สมหมาย ปาริจฉัตต์ : นั่งเรียน นอนเรียน ยืนเรียน ทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่ได้ (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“โรงเรียนไม่ใช่แค่จัดการศึกษา สอนหนังสือให้เด็กพิการมีความรู้เหมือนนักเรียนทั่วไปในโรงเรียนสามัญ แต่สิ่งที่เราต้องทำควบค่กันไปคือ ดูแล ช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถนะของเขา จัดการศึกษาพร้อมฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการไปด้วยนั่นเอง”

บทสนทนาของ ผอ.พวงทอง ศรีวิลัย โรงเรียนศรีสังวาลย์ เชียงใหม่ ทำให้คณะ กพฐ.ผู้มาเยือนมองเห็นภาพการทำงานของครู ผู้บริหาร และพี่เลี้ยงเด็กชัดขึ้น

หลังเล่าความเป็นมาของสถานศึกษาแห่งนี้ ที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นบ้านหลังที่สอง ครูคือพ่อ-แม่คนที่สองของพวกเขา บ้านแห่งความรักและความอบอุ่น

นับแต่พระราชบัญญัติการศึกษาพิเศษเพื่อคนพิการออกมาใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 โรงเรียนศรีสังวาลย์ เชียงใหม่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรก ปี 2544 ต่อมาขยายออกไปอีก 4 แห่ง ขอนแก่น ชัยนาท นครศรีธรรมราช และชลบุรี

 

“ที่ศรีสังวาลย์ เรารับนักเรียน 4 กลุ่ม กลุ่มแรก พิการทางร่างกายแต่สมองดี เรียนได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป กลุ่มที่สอง พิการบวกกับปัญญาอ่อน มีปัญหาทางสติปัญญาอยู่ด้วย กลุ่มที่สาม พิการรุนแรง มีปัญหาหนักกว่ากลุ่มที่สอง ไม่สามารถเรียนรู้ได้เหมือนสองกลุ่มแรก ฝึกได้เฉพาะด้านอาชีพพิเศษ กลุ่มที่สี่ ออทิสติก เพิ่งเปิดรับเป็นปีที่สอง มีทั้งที่เก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเลย กับที่แย่เลย ฝึกอะไรไม่ได้ เข้าสังคมไม่ได้”

“สอนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนมาจากทั่วประเทศ รวมถึงเด็กชาวเขา ชนเผ่าต่างๆ ม้ง กะเหรี่ยง อาข่า ลีซอ ละหู่ และไทยใหญ่ อยู่ประจำ 24 ชั่วโมง”

“การฟื้นฟูสมรรถภาพจัดเป็นตารางสอนรายคน คล้ายๆ กับตารางผู้ป่วย ในห้องเรียนจึงมีทั้งนอนเรียน นั่งเรียน ยืนเรียน จัดห้องเรียนต้องอำนวยความสะดวก มีโต๊ะปรับระดับ เตียงสำหรับนักเรียนที่มีปัญหาแผลกดทับ เครื่องยืนเรียน ปรับอุปกรณ์การเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียน และมีกิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด อาชาบำบัด ธาราบำบัด การผ่าตัดแก้ไขความพิการ มีคลินิกฟันสวยยิ้มใส เป็นโรงเรียนที่มีคลินิกทำฟัน ไม่ทราบว่าเป็นแห่งแรกหรือเปล่า”

“ห้องธาราบำบัด อุปกรณ์ที่ใช้เป็นของจากต่างประเทศหมด จึงต้องอาศัยเครือข่ายมาช่วย เด็กเอาประสบการณ์ไปใช้ที่บ้านได้ มีรถบัส 3 คันพาเด็กออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ ได้รับความช่วยเหลือจากกองสลากฯ กับสถานทูตญี่ปุ่น มีคลินิกรถเข็น”

การจัดการศึกษา ผลการประเมินระดับชาติเพิ่มขึ้นทุกปี ด้านการกีฬาคนพิการมีตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันถึงระดับโลก ส่งเด็กไปแสดงความสามารถในเวทีต่างๆ มากขึ้น

“โรงเรียนไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง จึงต้องมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์และร่วมมือกับชุมชนทั้งด้านฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ด้านวิชาการ ด้านอาชีพ ด้านอารมณ์และสังคม และด้านอื่นๆ”

 

รายงานการดำเนินงานของโรงเรียน กล่าวถึงการสนับสนุนด้านฟื้นฟูสมรรถภาพ จากคณะแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลสันทราย โรงพยาบาลนครพิงค์ สถาบันแมคแคน สถาบันพัฒนาเด็กราชนครินทร์ และมูลนิธิขาเทียม

ด้านวิชาการ สถานศึกษาใกล้เคียงเป็นเครือข่ายรับนักเรียนพิการกลุ่มเรียนรู้ได้เข้าศึกษาเรียนร่วมทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรอาชีพระยะสั้นเช่น โรงเรียนสันทรายวิทยาคม วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอแม่ริม โรงเรียนบ้านห้วยเกี๋ยง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ทุนการศึกษาและโควต้านักเรียนเข้าเรียน

การฟื้นฟูด้านอาชีพ นักเรียนได้ฝึกทักษะงานอาชีพพื้นฐานจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การเกษตรปลูกพืชไร้ดิน (Hydroponic) ฝึกเป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นพิธีกร สถานีวิทยุการศึกษา คณะพัฒาการท่องเที่ยว อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยวและอาหาร พัฒนาร้านหลานย่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมของโรงเรียน ชมรมผู้ปกครองและครูช่วยสอนทอผ้าสไตล์ญี่ปุ่น ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ปักผ้า งานฝีมือต่างๆ

วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ฝึกทำเครื่องหนัง นวดแผนไทย

 

“เราเป็นโรงเรียนประชารัฐด้วย มี School partner หลายที่” ผอ.หญิงแกร่งเล่าต่อ

“Nectec มาให้ความรู้แก่บุคลากร ครูผู้สอนด้าน Assistive Technology บริษัท Oforword Thailand จำกัด บริษัท Robbo Finland จำกัด บริษัท Roborobo Korea จำกัด บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล ประเทศไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ จำกัด (ประเทศไทย) และบริษัทกูเกิลประเทศไทย ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีของโรงเรียน”

“ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ไอซีทีจากโครงการประชารัฐ บริษัททรู คอร์เปอเรชั่น บริษัทเชลล์ประเทศไทย อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ สมาร์ตฟาร์ม”

“ที่ผ่านมาแม้เรามีบุคคล องค์กรเครือข่ายหลายแห่งให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาและความต้องการจำเป็นยังคงมีอยู่ ได้แก่ เครื่องช่วยคนพิการ เพราะบางคนต้องเปลี่ยนแพมเพอร์สทั้งวัน เป็นแผลกดทับ เด็กไม่มีความรู้สึกด้านล่างของร่างกายเลย จึงต้องมีบุคลากรพี่เลี้ยง นักสหวิชาชีพ บริบาล คอยช่วยเหลือ โรงเรียนมีมูลนิธิ ทอดผ้าป่าหาเงินมาจ้างบุคลากรเพิ่มเดือนละ 3-4 แสนบาท สาธารณูปโภคยังติดหนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง อาคารใหญ่เพราะเด็กต้องใช้พื้นที่มาก เด็กเกิน 10 คนต่อครูหนึ่งคน หนักมากสำหรับครู เงินอุดหนุนอาหารกลางวันหัวละ 30 บาท เราจ่ายจริง 50 บาท”

“มีเด็กไปโรงพยาบาลทุกวัน 3-4 คน บางวัน 10 คน ทุกปีมีเด็กเสียชีวิตด้วยสภาพความพิการของเขา ทำอย่างไรถึงจะทำให้เด็กช่วยตัวเองได้ก่อน มีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”

น้ำเสียงค่อยๆ สั่นเครือ หยาดน้ำตาซึม

 

ผลจากความร่วมมือร่วมใจทำงานหนัก ด้วยศักยภาพในการแสวงหาพันธมิตร สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ไม่เพียงแต่ทำให้โรงเรียนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การศึกษาพิเศษแก่นักเรียนผู้พิการ มีโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วม องค์กร สถานศึกษา และคณะทำงานเกี่ยวกับผู้พิการ สถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานอย่างไม่ขาดสายเท่านั้น

ผลผลิตของโรงเรียนศรีสังวาลย์ เชียงใหม่ ได้สร้างไอซีทีทาเลนต์ เป็นผู้พิการคนเดียวในหมู่คนปกติ 200 คน จนเป็นแบบอย่างและกำลังใจแก่ผู้พิการอื่นๆ อย่างน่าชื่นชม

เธอคือความภูมิใจ คนนี้เป็นใคร ต้องติดตาม