วิรัตน์ แสงทองคำ : บทสรุปปี 2562 เครือข่ายค้าปลีกใหญ่ จะไปทางไหน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ในสังคมไทย ธุรกิจอิทธิพลซึ่งขยับปรับตัวอย่างไม่ลดละ

โดยเฉพาะเครือข่ายค้าปลีกใหญ่ในโมเดลที่เรียกว่า Hypermarket เป็นหลัก ในภาพใหญ่เชิงสังคมยังคงเป็นแกนกลางธุรกิจค้าปลีก ในฐานะธุรกิจใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจ มีห่วงโซ่เชื่อมโยงธุรกิจที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องอย่างกว้างขวาง ทั้งสามารถปรับตัว ปรับรูปแบบอย่างแตกต่างอย่างหลากหลาย เพื่อให้เข้าถึง และลงลึกมากขึ้น จากหัวเมืองใหญ่ จนถึงระดับชุมชน โดยเฉพาะโมเดลการเคลื่อนตัวจาก Hypermarket สู่ Supermarket และ Convenience store

ในเชิงภูมิศาสตร์ เครือข่ายค้าปลีกที่ว่า ได้เข้าครอบคลุมได้กว้างขวางมากที่สุด ด้วยมีเครือข่ายทั่วประเทศรวมกันมากที่สุดในบรรดาโมเดลค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งมวล Hypermarket มีเกือบ 500 สาขา ขยายตัวสู่ระดับอำเภอและตำบล เครือข่าย Supermarket ทั่วประเทศมีนับพันแห่ง จาก “ผู้เล่น” ที่มีจำนวนมากและหลากหลาย ส่วนใหญ่กระจุกในเมืองหลวง เมืองใหญ่

ขณะเครือข่าย Supermarket ที่มาจาก Hypermarket ขยายตัวคืบคลานเข้าไปยังพื้นที่ที่แตกต่างอย่างไม่ลดละ โดยเน้นตามเส้นทางหลวงและเส้นทางสายรอง มีมากกว่า 250 สาขาแล้ว

ขณะที่ Convenience store ซึ่งยึดครองตลาดโดย 7-Eleven ซึ่งมีสาขามากกว่า 11,000 แห่งนั้น ในระยะใกล้ๆ เริ่มปรากฏคู่แข่งสำคัญ มาจากเครือข่ายจาก Hypermarket บุกลงสู่ตลาดอย่างคึกคักเช่นกัน โดยเฉพาะมุ่งสู่ระดับชุมชน รวมกันเกือบ 2,500 สาขาแล้ว

(ข้อมูลส่วนใหญ่ เรียบเรียง อ้างอิงมาจากรายงานประจำปี 2561 บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน))

 

ถือเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ขยายเครือข่ายในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว ขณะที่มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจ เปลี่ยนมือกันอย่างผันผวนตลอดมาเช่นกัน (โปรดพิจารณา ลำดับเหตุการณ์ “พัฒนาการเครือข่าย Hypermarket ในสังคมไทย” ประกอบ)

โมเดลค้าปลีกขนาดใหญ่และยืดหยุ่นที่ว่า หากกล่าวอย่างเจาะจง ได้แก่ Big C, Makro และ Tesco Lotus สัญลักษณ์ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว

เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงปี 2540 เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ดังกล่าวมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ จากธุรกิจร่วมทุน “กินแบ่ง” กับธุรกิจไทย ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปตกอยู่ในกำมือ ภายใต้เครือข่ายกลุ่มธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง เป็นมานานกว่าทศวรรษ (2542-2556) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ด้วยมีแผนการขยายเครือข่ายเชิงรุก

แม้ในบางช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะมีความพยายามกำหนดนโยบายแห่งรัฐ เพื่อควบคุมธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อจำกัดบทบาทซึ่งการคุกคาม ทำลายค้าปลีกแบบเก่าในสังคมไทย ภายใต้โครงสร้างผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยกระจายตัวจำนวนมากที่สุดในบรราดธุรกิจทั้งมวลในสังคมไทยก็ว่าได้ โดยเฉพาะร้านโชวห่วย และตลาดสด

แต่ดูเหมือนเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่ววูบและผ่านเลย

บางคนเชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนอิทธิพลเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกระดับโลก

 

