การศึกษา / ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียน ‘นวดไทย’ มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ฯ

การศึกษา

‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียน ‘นวดไทย’

มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ฯ

นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ให้คนไทยทุกคน หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 8-14 ธันวาคม 2562 ที่กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย มีมติรับรอง และประกาศให้ “นวดไทย” หรือ NUAD THAI ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ทั้งนี้ การประกาศผลการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือ The Intangible Cultural Heritage (ICH) ประจำปี 2019 จำนวน 51 รายการ ประกอบด้วย Urgent List 6 รายการ Representative List 42 รายการ และ Good Practice List 3 รายการ

โดยนวดไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Representative List of ICH หรือรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

หลังจากประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ในลำดับสมาชิกที่ 170

“นวดไทย” นับเป็นรายการที่ 2 ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการกับยูเนสโก ต่อจาก “การแสดงโขนในประเทศไทย” หรือ “Khon masked dance drama in Thailand” ที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนไปแล้วเมื่อปลายปี 2561

สำหรับนวดไทย ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาที่เป็นศาสตร์และศิลป์ทางการแพทย์ดั้งเดิมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการรักษาทางเลือกควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพตามแบบแผนตะวันตกสมัยใหม่ มีองค์กรที่ส่งเสริม และพัฒนาการนวดมากกว่า 50 องค์กร รวมถึงภาควิชาชีพ ได้แก่ สภาการแพทย์แผนไทย และยังมีสถาบันการเรียนการสอน สถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศ มีการใช้นวดไทยในการดูแลสุขภาพในครัวเรือน และชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศ

ปัจจุบันมีหมอนวดพื้นบ้านทั้งประเทศรวม 25,205 คน มีบุคลากร สถานประกอบการเอกชนที่ให้บริการนวดไทยเพื่อการบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพทุกจังหวัด

นวดไทย นอกจากจะได้รับความนิยมในประเทศแล้ว ยังได้รับความนิยมไปทั่วโลกด้วย!!

ซึ่งเว็บไซต์เดลี่เมล์ สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า ก่อนที่ยูเนสโกจะประกาศให้นวดไทยเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาอย่างเป็นทางการนั้น การนวดไทยถือเป็นศาสตร์การแพทย์แผนโบราณที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปีของไทย เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความนิยมเดินทางมาใช้บริการแล้ว มีจำนวนมากที่สมัครเรียนนวดแผนไทยในสถานที่ต่างๆ

โดยเฉพาะที่วัดโพธิ์ ที่มีผู้สำเร็จวิชานวดแผนไทยตำรับวัดโพธิ์ไปแล้วมากกว่า 200,000 คน จาก 145 ประเทศทั่วโลก

เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมากแก่หมอนวดแผนไทยตามเมืองใหญ่ทั่วโลก

เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ฮ่องกง ฯลฯ!!

ประวัติของการนวดไทยนั้น ตามหลักฐานที่พบมีจำนวนไม่มาก ในยุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 5-15) มีหลักฐานการนวดปรากฏอยู่หลายแห่ง

เช่น ที่ทับหลังของปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นภาพสลักหินนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีพระลักษมี และพระภูมีถวายการนวด เป็นต้น แม้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีไม่มากนัก แต่สันนิษฐานว่าการนวดนั้น ได้เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ทั้งในระดับสามัญชน และชนชั้นปกครองแล้ว

หลักฐานทางประวัติศาสตร์การนวดไทย ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักของคนไทย และชาวโลก คือจารึกการนวดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ที่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์วัด มีพระราชประสงค์จะให้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน โดยจะรวบรวมจารึกตำราต่างๆ มาจารึกบนแผ่นศิลาประดับไว้ในบริเวณวัด

ซึ่งจารึกดังกล่าวแบ่งเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ วิชาฤๅษีดัดตน เวชศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และแผนนวด เฉพาะแผนนวดนั้น มีจำนวน 60 ภาพ โดยแผนนวดจารึกวัดโพธิ์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักฐานองค์ความรู้การนวดไทยที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากที่สุดในปัจจุบัน!!

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดโพธิ์ ซึ่งนายปรีดา ตั้งตรงจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ กล่าวว่า ย้อนกลับไป ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าโรงเรียนไม่มีสอนนวดไทยหรือ จึงสนองพระราชดำริเริ่มจัดการเรียนการสอนนวดไทยเมื่อปี 2505 โดยก่อนหน้านี้ไม่มีสอนมาก่อน และสืบทอดจนถึงปัจจุบัน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแนวทางไว้ ทางโรงเรียนพยายามสืบทอดอย่างเต็มที่!!

ภายหลังยูเนสโกได้ประกาศขึ้นบัญชีนวดไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปี 2562 แล้ว ขณะนี้คณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้เตรียมเสนอมรดกภูมิปัญญาของไทยเพื่อเสนอต่อยูเนสโก เพื่อขึ้นบัญชีมรดกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ในปี 2563 ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ หรือ “Songkran festival”

การเสนอขอให้ประเพณีสงกรานต์ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้นั้น รัฐบาลไทยจะเสนอควบคู่กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน

เนื่องจากเมืองสิบสองปันนาของจีน มีประเพณีสงกรานต์เช่นกัน

รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว พม่า ซึ่งมีประเพณีสงกรานต์เหมือนกับไทยด้วย

เหตุผลที่เสนอ “ประเพณีสงกรานต์” ขึ้นมรดกโลกร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีจุดเชื่อมโยงร่วมกัน เป็นประเพณีที่แสดงถึงการขึ้นศักราชใหม่ ในรูปแบบของการนับปีปฏิทิน มีการเฉลิมฉลองโดยใช้น้ำเป็นสื่อ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน

นอกจากจะเสนอประเพณีสงกรานต์ขึ้นเป็นบัญชีมรดกภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้แล้ว กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เตรียมเสนอ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ในปี 2564 อีกด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด

สำหรับต้มยำกุ้ง ถือเป็นอาหารที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของประเทศไทย โดยคำว่า “ต้ม” และ “ยำ” มีความหมายที่แสดงกระบวนการทำอาหาร แสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นอาหารของคนภาคกลาง ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำ มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหาร ด้วยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้การประกอบอาหาร เช่น กุ้งในแม่น้ำ ต้มลงในน้ำเดือด ปรุงรสด้วยสมุนไพรต่างๆ ถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยรักษาสมดุลของร่างกายได้

หากสามารถผลักดันต้มยำกุ้งขึ้นเป็นมรดกโลกได้ เชื่อว่าจะทำให้อาหารไทยมีราคาเพิ่มขึ้น และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

     ต้องลุ้นกันว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกในครั้งหน้า จะมีข่าวดีว่า “ประเพณีสงกรานต์” และ “ต้มยำกุ้ง” ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากยูเนสโกหรือไม่??