สงครามต่างลัทธิ! กล่าวหา “ธนาธร” ลัทธิชังชาติ “สุเทพ-หมอวรงค์” ก็ลัทธิชิงชาติ

สถานการณ์ทางการเมืองคุกรุ่นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการเมืองนอกสภา ถือเป็นอาฟเตอร์ช็อก 2 ลูกที่มาจากพรรคอนาคตใหม่ นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หน.พรรคอนาคตใหม่พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.

จากนั้นตามมาด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณี “ธนาธร” ปล่อยกู้พรรค 191 ล้านบาท โดยกรณีนี้จะมีผลผูกพันไปถึงกรรมการบริหารพรรคว่าจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่ด้วย

จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์แฟลชม็อบขึ้นมา โดย “ธนาธร” ได้เชิญมวลชนมาชุมนุมบริเวณสกายวอล์กย่านสยามสแควร์เมื่อเย็น 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ในชื่อกิจกรรม “เมื่อเสียงที่พวกเราเลือกเข้าสภาไม่มีค่า ได้เวลาประชาชนออกมาส่งเสียงด้วยตัวเอง”

โดยในการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ “ธนาธร” ระบุว่า ไม่ได้มีเพียงในกรุงเทพฯ แต่ยังมีที่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.สมุทรปราการ พร้อมประกาศลงถนนอย่างเป็นทางการ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้ว

“วันนี้ถือเป็นการซ้อมใหญ่ เราต้องการส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ เป็นการแสดงตน แสดงพลังว่า เราจะไม่ทน ไม่ถอยให้กับระบอบเผด็จการอีกแล้ว ที่ผ่านมาเขาทำให้เรากลัว ใครลุกขึ้นสู้ก็ถูกจับยัดคดีใส่ ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ นี่คือการเมืองของเขา แต่เขาไม่มีทางชนะความหวังของพี่น้องประชาชนได้ อย่างตอนนี้ ถ้าไม่ให้ลงถนน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เพราะประชาชนที่มาร่วมแสดงตนมีเยอะมาก และเดือนหน้าเราจะได้ลงถนนกันแน่ๆ ให้ซ้อมวิ่งกันไว้ได้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์อย่าเพิ่งกลัว ของจริงอยู่เดือนหน้า” นายธนาธรกล่าว

“วันนี้เรามาแค่ชิมลาง ต้องบอก พล.อ.ประยุทธ์ว่าอย่าเพิ่งกลัว ของจริงเดือนหน้า” นายธนาธรกล่าว

กระแสดังกล่าวทำให้แทงใจกลุ่มกองหนุน พล.อ.ประยุทธ์ไม่น้อย หากย้อนกลับไปก่อนหน้ามีการใช้คำตีตรา “ธนาธร” และแนวร่วมว่าเป็น “พวกชังชาติ” หรือมีการออกมาโจมตีว่ามี “ลัทธิชังชาติ” เกิดขึ้น โดยเป็นข้อหาเดิมๆ ที่เคยมีมาแล้วในอดีตหรือเป็นสูตรทางการเมืองที่มีมากว่า 40 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัย “คนเดือนตุลา” จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาถึง 6 ตุลาคม 2519 ในยุคที่นักศึกษาต่อสู้กับเผด็จการทหาร ท่ามกลางกระแสคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็นที่แผ่ขยายมาในภูมิภาค ทำให้การออกมาเคลื่อนไหวนิสิตนักศึกษาถูกตีตราเป็นภัยคอมมิวนิสต์และเป็นพวกบ่อนทำลายชาติไปด้วย

แต่คำว่า “ชังชาติ” กลับมาใช้อย่างชัดเจนในช่วงระยะหลังมานี้ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 จากปรากฏการณ์เพลงประเทศกูมี ที่จัดทำโดยกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP นั่นเอง ตามมาด้วยปรากฏการณ์ “ธนาธรฟีเวอร์” ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ได้คะแนนมาลำดับที่ 3 ได้ ส.ส.เข้าสภากว่า 80 คน ทำให้เสียงของพรรคอนาคตใหม่ยิ่งหนักแน่นขึ้น จึงเกิดเรื่องราวต่างๆ ในสภามากขึ้นที่พรรคอนาคตใหม่มีบทบาทนำ รวมทั้งปรากฏการณ์ “สกัดดาวรุ่ง” ก็ตามมาด้วย

แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวของ “ธนาธร” ย่อมทำให้กลุ่มที่เป็น “กองหนุน” พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาปกป้องรัฐบาลโดยเป็นเน็ตเวิร์กเดิมๆ

ล่าสุดคือการออกมาของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. ในฐานะที่ปรึกษาพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้ออกมาพูดถึง “ลัทธิชังชาติ” ในหลักสูตร “อุดมการณ์ และการสื่อสารทางการเมือง” ที่มูลนิธิธรรมอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม

โดยมองว่าขณะนี้ประเทศยังไม่ปลอดภัย เพราะมีลัทธิชังชาติเตรียมสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ ขอให้สมาชิกพรรคเฝ้าจับตาดู

พร้อมมองการออกมาชุมนุมของพรรคอนาคตใหม่ว่า การแสดงออกทางการเมืองถือเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้มีไว้ให้หลบเลี่ยง ไม่อย่างนั้นสังคมอยู่ไม่ได้ ถ้าเขาทำแล้วอยู่ในกฎหมายไม่เป็นไร แต่ถ้าทำให้เกิดความวุ่นวายหรือเสียหายก็ต้องว่าไปตามกระบวนการกฎหมาย พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการชุมนุมของ “ธนาธร” ในอนาคตด้วยว่าจะลงเอยแบบไหน

“การชุมนุมของพรรคอนาคตใหม่ ผมไม่ทราบว่าจะลงเอยอย่างไร เรื่องนี้ต้องติดตามดู แต่คิดว่าเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อมีคนละเมิดกฎหมายแล้วถูกตัดสิทธิทางการเมือง คนเหล่านี้ไม่ยอมรับ เราเคยเห็นในอดีตแล้วว่า พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ออกมาปฏิเสธ ไม่ยอมรับคำสั่งศาล หรือพอศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาก็ออกมาพูดจาในลักษณะที่ว่าศาลสองมาตรฐาน คิดว่าเรื่องแบบนี้คนไทยเคยเห็นมาแล้ว” นายสุเทพกล่าว

“แต่ถ้าคุณธนาธรและชาวพรรคอนาคตใหม่เกิดกลัวว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย มีคำสั่งตามตัวบทกฎหมาย แล้วจะเกิดผลเสียหายกับพรรคกับคุณธนาธร แล้วก็จะมาชวนประชาชนให้ลงถนนไปช่วยด้วยอย่างนี้ก็ไม่ค่อยยุติธรรมกับประเทศ ไม่ยุติธรรมกับประชาชนเท่าไหร่” นายสุเทพกล่าว

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้เปิดเวทีปราศรัยอบรมให้ข้อมูลประชาชนเรื่อง “อุดมการณ์และการสื่อสารทางการเมือง” ซึ่งมีเนื้อหาหลักคือ “ต่อต้านลัทธิชังชาติ” เวทีแรกที่ จ.พิษณุโลก โดยได้ชี้ถึงการกระทำของลัทธิชังชาติที่แบ่งออกเป็น 5 ข้อ ได้แก่

1. จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์

2. ไม่เอาศาสนาและเอาศาสนามาสร้างความขัดแย้ง

3. ดูถูกวัฒนธรรมประเพณี ดูถูกประเทศตัวเอง

4. ชักศึกเข้าบ้าน มีปัญหาอะไรก็ไปฟ้องต่างชาติ

5. ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม

“ลัทธิชังชาติ 5 เรื่องนี้จะทำให้คนไทยเกลียดกันเอง ดูถูกประเทศเราเอง ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย แต่คนที่กระทำกลับบิดเบือนในสิ่งที่เขากระทำ ฉะนั้น เราจำเป็นต้องชี้แจงความจริงต่อประชาชน ซึ่งก็เชื่อว่าประชาชนเริ่มรับข้อมูลความจริง เริ่มเข้าใจมากขึ้น” นพ.วรงค์กล่าว