เวลานั้น เครือข่ายธุรกิจระดับโลกมองโอกาสในประเทศไทยเชิงบวก “ประเทศไทยเป็นหนึ่ง ในผู้นำธุรกิจค้าปลีกในตลาดอาเซียนด้วยการนำเสนอรูปแบบร้านค้าปลีกที่ทันสมัย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอยู่มากเนื่องจากการค้าปลีกรูปแบบเดิมยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น” (รายงานประจำปี 2557 บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์) ซึ่งขณะนั้นถือหุ้นใหญ่และการบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ อยู่ในมือ Casino Group แห่งฝรั่งเศส

จากดีลซีพี-Makro (2556) มาจนถึง ทีซีซี-Big C (2559) เป็นความต่อเนื่องสำคัญ ช่วงเวลาใหม่ธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทยอุบัติขึ้น โดยเฉพาะในโมเดลหลัก-Hypermarket จากอยู่ในกำมือธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง ค่อยๆ พลิกโฉมถ่ายโอนมาอยู่ในอำนาจธุรกิจใหญ่ไทยอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้โครงสร้างสังคมธุรกิจไทยปรับตัวสู่อิทธิพลรายใหญ่ที่เพิ่มขึ้นๆ ธุรกิจใหญ่ไทยซึ่งดำเนินแผนการเชิงรุก มองภาพในเชิงบวก ต่อธุรกิจค้าปลีกอย่างมากๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำธุรกิจค้าปลีกในโมเดล Hypermarket อย่างแท้จริง ยังอยู่ในเครือข่าย Tesco Group แห่งสหราชอาณาจักร

“เทสโก้ โลตัส ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย …ให้บริการลูกค้ากว่า 15 ล้านคนต่อสัปดาห์ ผ่านทั้งช่องทางที่เป็นสาขาและออนไลน์ โดยมีสาขาประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้ 5 รูปแบบร้านค้า ได้แก่ เอ็กซ์ตร้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ตลาด และเอ็กซ์เพรส … พร้อมทั้งจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ 2 ช่องทางหลักคือ เทสโก้ โลตัส ช้อป ออนไลน์ และร้านค้าของเทสโก้ โลตัส บนมาร์เก็ตเพลสต่างๆ อาทิ ลาซาด้า

เทสโก้ โลตัส อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มเทสโก้ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันกลุ่มเทสโก้มีร้านค้าราว 6,800 สาขาใน 10 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐไอร์แลนด์ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี สโลวะเกีย จีน อินเดีย มาเลเซีย และไทย และให้บริการลูกค้ากว่า 80 ล้านครั้งต่อสัปดาห์” ภาพกว้างๆ ของเครือข่าย Tesco ในประเทศไทย ซึ่งควรรู้และเข้าใจ

(อ้างจากต้นแหล่ง https://www.tescolotus.com/)

 

ที่น่าสนใจคือ มุมมองและข้อมูลล่าสุด (ตุลาคม 2559) ของ Tesco Group ซึ่งเชื่อมโยงมายังเครือข่ายในประเทศไทย (จากข้อมูลนำเสนอ Interim Results 2019/20, 2 October 2019 TURNAROUND GOALS DELIVERED – WELL-POSITIONED FOR SUSTAINABLE, PROFITABLE GROWTH) กล่าวถึงธุรกิจในเอเชีย ซึ่งมีแค่ไทยกับมาเลเซีย กลุ่มธุรกิจที่เกือบเล็กที่สุด รองลงมาจาก Tesco Bank แม้ถือว่าเป็น “เครือข่ายธุรกิจต่างประเทศ เพียง 2 ที่ ที่เหลืออยู่” ทว่าสามารถทำกำไรในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมได้มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของเครือข่าย Tesco group ทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นถึง 54%

ขณะที่กล่าวถึงแผนการเชิงรุกในอนาคตอย่างเจาะจงเฉพาะประเทศไทยไว้ด้วยว่า ใน 3 ปีข้างหน้าจะเปิดสาขาตามโมเดล Convenience store ที่เรียกว่า Express อีกถึง 750 แห่ง

แล้วจู่ๆ ก็มีข่าวใหญ่เกิดขึ้น (8 ธันวาคม 2562) ว่า “Tesco Group กำลังพิจารณาจะขายกิจการในไทยและมาเลเซีย” (Tesco weighs up sale of Thai and Malaysian stores อ้างจาก The Guardian – https://www.theguardian.com) โดยอ้างว่า ทั้งนี้เนื่องมาจาก Tesco ได้รับการติดต่อขอซื้อกิจการในประเทศดังกล่าวจากผู้ซื้อไม่ปรากฏนาม

