วิเคราะห์ : คดีข่มขืน “ชิโอริ อิโตะ” ผู้เปิด “กล่องดำ” ในสังคมญี่ปุ่น

ศาลแพ่งของญี่ปุ่นมีคำตัดสินให้มีการจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินมูลค่า 3.2 ล้านเยน หรือราว 900,000 บาท ให้กับนักข่าวฟรีแลนซ์สาววัย 30 ปี นามว่า “ชิโอริ อิโตะ” ผู้ที่ยื่นฟ้อง “โนริยูกิ ยามากูชิ” นักข่าวชายชื่อดังวัย 53 ปี ในคดีข่มขืนอันโด่งดัง

คดีซึ่งสะท้อนให้เห็นความยากลำบากของเหยื่อคุกคามทางเพศในประเทศที่ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างญี่ปุ่น

อิโตะแถลงขอบคุณผู้สนับสนุนหลังการตัดสินพร้อมถือป้ายที่เขียนว่า “ชัยชนะ” ต่อหน้าสื่อมวลชน

แม้ศาลตัดสินให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพียง 1 ใน 3 ของค่าเสียหาย 11 ล้านเยนที่อิโตะเรียกร้อง

แต่ผลลัพธ์นี้นับว่าเป็น “ชัยชนะ” ของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิงในญี่ปุ่นก็ว่าได้

 

ต้นเรื่องของคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 อิโตะเล่าว่า นัดพบกับ “ยามากูชิ” นักข่าวชื่อดังที่ร้านซูชิแห่งหนึ่ง เนื่องจากยามากูชิเสนอตัวที่จะหางานสื่อมวลชนให้เธอทำ

หลังจากดื่มเครื่องดื่มไปไม่กี่แก้ว อิโตะระบุว่าเธอมึนหัวและหมดสติไป ก่อนที่จะตื่นมาพบว่า ยามากูชิกำลังข่มขืนเธอที่โรงแรม นั่นทำให้อิโตะตัดสินใจแจ้งความเป็นคดีอาญาหลังจากนั้น

อิโตะเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงโตเกียวพยายามเกลี้ยกล่อมให้เธอยอมความ นอกจากนั้น ยังไม่สามารถจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมาทำหน้าที่สอบปากคำในคดีของเธอได้

อิโตะรวบรวมหลักฐานเพื่อสนับสนุนคำฟ้อง มีพยานเป็นคนขับแท็กซี่ที่ให้การว่าได้ยินอิโตะขอลงที่สถานีรถไฟ ก่อนจะเห็นเธอหมดสติลงไปอีก นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิดเห็นยามากูชิหิ้วร่างไร้สติของอิโตะผ่านล็อบบี้โรงแรมที่เกิดเหตุ

เจ้าหน้าที่ตำรวจทำสำนวนส่งให้อัยการ และมีการออกหมายจับยามากูชิด้วย แต่สุดท้ายแม้จะมีหลักฐานที่ดูจะหนักแน่นเพียงพอ แต่อัยการกลับตัดสินใจไม่ส่งฟ้อง

นั่นส่งผลให้เกิดการตั้งข้อสงสัยว่า ยามากูชิใช้อิทธิพลในฐานะนักข่าวชื่อดัง รวมถึงจากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานหนังสือเกี่ยวกับ “ชินโสะ อาเบะ” วางแผงมาแล้วมากดดันในคดีนี้หรือไม่

 

ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นหัวข้ออภิปรายของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นในปี 2017 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนายอาเบะกับยามากูชิ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่นออกมาปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าวและยืนยันว่าคดีดังกล่าวไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งข้อหา

ในปีเดียวกัน อิโตะตัดสินใจแถลงข่าวเกี่ยวกับคดีดังกล่าว และก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งจากสื่อที่ไม่สนใจในคดีนี้ อ้างว่าขาดการตั้งข้อหาในทางอาญา

นอกจากนี้ ยังเผชิญกับการโจมตีในทุกช่องทางหาว่าเธอเป็น “โสเภณี” บ้างก็ว่าเธอ “เรียกร้องความสนใจ”

อิโตะไม่หวั่นไหวกับกระแสต่อต้านและตัดสินใจฟ้องร้องในศาลแพ่ง นอกจากนี้ เธอยังเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์และความยากลำบากในการหาข้อมูลเพื่อสู้คดีของเธอเอง

ในหนังสือที่มีชื่อว่า “black box” เปรียบเทียบเรื่องราวของเธอ เป็นข้อมูลใน “กล่องดำ” ของสังคมญี่ปุ่น

อิโตะพยายามชี้ให้เห็นความยากลำบากของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศในสังคมญี่ปุ่น ด้วยความหวาดกลัวเสื่อมเสียชื่อเสียง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ใส่ใจทำคดี การดำเนินคดีที่มีโอกาสชนะคดีเพียงน้อยนิด รวมไปถึงอาจเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบ

อิโตะคาดว่ารายงานคดีข่มขืนในญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์จากเหตุที่เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการไต่สวนในศาลแพ่งนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในสังคมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระแส #Metoo ขึ้นในประเทศ มีคดีข่มขืนถูกยื่นฟ้องร้องกับกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์เป็น 410 คดี ในปี 2018 แม้จะยังเป็นจำนวนน้อยนิดหากเทียบกับมาตรฐานโลก หากเทียบสัดส่วนจำนวนประชากร 127 ล้านคนของญี่ปุ่น แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

หลังจากนั้นมีผู้หญิงกล้าที่จะออกมาเปิดเผยเรื่องราวการถูกคุกคามทางเพศมากขึ้น มีการออกมารวมตัวประท้วงภายใต้ชื่อ “ประท้วงดอกไม้” เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายข่มขืนในญี่ปุ่นอย่างจริงจัง กระจายไปใน 25 เมืองทั่วประเทศ

ด้านยามากูชิ จำเลยในคดีนี้ก็ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากอิโตะเป็นเงิน 130 ล้านเยน หรือราว 35 ล้านบาท และเรียกร้องให้อิโตะลงข่าวขอโทษเต็ม 1 หน้าหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นฐานทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง

ขณะที่ทนายความของยามากูชิกล่าวหาว่า อิโตะนั้นเข้าใจผิดและหวาดระแวงไปเอง พร้อมทั้งยืนยันว่าจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน

ทั้งนี้ อิโตะเองก็เคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้กฎหมายข่มขืนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยังไม่มีการพูดถึงเรื่อง “ความยินยอม” นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้กำหนดอายุผู้ที่จะสามารถยื่นฟ้องคดีข่มขืนลงมาเป็น 13 ปี

ขณะที่กฎหมายข่มขืนของญี่ปุ่นนั้น ฝ่ายโจทก์จะเอาผิดจำเลยได้จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า “มีการข่มขู่และความรุนแรงเกิดขึ้น” หรือพิสูจน์ให้ได้ว่าเหยื่อ “ไม่สามารถขัดขืนได้” ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคดีข่มขืนนั้นซับซ้อนยิ่งกว่านั้นมาก

ชัยชนะของอิโตะ เป็นเพียงแสงสว่างเล็กๆ สำหรับเหยื่อคุกคามทางเพศในญี่ปุ่น โดยเธอยอมรับว่ายังมีความท้าทายอีกมากในการเปิดข้อมูลใน “กล่องดำ”

เพื่อตีแผ่ความอยุติธรรมในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่อย่างประเทศญี่ปุ่นออกมา