นพ.วรงค์เปิดเผยต่อว่า พรรคมองว่ามีปัญหาเรื่องลัทธิชังชาติ จึงจะตั้งหลักปราบลัทธิชังชาติด้วยการเปิดเผยความจริงผ่านเวทีดังกล่าวของพรรค 9 แห่ง จึงได้เริ่มต้นเปิดเวทีที่ จ.พิษณุโลก จากนั้นไปมูลนิธิธรรมอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เขตบึงกุ่ม กทม. จ.อุดรธานี จ.กาญจนบุรี จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา และจบที่ กทม.

แต่ในทางการเมืองแล้วนั้น ย่อมต้องมีคู่ตรงข้าม ถ้ามีคำว่า “ลัทธิชังชาติ” ก็ต้องมี “ลัทธิชิงชาติ” โดยล้อตามชื่อหนังสือของ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่ชื่อว่า “แผนชิงชาติไทย” ที่กล่าวถึงการเมืองสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 ยุคปี 2490-2500 ในการดำรงอยู่และล่มสลายของระบอบจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สุดท้ายแล้วก็ยังก้าวไม่พ้นระบอบทหาร

สำหรับในสถานการณ์ปัจจุบัน การ “ลัทธิชิงชาติ” ก็คือการ “ช่วงชิง” ชาติกลับมา จากสายตาของฝ่ายขวาไทยที่มองว่าพรรคอนาคตใหม่คือศัตรูบัญชีต้นๆ ที่นำหน้าพรรคเพื่อไทยไปแล้วด้วยการแสดงออกต่างๆ ทั้งในและนอกสภา รวมทั้งการนำแนวคิดของ “ธนาธร” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค ในอดีตมาผลิตซ้ำผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งการที่พรรคอนาคตใหม่สามารถยึดพื้นที่โซเชียลและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้นั้น ถือเป็นจุดที่ฝ่ายขวาไทยตระหนักไม่น้อย

ดังนั้น กระบวนการ “ลัทธิชิงชาติ” ก็คือการ “ช่วงชิงชาติ” ในการนิยามความหมายความรักชาติกลับมาในแบบของตน การนิยามประชาธิปไตยในแบบของตัวเอง เพื่อสร้างการเมืองในอุดมคติตามที่ต้องการ

ซึ่งขบวนการเหล่านี้ถือเป็นเน็ตเวิร์กที่ทำให้ระบอบทหารยังคงดำรงอยู่ในการเมืองได้

เช่น การปูทางให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร การสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ที่เปรียบเป็นมรดกของคณะรัฐประหาร

เรื่อยมาถึงการตั้งพรรคการเมืองหนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

จุดนี้เองถือเป็น “วิวาทะเดือด” ของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมามีการโจมตีทางการเมืองด้วยคำอื่นๆ เช่น พวกขายชาติ ล้มเจ้า ผีทักษิณ ปีศาจธนาธร เป็นต้น โดยการใช้คำว่า “ลัทธิชังชาติ” เริ่มแพร่หลายในหมู่ฝ่ายต่อต้านพรรคอนาคตใหม่

แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็น “ลัทธิชังชาติ” หรือ “ลัทธิชิงชาติ” ก็ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมต่อไปท่ามกลางวังวนแห่งความขัดแย้งที่มีตัวละครใหม่ๆ และวาทกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้บริบทการเมืองไทยที่ยังไม่ก้าวข้ามระบอบทหารเสียที ในการเข้ามามีบทบาทผ่านสถาบันการเมืองต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออยู่ยาว ส่วนจะอยู่ยาวแค่ไหนและหนังจะฉายซ้ำหรือไม่นั้นต้องติดตามต่อไป

สงครามต่างลัทธิ!!