ฉายา & ปฏิกริยา / สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

———————-

ฉายา & ปฏิกริยา

———————–

วันทำงานท้ายปี 2562

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

น่าจะอบอุ่นใจขึ้น

เมื่อหนึ่ง ใน 3 ป. คือพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นำข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเข้าอวยพรปีใหม่

ตามด้วย เพื่อนสมัยเตรียมทหารรุ่น 12 นำโดย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป

และที่สำคัญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก นำพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และพล.ท.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก รวมถึงคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพบก เข้าอวยพรและรับพรจากนายกรัฐมนตรี ในโอกาสปีใหม่เช่นกัน

ต่างล้วนเป็นพี่ เพื่อน น้อง ที่คุ้นเคย

และที่สำคัญ ยังเป็นเสาค้ำยัน ให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรี แข็งแกร่งตลอดมา และ…ต่อไป

อย่างน้อย ก็อีก 4 ปี อย่างที่ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่งสัญญานไว้

ซึ่งก็คงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ ก่อนหน้านี้น่าจะใจหายไปเหมือนกัน

เมื่อ ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล ที่ล้อมหน้าล้อมหลัง วันละหลายชั่วโมง จนน่าจะมองการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้อย่างเข้าใจ

แต่กระนั้น เมื่อ ความเข้าใจ แปรไปเป็น “ฉายา”

ไม่ว่า รัฐบาลเชียงกง นายกฯอิเหนา เมาหมัด ที่อยู่แวดล้อม ด้วย “รัฐอิสระ” และ “สารหนู”

ซึ่งล้วนไม่เป็นคุณ หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่กัน ประสารัฐบาลผสมเดียวกัน

สะท้อนว่า ผู้สื่อข่าวที่ใกล้ชิดนายกฯมองเห็นปัญหา เช่นนี้ จึงแสดงออกมาผ่านฉายา

นำไปสู่ ความไม่พอใจ อย่างมากจากผู้นำ

ซึ่งแน่นอน สำหรับผู้ที่เติบโตมาตามสายบังคับบัญชาอันแข้มแข็ง นาย หรือ ผู้บังคับบัญชา ต้องถูกต้องเสมอ

เมื่อมาเจอการตั้งคำถาม มาเจอความไม่เชื่อมั่น มาเจอปัญหา มาเจอการวิพากษ์วิจารณ์ จากคนแวดล้อม รู้จัก คุ้นเคย

ก็ย่อมปรับตัวไม่ทัน เกิดภาวะไม่พอใจ น้อยใจ รับไม่ได้

ยิ่ง เมื่อ ไปเผชิญ ปฏิกริยา “เบื่อนายกฯ”จาก ชาวบ้าน ที่”หมอชิต” ในเวลาต่อมาอีก

นายกฯซึ่งรู้สึกว่า ตัวเองทำงานหนักเพื่อประชาชนมาโดยตลอด ทำไมจึงต้องมาเผชิญกับความรู้สึกอันแห้งแล้งเย็นชาเช่นนี้

กลายเป็นความคับข้องใจ “ซ้าซ้อน”ขึ้นมาอีก

ซึ่งแม้ นายกฯ จะเอ่ยปากอโหสิกรรม ให้นักข่าว

และบอกผ่านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเข้าใจดี คือแม้เราไม่สามารถทำให้ใครรักเราได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องพยายามสร้างความเข้าใจ

อย่างเช่นที่หมอชิต นายกฯเองก็รู้ ว่าชาวบ้านคนนั้นรู้สึกอย่างไร ก็ถามไปตรงๆ

และก็พยายามแสดงให้เขาเห็นถึงความจริงใจของเรา

โดยหวังว่าประชาชนจะเห็นถึงความตั้งใจจริงของนายกรัฐมนตรี

ซึ่งถ้าเป็นการคลี่คายความรู้สึกในใจเช่นนั้นได้จริง

ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี

เพราะบุคคลสาธารณะ หรือผู้ที่อาสามารับใช้สังคม(จริงๆ) ยังต้องเผชิญและถูกเรียกร้องมากกว่านี้

จึงต้องเปิดกว้าง รับฟัง และปรับตัว อย่างแท้จริง

ไม่ใช่ปากบอกว่ารับได้ แต่ใจเป็นอีกอยาก

แล้วถอยกลับไปอยู่ในแวดวง พี่ เพื่อน น้อง ที่ตัวเองรู้สึกว่า”จริงใจ”กว่า

ซึ่งจะพลอยดึงให้ พี่ เพื่อน น้อง ซึ่งบังคับบัญชากองทัพ ไม่อาจดึงตัวเองกลับเข้ากรมกองได้

กลายเป็นกลไกทางการเมือง ที่มิอาจถอยไปสู่จุด การเป็น “มืออาชีพ”ได้ในเร็ววัน

หากเป็นเช่นนั้น ก็น่าเสียดาย ที่ปี 2563 หรืออาจต่อเนื่องไปอีกหลายปี

พี่ เพื่อน น้อง จะพลอยติดหล่ม”การเมือง”ไปด้วย ก้าวไปไหนไม่ได้

——————