คุยกับทูต ‘ไบรอัน เดวิดสัน’ ครอบครัวสุขสันต์สู่งานที่สดใสของนักการทูตอังกฤษ

คุยกับทูต ไบรอัน เดวิดสัน ก่อนอำลาสู่สถานทูตอังกฤษแห่งใหม่ ที่ทันสมัยกว่าบนถนนสาทร (1)

ได้กลับมาเยือนสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษย่านเพลินจิตอีกครั้ง ในวันที่ทำเนียบทูต อาคารประวัติศาสตร์เกือบ 100 ปีได้ถูกรื้อถอนออกไปแล้ว เพื่อเตรียมตัวย้ายที่ทำการออกจากพื้นที่ในช่วงต้นปีหน้า

มร.ไบรอัน เดวิดสัน (H.E. Mr. Brian Davidson) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจให้ความรู้และความเพลิดเพลินตลอดเวลา ณ อาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่ต้นไม้เก่าแก่ที่สูงใหญ่เขียวครึ้ม สร้างความร่มรื่นและให้ร่มเงา

ก่อนมาประจำประเทศไทย ท่านทูตเดวิดสันกับคู่รักเพศเดียวกัน “สกอต ชาง” ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน เข้าพิธีวิวาห์ที่จัดขึ้นเป็นการส่วนตัว ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษ ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2014

ถือว่าเป็นคู่แรกๆ ในวงการนักการทูตที่สมรสกับคนเพศเดียวกัน และเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายอังกฤษ

ภาพสมรสเพียงหนึ่งภาพที่ท่านทูตโพสต์ลงเว็บไซต์เหวยโป๋ พร้อมกับข้อความว่า

“ผมภูมิใจในกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่ให้สิทธิ์แก่ผมในการแต่งงานกับพาร์ตเนอร์ของผม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศของเราให้ความเคารพต่อทุกคน” ได้มีผู้ให้ความสนใจเข้าไปชมกันอย่างล้นหลาม

ปัจจุบันมีคู่รักแบบนี้จำนวนมากในวงการทูตทั่วโลก จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องของการเริ่มคุ้นเคย

“ผมทำงานกับกระทรวงต่างประเทศในทันทีที่เรียนจบด้านกฎหมายจากทรินิที้ คอลเลจ ในสังกัดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Trinity College in Cambridge) แม้จะชอบกฎหมายในเชิงวิชาการ แต่ผมก็ไม่ได้อยากเป็นทนายความ ที่ผมสนใจมักเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ที่จริงจังมากที่สุดคือความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศ”

“มีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนของครอบครัวที่เป็นนักการทูตในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตในกระทรวงต่างประเทศ จึงคิดว่าเป็นวิธีที่จะได้เดินทางและทำงานในต่างประเทศ ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

“เมื่อเข้าร่วมงานกับกระทรวงต่างประเทศ ผมถูกทดสอบความถนัดทางภาษาเพื่อดูว่าจะมีความสามารถในการเรียนภาษาต่างประเทศอย่างไร ผลปรากฏออกมาสูงมาก ดังนั้น ผมจึงมีโอกาสได้เรียนภาษาจีนสองสามปีเพราะงานของผมส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประเทศจีนและเอเชีย ทำให้ผมมีความสนใจในประเทศจีนมาโดยตลอด และคิดว่าเป็นสถานที่แห่งอนาคตของผม”

“งานที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งแรกของผมถูกกำหนดโดยความจริงที่ว่าผมพูดภาษาจีนได้ และตั้งแต่นั้น ผมทำงานที่เกี่ยวข้องกับเอเชียเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่เพิ่มทักษะก็เมื่อได้ทำงานในออสเตรเลีย ซึ่งผมเป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองที่ครอบคลุมเรื่องการเมืองในสถาบันต่างๆ และการออกเสียงประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญ”

thumbnail_อนุสรณ์สงคราม เป็นสถาปัตยกรรมอนุสาวรีย์กรีก-โรมันที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1923 เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรชนคนกล้าผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง

“ต่อมาเป็นอัครราชทูต ณ ประเทศลิทัวเนีย ทำหน้าที่ด้านทรัพยากรมนุษย์ การบริหารงานและธุรการของสถานทูต ในขณะเดียวกันก็ได้ทำงานนอกกระทรวงต่างประเทศด้วย โดยทำงานให้กับสำนักงานคณะรัฐมนตรีในฐานะนักวิเคราะห์ด้านการก่อการร้ายสากล ส่วนอีกแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนทำงานให้กับองค์กรกึ่งเอกชน คือ International Financial Services London ในตำแหน่งรองเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง”

“ระหว่างที่ทำงานนั้น กระทรวงต่างประเทศติดต่อมาเสนองานให้เพราะกำลังมองหาผู้ที่มีภูมิหลังทางการเมืองและธุรกิจที่สามารถพูดภาษาจีนและเข้าใจประเทศจีน จึงเป็นความลงตัวของผม ทำให้ผมได้กลับไปประเทศจีนในตำแหน่งกงสุลประจำนครกวางโจว ปี ค.ศ.2006”

“เหตุที่ได้มาอยู่ที่ประเทศไทย น่าจะเป็นความโชคดี เพราะเมื่อภารกิจในเซี่ยงไฮ้เสร็จสิ้น ผมเริ่มมองหางานอื่น โดยตั้งใจจะกลับไปอังกฤษ แต่ได้รับการเสนองานที่ประเทศไทย ผมมีเวลาเตรียมตัวด้านภาษาไทยที่ลอนดอน 5 เดือน และเมื่อมาอยู่ที่นี่ ผมเรียนภาษาไทยวันละ 1 ชั่วโมง เพราะต้องทำงานทุกวันซึ่งค่อนข้างยาก การเรียนภาษาไทยช่วยทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แนวคิดของคนไทย เรื่องที่ส่งผลต่อความคิดของคน หรือเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจ”

“ผมคิดว่าคงเป็นการดีที่จะได้อยู่ในเอเชียต่อไป เพราะผมครบวาระหน้าที่ในจีน และได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งมีพี่ชายซึ่งอยู่ในไทยมาหลายปีเพราะแต่งงานกับคนไทย ปัจจุบันก็ยังอยู่ที่นี่ด้วย ผมจึงมีหลานชายสามคนเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ”

พระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรที่ถูกจัดสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1903

“ผมเดินทางไปๆ มาๆ เกือบ 20 ปีแล้วเพราะครอบครัว เมืองไทยเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ และเป็นประโยชน์ในแง่ของอาชีพการงาน ผมสามารถใช้ประสบการณ์ด้านภาษาจีน และยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เห็นได้ชัดว่า งานที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในงานที่มีผู้ต้องการมากในกระทรวง นับว่าผมโชคดีมากที่ได้มาที่นี่”

“อีกปัจจัยหนึ่งเกี่ยวกับสามีของผม มีหลายประเทศในภูมิภาคที่ผมไม่สามารถไปได้ในฐานะทูตเกย์ที่แต่งงานกับชายอื่น ประเทศไทยนั้นมีเอกลักษณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่พิเศษที่เปิดกว้างมาก ทำให้เราสามารถมีชีวิตครอบครัวที่ดี ทำงานง่ายขึ้น ดีขึ้นโดยมีครอบครัวเป็นกำลังใจ ดั่งคนไทยซึ่งเป็นคนที่รักและผูกพันกับครอบครัว”

“นอกจากนี้แล้ว นับว่าโชคดีมากที่เรามีพนักงานประจำบ้านพักที่แสนดี คอยช่วยดูแลบ้าน และเป็นพี่เลี้ยง เรามีพี่เลี้ยงสองคนสำหรับลูกสามคน ทำงานเฉพาะวันจันทร์ถึงวันศุกร์เท่านั้น ดังนั้น วันเสาร์และวันอาทิตย์เราจึงอยู่ลำพังกับลูก”