สื่ออังกฤษยักษ์ใหญ่ให้ข้อมูลด้วยว่า Tesco มีเครือข่ายธุรกิจเอเชียในประเทศไทย 1,967 สาขา และอีก 74 สาขาในมาเลเซีย โดยรวมกันทำรายได้ถึง 4.9 พันล้านปอนด์ (หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท) ทำกำไร 286 ล้านปอนด์ ถือว่ามีสัดส่วน 1 ใน 5 ของกำไรทั้งหมดของ Tesco Group

เป็นเรื่องราวอันตื่นเต้นในสังคมธุรกิจไทย ส่งท้ายปี 2562 อีกเรื่องหนึ่งอย่างแท้จริง

 

หากเหตุการณ์เป็นไปอย่างที่หลายคนคาด โครงสร้างธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะในสังคมไทยจะปรับโฉมครั้งใหญ่อีกครั้ง ทั้งนี้ ในฐานะ Tesco Lotus เป็นธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในสังคมไทยอย่างแท้จริง และจะเป็นดีลที่มีมูลค่าสูงที่สุดกว่าดีลใดๆ ในอดีตอีกด้วย

เป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น ชวนให้วิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา หลายคนพุ่งเป้าจับตา “ผู้ซื้อไม่ปรากฏนาม” ไปยังเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ๆ ของไทย ซึ่งตั้งใจข้ามพรมแดนธุรกิจสู่ธุรกิจค้าปลีก แข่งขันกันมากกว่ายุคใดๆ

บ้างก็ว่าอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีนักสำหรับ Tesco Group เนื่องด้วยธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมกำลังชะลอตัว ขณะค้าปลีกออนไลน์กำลังเติบโตอย่างมากมายในภูมิภาคเอเชีย

ขณะที่สื่ออังกฤษอย่าง The Guardian มองแตกต่างออกไป

สื่อรายนี้อ้างนักวิเคราะห์การลงทุนรายหนึ่ง (แน่นอนมาจากบริษัทลงทุนแห่งอังกฤษ) มองว่า กิจการในเอเชียของ Tesco Group ถือเป็นสินทรัพย์ที่ดี มีผู้ต้องการจำนวนมาก ชนิดที่เรียกว่า “trophy asset”

โดยเฉพาะกิจการในเมืองไทยในฐานะผู้นำตลาด และเป็นธุรกิจที่ยังมีศักยภาพที่เติบโต อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมือง

เขาเชื่อว่า “จะเป็นดีลที่มีมูลค่าสูงมากๆ หรือบางทีกรณี Tesco ไม่ต้องการจะขาย อาจตั้งราคาแบบ knockout price”

นี่คือบทสรุปปี 2562 ที่ยังไม่มีบทสรุป แต่เป็นเรื่องราวอันตื่นเต้น เชื่อว่าจะมีบทสรุปในปีหน้า

พัฒนาการเครือข่าย Hypermarket ในสังคมไทย

ปี 2531

เครือข่ายค้าปลีกระดับโลก โมเดลค้าปลีกขนาดใหญ่จากยุโรปที่เรียกว่า Hypermarket โดยซีพีร่วมมือกับ SHV Holdings แห่งเนเธอร์แลนด์ เปิด Makro ครั้งแรกในเมืองไทย

ปี 2537

– Makro ภายใต้การบริหารบริษัทร่วมทุน-สยามแม็คโคร เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

– ซีพีเริ่มต้นธุรกิจค้าปลีกแบบ Hypermarket ของตนเองขึ้น-โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์

– กลุ่มเซ็นทรัลเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกโมเดล Hypermarket เปิด Big C สาขาแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะ

ปี 2538

บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เข้าตลาดหุ้น

ปี 2539

กลุ่มเซ็นทรัลร่วมทุนกับ Carrefour SA ธุรกิจค้าปลีกระดับโลกแห่งฝรั่งเศสอีกราย เปิดตัว Carrefour

ปี 2541

– โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ขายกิจการให้กับ Tesco ผู้นำค้าปลีกระดับโลกแห่งสหราชอาณาจักร

– กลุ่มเซ็นทรัลยุติการร่วมทุน ตัดสินใจขายหุ้นคืนให้ Carrefour

ปี 2542

Casino Group แห่งฝรั่งเศส เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน Big C กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ปี 2554

Big C ซื้อกิจการ Carrefour ในประเทศไทย

ปี 2556

กลุ่มซีพีซื้อกิจการ Makro ในประเทศไทย

ปี 2559

กลุ่มทีซีซี ซื้อเครือข่าย Big C จาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส