ธงทอง จันทรางศุ | หนาว

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อยรวมทั้งตัวผมด้วย ออกจะตื่นเต้นกับอุณหภูมิที่ลดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่เคยพบเห็นในเดือนธันวาคม

ถ้าเป็นจังหวัดทางภาคเหนือก็หนาวเย็นลงไปจนกระทั่งมีอุณหภูมิเป็นเลขตัวเดียวเสียด้วยซ้ำ

แต่ถ้าเป็นกรุงเทพมหานครแค่อุณหภูมิลดลงไปได้ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสก็ถือว่าเป็นเรื่องควรมหัศจรรย์ใจแล้ว

สื่อมวลชนหลายช่องทางรายงานข่าวเรื่องนี้พร้อมกับย้อนสถิติให้ดูด้วยว่า ได้เว้นวรรคมาหลายปีแล้วที่เมืองไทยของเราไม่มีอุณหภูมิลดต่ำลงถึงขนาดนี้

ผมเป็นคนที่สติปัญญาน้อยในเรื่องของวิทยาศาสตร์ จะอธิบายอะไรกันให้เป็นหลักวิชาว่าความหนาวเย็นครั้งนี้เกิดขึ้นจากโลกร้อนหรือเกิดจากสาเหตุอื่นใดอะไรก็แล้วแต่

ถ้าจะพูดไปก็เป็นการจำขี้ปากคนอื่นมาพูดทั้งสิ้น และการกระทำดังว่านั้นก็อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย จึงจะละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจเสียอย่างนั้น

เราจะพูดกันเฉพาะเรื่องที่ผมมีสติปัญญาพอรู้ได้คุยได้เท่านั้น ตกลงนะครับ

ถ้าย้อนหลังไปประมาณ 60 ปี ความรู้ของผมเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศของเมืองไทยก็ต้องบอกว่าเรามีสามฤดู คือฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว

ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูจากเครื่องทรงของพระแก้วมรกตที่พระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญต้องเสด็จฯ ไปเปลี่ยนเครื่องทรงถวายที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามก็ยังกำหนดเป็นประจำปีละสามวาระตามชื่อฤดูกาลที่ว่ามาข้างต้น

เมื่อตอนผมเป็นเด็กอยู่ในวัยนักเรียนชั้นอนุบาลหรือชั้นประถม ฤดูกาลที่พบเห็นและสัมผัสได้ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ว่ากันโดยเฉพาะสำหรับฤดูหนาว มักนิยมถือเขตกันว่า ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไปฤดูหนาวก็จะเริ่มมาเยือนแล้ว

วันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าคือวันที่ 23 ตุลาคมนี้เป็นที่สังเกตสังกากันว่า ลมหนาวเริ่มจะโชยมา เป็นโอกาสที่จะเปิดตู้เสื้อผ้าเพื่อรู้เอาเสื้อหนาวออกมาปัดฝุ่นเพื่อใช้งานได้แล้ว

และฤดูหนาวที่ว่านี้ก็มักจะอยู่กับเรายาวนานถึงประมาณสี่เดือนจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์

อุณหภูมิค่าเฉลี่ยของฤดูหนาวในยุคสมัยนั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานรายปีทุกวันนี้มากพอควร

ถึงแม้ผมจะไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขที่แม่นยำได้ว่าเท่าไหร่กันแน่

แต่ความทรงจำที่ไม่ผิดพลาดของผมสามารถบอกได้ว่า เมื่อประมาณพุทธศักราช 2504 ผมอายุได้หกขวบ พ่อกับแม่ย้ายบ้านจากบ้านเดิมที่อยู่ตรงซอยอารี ถนนพหลโยธิน ออกไปอยู่บ้านใหม่ที่ซอยบ้านกล้วยใต้หรือสุขุมวิทซอย 40 ทุกวันนี้

เวลาถึงฤดูหนาว ถ้าเป็นวันหยุดไม่ต้องไปโรงเรียน พี่เลี้ยงของผมจะก่อกองไฟเล็กๆ ที่สนามหลังบ้าน สำหรับเด็กสองคนคือผมกับน้องชายนั่งผิงไฟ เชื้อเพลิงสำหรับก่อกองไฟนั้นก็เก็บได้จากไม้แห้งหรือใบไม้แห้งที่หาได้ทั่วไปรอบบริเวณบ้านของเราซึ่งเป็นบ้านหลังน้อยอยู่กลางทุ่ง

การได้นั่งอยู่ข้างกองไฟที่มีไฟลุกสว่างโชนอยู่ตรงหน้า แล้วยื่นมือที่หนาวเหน็บออกไปให้ใกล้กับกองไฟเพื่อให้มือได้รับความอบอุ่นเพิ่มขึ้น เวลาเช้าตรู่ของฤดูหนาวในวันที่ไม่ต้องไปโรงเรียน เป็นภาพทรงจำแห่งความสุขวัยเด็กของผมที่ไม่รู้ลืมแม้จนทุกวันนี้

ความสนุกเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่งของเด็กๆ คือการเติมเชื้อไฟทีละนิดทีละหน่อยเข้าไปในกองเพลิงเพื่อเลี้ยงไฟไม่ให้มอด จนกว่าพระอาทิตย์จะส่องแสงกล้าและความหนาวค่อยบรรเทาเบาบางลงเมื่อได้เวลาสาย เป็นอันว่าหมดเวลาสำหรับการผิงไฟของเช้าวันนั้น

ฟังดูบ้านนอกสุดขีดไหมครับ

ใครจะเชื่อว่าเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นที่หลังท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ในซอยที่เยื้องกันกับซอยทองหล่อนี่เอง

