต้องบอกว่าไม่ใช่ เป็นคุณย่าต่างหาก

บิลลี่ไม่ได้อยู่บ้านกับพ่อ-แม่แล้ว ออกมาเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่เองต่างหาก ใช้ชีวิตอยู่เองคนเดียว ฉันชอบตรงที่บิลลี่ไม่ได้ร่ำรวย ชีวิตนักเขียนยังไม่เกิด ไม่ได้รายได้มากนัก นางจึงประหยัดได้ ด้วยการไปกินข้าวบ้านพ่อบ้านแม่ แลเอาผ้าไปซักด้วย

บิลลี่ก็เลยจับสังเกตได้ไม่ยากว่ามีเรื่องแน่ๆ ทุกอย่างดูผิดปกติ พ่อนอนตั้งแต่หกโมงเย็น ตื่นมาก็ไม่หิว ไม่อยากกินอะไร อีกทั้งพอถามอะไรไป แม่ก็เอาแต่ตัดบท แต่สุดท้ายก็ได้เรื่อง

Your Nai Nai’s dying.

She has stage four lung cancer.

The doctor says she has three months.

คุณย่าของคุณกำลังจะตาย

เป็นมะเร็งขั้นที่ 4

หมอบอกว่าอยู่ได้อีกสามเดือน

หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ พ่อดูเศร้ามาก

บิลลี่จะโทร.หาคุณย่า ไม่ได้! พ่อ-แม่ร้องห้าม บิลลี่จะไปหาคุณย่า ไม่ได้! พ่อ-แม่ร้องห้ามเสียงหลง

The family thinks

it’s better not to tell her.

ครอบครัวเราเห็นว่า

ไม่บอกคุณย่าจะดีกว่า

ทำไมไม่บอก?

Chinese people have saying,

“when people get cancer, they die.”

It’s not cancer that kills them,

it’s the fear.

คนจีนมีสุภาษิต

คนพอเป็นมะเร็งก็ต้องตาย

แต่ไม่ใช่ตายเพราะมะเร็ง

แต่ตายเพราะความกลัว

พ่อกับแม่ไปเมืองจีนในทันใด แล้วก็ไม่ให้บิลลี่ไปด้วย

ครอบครัวลุงที่ไปตั้งรกรากที่ญี่ปุ่นก็จะไปเจอกัน และจะให้ลูกชายไปจัดงานแต่งงานที่เมืองจีนเลย

The wedding is an excuse

so everyone can go see her.

การแต่งงานเป็นข้ออ้าง

ทุกคนจะได้ไปเจอย่าได้

แต่ไหงยกเว้นบิลลี่?

You can’t hide your emotions.

Everyone thinks it’s better

if you don’t.

ลูกซ่อนความรู้สึกไม่ได้

ทุกคนคิดว่าอย่าไปดีกว่า

 

เอะอะก็ครอบครัว เอะอะก็ทุกคน แต่มันก็คือความจริง ครอบครัวสำคัญ คนในครอบครัวก็สำคัญ

จะเศร้าก็เศร้าไป แต่เศร้าแค่ไหนก็ห้ามบอกคุณย่า พ่อกำชับ แต่สุดท้ายบิลลี่ก็บินตามไป ทุกคนอึ้งๆ ไป แต่คุณย่าดีใจมาก ได้พบหลานรัก บิลลี่ก็ทำเออออห่อหมกไปตามสถานการณ์บังคับไป ทั้งที่ใจนึกค้าน

We don’t need to tell her to make plans.

ไม่จำเป็นอะไรที่ต้องบอกคุณย่าให้วางแผน

บิลลี่คิดว่าคุณย่าจะได้สั่งเสีย แต่พ่อบอกว่าไม่ต้อง

We wouldn’t be allowed to.

In America, this is illegal.

เราทำไม่ได้

ที่อเมริกาเรื่องนี้ผิดกฎหมาย

ในอเมริกาคนไข้ควรต้องได้รู้เรื่องของตัวเอง

ก็จริงนะ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนัก ถ้าข่าวร้ายไปทำร้ายคนไข้ หมอก็ต้องรับผิดชอบ ในทางกลับกัน การบอกข่าวร้ายทำร้ายคนไข้ หมอก็ต้องรับผิดชอบอีก

ในหนังเขาก็นำเสนอความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ผ่านผู้คนในเรื่อง

It’s a good lie.

โกหกแบบนี้ดี

good lie ฟังดูย้อนแย้งในตัวเอง โกหกอะไรจะไปดี แต่ก็มันมีในโลกจริงๆ จนได้

Because it’s our duty to carry

this emotional burden for her.

เพราะมันเป็นหน้าที่เรา

ที่ต้องแบกภาระทางอารมณ์ให้คุณย่า

ณ จุดหนึ่งในหนังแถลงไว้อย่างชัดเจน

If you tell her…

then you don’t have to feel guilty.

ถ้าเราบอก

เราก็ไม่ต้องรู้สึกผิด

เราจะเห็นแก่ตัวเราหรือเห็นแก่คุณย่า ต้องคิดดูดีๆ

 

หนังมันมีเรื่องขำๆ แทรกอยู่ โดยเฉพาะเวลาทุกคนดูยากเย็นเวลาต้องควบคุมกิริยาและอารมณ์เมื่ออยู่กับคุณย่า ฉันชอบมากที่เขาเขียนบทแบบรู้สึกได้ว่าไม่แคร์คนดู เขานำเสนอสิ่งที่เขาอยากนำเสนอเต็มที่ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ตัดสินว่านั่นตะวันตกนี่ตะวันออก นั่นอเมริกันนั่นจีน หนังชัดเจนในเรื่องนี้ เก่งจัง

ฉากลากันกลับอเมริกาก่อนจากกัน น้ำตาไหล คุณย่าให้ตังค์หลาน

And don’t spend it on practical things like rent!

Buy yourself something nice.

อย่าเอาไปจ่ายค่าใช้จ่ายแบบเช่าห้องล่ะ

เอาไปซื้ออะไรสวยๆ ให้ตัวเอง

น้ำตาไหลพรากกันเลย

ถึงคราวเรา ถ้าต้องเป็นมะเร็ง เธออยากรู้ไหม? อยากให้บอกไหม? เราควรคิดวางแผนกันเสียตอนนี้ ตอนที่ยังไม่มีโรคร้ายมากล้ำกราย คิดให้เสร็จตอนใจสงบสุขจะดีนะฉันว่า ถ้าเธอเป็น ฉันอยากรู้ ถ้าฉันเป็น ฉันอยากบอก เพราะการร่ำลากันมันสำคัญ จากกันไปโดยได้รู้ว่าเราสำคัญต่อกันที่ตรงไหนอย่างไรมันมีค่า มันดีต่อใจและชีวิตที่ยังเหลืออยู่ของอีกคน

ฉันเอง