หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘หายาก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
สมเสร็จ - สมเสร็จอยู่ในสถานภาพสัตว์หายากอีกชนิดหนึ่ง

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘หายาก’

 

โลกเดินทางมาถึงวันที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเจริญอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะในเรื่องการทำความรู้จักสัตว์ป่า รวมถึงแหล่งอาศัยของพวกมัน

มีอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ มากมายช่วยอำนวยความสะดวกให้เหล่านักวิจัย คนทำงานปกป้องสัตว์ป่า รวมทั้งช่างภาพ สามารถ “เข้าถึง” สัตว์ป่าได้ง่ายยิ่งขึ้น

แหล่งอาศัยของสัตว์ป่า ผ่านพ้นยุคที่เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการทำลายล้างอย่างหนักมาแล้ว

“บ้าน” ของสัตว์ป่าถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร เป็นเมือง

สัตว์ป่ามากมายหลายชนิดอยู่ในสถานภาพที่เรียกกันว่าหายาก

โอกาสที่จะพบเจอสัตว์เหล่านี้แทบเป็นไปไม่ได้ นอกจากบังเอิญ หรือต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุด

ไม่เพียงบางชนิดเหลือจำนวนประชากรน้อย บางตัวยังอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร รกทึบ ยากจะฟันฝ่าเข้าไป

และพวกนี้ยังเป็นสัตว์ซึ่งมีการระมัดระวังตัวสูง พวกมันมีประสาทสัมผัสอันไวต่อกลิ่นกายคน พวกมันได้รับการสั่งสอนต่อๆ กันมาว่านี่คือ “สัตว์” อันตรายที่สุด

ทำงานกับสัตว์ป่าในยุคที่พวกมันมีบทเรียน และไม่ยินดีต้อนรับคน ไม่ง่ายเลย

 

กระนั้นก็เถอะ ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็เดินทางมาถึงดงลึกเช่นกัน

เครื่องมืออย่างกล้องดักถ่ายภาพ ทำหน้าที่ “ดัก” ถ่ายภาพสัตว์ป่าให้โดยคนไม่ต้องเฝ้ารอ

หลายภาพใช้ไม่ได้ในเชิงภาพถ่ายหรอก

แต่การได้เห็นและรู้ว่าในป่ายังมีสัตว์หายากหลายชนิดอาศัยอยู่ ได้เห็นชีวิตอันลึกลับของพวกมันที่ดำเนินไปตามวิถี

นี่คือเรื่องน่ายินดี…

 

เสือโคร่ง โดยศักดิ์ศรีพวกมันคือนักล่าผู้อยู่บนสุด

มีการติดตามศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตพวกมันอย่างเข้มข้น นักวิจัยเชื่อว่าการทำความรู้จักกับนักล่าผู้อยู่บนสุด รวมถึงปกป้องชีวิตเสือโคร่งและแหล่งอาศัย นั่นย่อมเป็นการปกป้องแหล่งอาศัยสัตว์ป่าทั้งระบบ

การได้ทำงานกับทีมวิจัยเสือโคร่ง ซึ่งใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ คล้ายกับผมได้เข้าโรงเรียนอีกครั้ง

“โรงเรียน” ที่มีเสือเป็นครู “สอน”

 

ในทีม ผมเป็นผู้ช่วยของผู้ช่วยนักวิจัย

ผมนำเรื่องราวพวกเขามาเขียนถึงบ่อยๆ ชื่ออ่อนสา ผู้ชายร่างผอมบาง ผู้พร้อมเดินเข้าไปหาเสือ แต่กลัวคางคก และถาวรซึ่งเดินป่าขึ้นเขาชัน ปีนต้นไม้ คล่องตัว เขาจะกลัวเมื่อต้องข้ามลำห้วยลึกๆ แต่การเป็นพ่อครัวฝีมือเยี่ยม ทำให้ถาวรต้องอยู่ในป่ากับทีมเสมอ

หลายคนคุ้นชื่อผู้ชายสองคนนี้

รูปร่างผอมบางของทั้งคู่นั้นแกร่ง เดินตามไม่ง่าย

วันหนึ่ง หลังจากเดินมาราว 4 ชั่วโมง ถาวรชูเสาอากาศขึ้นเหนือหัว เสียงสัญญาณที่ส่งมาจากเครื่องส่งซึ่งเป็นปลอกคอสวมไว้กับเสือโคร่งตัวเมียดังเป็นจังหวะชัดเจน ไม่ว่าเขาจะหันเสาอากาศไปทางทิศใด

ถาวรหันมามองหน้าผม ส่ายหน้าช้าๆ

“รอสักพักครับ อย่าเพิ่งเข้าไป” สัญญาณดังชัดเจนเช่นนี้แสดงว่าเสืออยู่ห่างเราไม่เกิน 100 เมตร

ถาวรทรุดตัวลงนั่งบนขอนไม้แห้งๆ หยิบจีพีเอสจากเป้ ผมนั่งข้างๆ ดูข้อมูลในจีพีเอส จุดหมายที่เราจะไปอยู่ห่าง 80 เมตร