“สกอตทำงาน เราทั้งคู่ทำงานเต็มเวลา มีหลายครั้งที่เราต้องรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว อีกทั้งภาระผูกพันในการเดินทาง โดยต้องแน่ใจว่า เราคนใดคนหนึ่งจะอยู่กับลูก และพาลูกคนโตไปโรงเรียนในตอนเช้าเสมอ ลูกชายคนโตอายุ 3 ขวบครึ่ง เพิ่งเริ่มไปโรงเรียน เมื่อเช้านี้ผมก็พาเขาไปโรงเรียนและรับกลับเวลาเที่ยงครึ่ง โรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากที่พัก”

“เรามั่นใจว่า เราได้จัดลำดับความสำคัญของครอบครัว และการทำงาน แต่ลูกๆ มีความสำคัญมากกว่าในหลายๆ ด้าน ในแต่ละสัปดาห์เราจะจัดเวลาให้เพียงพอ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ลูกๆ ได้รู้ว่า เรารักและคอยดูแลพวกเขาเสมอในเวลาที่พวกเขาต้องการเรา”

“ดังนั้น หากเป็นไปได้ ก่อนที่จะออกไปงานเลี้ยงในตอนเย็น เราต้องแน่ใจว่า คนใดคนหนึ่งจะกลับบ้านให้ทันเวลาอาหารเย็นของลูกๆ ได้ไปพูดคุย และอ่านให้ฟัง ให้ลูกๆ เห็นเราก่อนที่เขาจะพากันเข้านอน”

ลูกทั้งสามคนของท่านทูตเดวิดสัน และคู่สมรส คือเด็กชายเอเลียต เด็กหญิงเอสเม่ และหนูน้อยเอริกที่ยังอยู่ในวัยทารก ทั้งหมดเกิดจากการตั้งครรภ์แทน หรือ “อุ้มบุญ” ในสหรัฐ และแจ้งเกิดในอังกฤษ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ดวงตาเป็นประกายฉายแววแห่งความสุข ท่านทูตกล่าวว่า

“ตอนมาถึงเมืองไทยใหม่ๆ มีแค่ผมกับสามี สกอต วันนี้เรามีลูก 3 คน และผมชอบอาหารไทยมาก”

ท่านทูตไบรอัน เดวิดสัน สมรสในจีน สร้างครอบครัวในไทย ได้แสดงให้คนไทยและทั่วโลกเห็นว่า คู่รักเพศเดียวกันสามารถมีครอบครัวที่อบอุ่นและเลี้ยงลูกได้ดีเทียบเท่าคู่รักต่างเพศ

ไบรอัน เดวิดสัน

เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

Brian John Davidson

Born : 1964

Career :

June 2016 – Present British Ambassador to Thailand

2015-2016 Language training (Thai)

2011-2015 Consul General, Shanghai

2006-2010 Consul General, Guangzhou

2005-2006 Deputy Chief Executive, International Financial Services London

2001-2004 Deputy Head of Mission, Vilnius, Lithuania

2001 Language training (Lithuanian)

2001 FCO, Haji Pilgrimage Committee Review, Consular Directorate

1996-2000 First Secretary, Canberra

1994-1996 FCO, Head of China Section

1992-1994 Cabinet Office, Desk Officer, Assessments Staff

1988-1992 Second Secretary, Beijing

1986-1988 Language training (Mandarin Chinese)

1985-1986 FCO, Desk Officer Czechoslovakia/ Bulgaria, East European Department

1985 Joined FCO

Qualification :

-Sullivan Upper Grammar School, Holywood, Co Down, Northern Ireland

-Trinity College, Cambridge (BA in Law)

Languages : Thai, Chinese, French, Lithuanian

Family : Married to Scott Kelly Chang. They have three children.