ยุคสมัยนั้นเครื่องทำน้ำอุ่นยังไม่ใช่ของที่หาได้ดาษดื่นตามบ้านคนทั่วไป

เวลาเข้าหน้าหนาวอย่างนี้จึงเป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยงของผมต้องต้มน้ำร้อนบนเตาที่ใช้ฟืนใช้ถ่าน แล้วนำน้ำร้อนนั้นมาผสมกับน้ำเย็นทิ้งไว้ในถังน้ำใบเขื่องที่อยู่ในห้องน้ำ

สำหรับเด็กสองคนได้อาบน้ำอุ่น เวลาผ่านไปอีกหลายปีครับกว่าพ่อกับแม่จะเก็บหอมรอมริบไปซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นมาใช้ในบ้านของเรา

ความทรงจำเกี่ยวกับฤดูหนาวที่สูญหายไปแล้วอีกอย่างหนึ่งของผมคือเสื้อสำหรับใส่นอนของเด็กๆ ที่แม่ตัดเย็บให้จากผ้าที่เรียกว่าผ้าสำลี ผ้าชนิดนี้อันที่จริงก็ไม่หนานัก แต่ใส่แล้วอุ่นดีเป็นอันมาก ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าผลิตขึ้นจากเยื่อหรือใยอะไรสักอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง รู้แต่ว่าผ้าสำลีที่ขายอยู่ตามร้านที่แม่เป็นลูกค้านั้นมีหลายสีให้เลือกได้ตามใจชอบ บางทีก็มีลวดลายน่ารักน่าเอ็นดูประกอบด้วย

เมื่อแม่ซื้อผ้ามาตัดเป็นเสื้อชุดนอนหรือชุดอยู่กับบ้านให้กับลูกๆ ในวัยเด็กแล้ว ช่างเหมาะสมที่จะใช้งานในฤดูหนาวเสียนี่กระไร

ชีวิตในวัยเด็กของผมกับฤดูหนาวจึงเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันและต้องพบกันอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แต่ต่อมาเมื่อผมเติบโตขึ้น ฤดูหนาวก็เริ่มทรยศหักหลังผม เริ่มทำอาการมาบ้างไม่มาบ้าง ถึงแม้มาก็มาแป๊บเดียว หรือบางปีก็หายหน้าไม่ได้พบกันเลย จนกระทั่งชาวกรุงเทพฯ อย่างผมแทบจะลืมไปเลยว่ามีฤดูหนาวอยู่ในบ้านเมืองของเรา

เคยมีคนนินทาว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีสามฤดู คือฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนที่สุด

การที่ฤดูหนาวหายไปและมีแต่ฤดูร้อนเป็นสมาชิกขาประจำชีวิตเราอย่างนี้ ถ้านึกข้างฝ่ายสนุกสนานอย่างเช่นผม ก็ให้รู้สึกอาลัยอาวรณ์และขาดหายอะไรไปบางอย่าง จนกระทั่งเพื่อนฝูงบางคนออกปากว่า อยากให้เมืองไทยของเรามีอากาศหนาวจัดแบบเมืองนอกเขาบ้าง จะได้ใส่เสื้อหนาวสวยๆ ไปอวดโฉมกันให้ครึกครื้น และถ้ามีหิมะตกด้วยก็จะยิ่งวิเศษขึ้นไปใหญ่

ที่ว่ามานั้นคิดให้ดีก็จะเห็นว่าจริงสำหรับคนที่มีเสื้อหนาวจะใส่ แต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยในบ้านเมืองของเราไม่มีเงินจะซื้อเสื้อหนาวใส่ จะใช้วิธีผิงไฟแบบที่ผมเคยใช้เมื่อตอนเป็นเด็ก ไม้สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงก็หายาก ครั้นหามาได้ พอจุดไฟมากกองเข้า ทางการก็ห้ามปรามว่าเป็นเหตุให้เกิดฝุ่นเกิดควันขึ้นมาอีก

ที่นี่วุ่นวายหนอ ขัดข้องหนอ

เป็นอันว่า สำหรับไทยเรา ฤดูหนาวนั้นนานๆ มาครั้งหนึ่งก็ถือว่าพอเหมาะแล้วครับ ฤดูร้อนเป็นของจริง เวลาอากาศร้อนถึงจะทรมานหน่อย แต่โดยเฉลี่ยแล้วก็ไม่ได้ร้อนจัดถึงล้มถึงตาย อาบน้ำเสียหน่อยหรืออย่างที่โบราณในสำนวนว่า “เอาน้ำลูบตัว” ก็พอประทังคลายร้อนไปได้ คนยากคนจนทั้งหลายไม่เดือดร้อนเท่ากับการมีฤดูหนาวที่ยาวนานและอุณหภูมิต่ำกว่ามาตรฐานที่คุ้นเคยหนาวแบบนั้นสิไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เงินทองก็ฝืดเคือง เงินทองจะไปซื้อเสื้อหนาวสวยๆ มาใส่แบบผู้ดีมีอัฐก็ไม่มีกับเขา

ฉะนั้น ทำอะไรก็ต้องคิดถึงคนส่วนใหญ่มากกว่าคนส่วนน้อย

จะเอาแต่คนส่วนใหญ่สนุกสบาย แต่คนส่วนน้อยลำบากลำบนไม่ได้หรอกครับ

สาบานได้ว่าผมกำลังพูดถึงอากาศร้อนอากาศหนาวจริงๆ

ไม่ใช่เรื่องอื่นเลยนะ จะบอกให้