ข้อมูลบอกเราว่า เสือที่เรากำลังตาม อยู่ตรงนี้หลายชั่วโมง

สองวันก่อน เราพบว่าพวกมันล่าวัวแดงตัวเมียได้ และกินหมดแล้ว

ผมใช้คำว่าพวกมัน เพราะเรากำลังตามเสือโคร่งซึ่งยังอยู่ร่วมกันหลายตัว

แม่เสือมีลูกอายุกว่า 24 เดือน 4 ตัว ลูกยังไม่แยกออกไป

แม้ว่าโดยปกติลูกเสือโคร่งจะแยกจากแม่เมื่ออายุราวสองปี

ดูเหมือนว่าเสือครอบครัวนี้รื่นรมย์กับการอยู่ร่วมกันไปเรื่อยๆ

หรืออีกเหตุผล ลูกเสือยังไม่อยากแยกไป เพราะรู้ดีว่า นั่นคือการเริ่มต้นช่วงเวลาอันยากลำบาก

 

“คงล่าเหยื่อได้อีกแหละครับ” ถาวรให้ความเห็น เพราะหากเป็นการซุ่มรอเหยื่อ เสือมักจะผละไปหากได้กลิ่นคน แต่ถ้ามันเพิ่งล่าเหยื่อได้ มันจะไม่ไปไหน และถ้าเราเข้าไปใกล้เกินระยะที่มันอนุญาต เสียงขู่คำรามคือเสียงที่เราจะได้ยิน

สิ่งที่นักวิจัยทำคือ เฝ้ารอจนเสือถอยห่าง จากนั้นจึงจะเข้าไปตรวจสอบซากเหยื่อ

พวกมันอยู่ร่วมกัน แต่ดูเหมือนนี่เป็นช่วงเวลาที่แม่กำลังสอนลูก ฝึกฝนการล่าด้วยตัวเอง

เราติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพที่ซากวัวแดงที่พบ

ภาพจากกล้องแสดงให้เห็นว่าพวกมันระมัดระวังตัวมาก ผลัดกันเข้ามากินซาก โดยตัวแม่เดินวนเวียนอยู่รอบนอก

พวกมันเคยพลาดเข้ามาติดกับดัก ย่อมมีบทเรียนพอ

ลูกๆ ดูรื่นรมย์ แต่อย่างไรก็ตาม อีกไม่นานก็ต้องแยกไป แสวงหาถิ่นตัวเองตามวิถี

แม้ว่าอยากจะอยู่ร่วมกันไปเช่นนี้ตลอดสักเพียงใดก็ตาม

ฝึกฝนตนเพื่ออยู่ในที่กันดาร รอวันเข้มแข็งพอที่จะ “เบียด” เจ้าของถิ่นเดิมออกไป

การเติบโตไปตามวิถีของตัวเอง จำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ไม่ใช่เสือทุกตัวหรอกจะผ่านพ้นด่านอันหนักหนานี้ไปได้

นี่คืออีกบทเรียนที่ “เสือสอน”

 

13.40 นาฬิกา

ผมเก็บกล่องข้าวกลางวันเปล่าๆ ลงเป้ ถาวรยกเสาอากาศขึ้นทดสอบอีกครั้ง สัญญาณเบาลง เขาพยักหน้า

“รีบเข้าไปกันครับ ถอยห่างไปแล้ว”

ไม่ไกลนัก จากที่เรานั่งรอ ผ่านกอไผ่ใหญ่ๆ สอง-สามกอ ข้ามลำห้วยแห้งที่เต็มไปด้วยหินใหญ่น้อยระเกะระกะ เราก็เห็นเหยื่อเป็นกวางตัวผู้เขาใหญ่ นอนตะแคง เนื้อถูกกินไปราวครึ่งตัว เนื้อแดงสด มันเพิ่งสิ้นใจไม่นาน

เราใช้เวลาสั้นๆ ที่นั่น รีบถอยกลับออกมา ขี้เสือหลายกองอยู่ไม่ไกลซาก กลิ่นฉี่เสือคละคลุ้งไปทั่ว

ก่อนถอย เราวางกล้องดักถ่ายภาพไว้ หวังว่ากลิ่นเราคงไม่รบกวนกระทั่งพวกมันทิ้งซาก

ภาพที่ได้ ทำให้เห็นความเป็นไปของเสือ

ได้รู้จักวิถีพวกมันมากยิ่งขึ้น

“เห็น” พวกมัน และหวังว่าสักวันพวกมันคงจะ “เห็น” พวกเราบ้าง

 

ขณะติดตามเสือ

มีสัตว์ป่าหายากหลายชนิดที่เรามีโอกาสเห็น

เทคโนโลยีช่วยเราให้ศึกษาความเป็นไปของสัตว์ป่าสะดวกมากขึ้น

กล้องดักถ่าย ช่วยให้เห็นพวกมัน แต่กระนั้นก็เถอะ สถานภาพความหายากของพวกมันไม่ได้เปลี่ยนไป

ถิ่นอาศัยทุรกันดาร รกทึบ ไม่ได้หมายถึงการจะอยู่อย่างปลอดภัยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

คนจำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่า สัตว์ป่านั้น คุณค่าของพวกมันอยู่ที่ซากอันไร้ชีวิต

ความเชื่อบางอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง

บางอย่าง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ช่วยอะไร

เส้นทางสดใสของสัตว์ป่าที่จะมีชีวิตอยู่

ไม่ว่าพวกมันจะอยู่มุมใดของโลก

ยังเป็นสิ่งที่ “หายาก” อยู่เช่นเดิม