อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : จุดอ่อนทางการเมือง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หากเราดูโครงสร้างการเมืองทั่วๆ ไป เราอาจจะเห็นภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ด้วยเหตุว่า รัฐบาลชุดนี้ได้รับอานิสงส์จากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในแง่ที่มีกลไกทางการเมืองทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งที่พร้อมใช้สมองก้อนนั้นยกมือสนับสนุนรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียงกัน

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงครั้งเดียวในแต่ละปี ซึ่งในแง่ความเป็นจริงของตารางทางการเมืองปัจจุบัน อย่างมากคงทำการอภิปรายก่อนหมดสมัยประชุมนี้อย่างกะพร่องกะแพร่ง

ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลชุดปัจจุบันก็มิได้มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างที่กฎหมายหลักของประเทศวางกติกาเอาไว้

ทั้งนี้เพราะความเป็นจริงทางการเมืองหลายอย่างที่การเมืองไทยร่วมสมัย พัฒนาการทางการเมือง

ผู้เล่นหลักทางการเมืองบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา

 

จุดอ่อนทางการเมือง

พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำของรัฐบาลปัจจุบันนับเป็นพรรคการเมืองที่ค่อนข้างแปลกประหลาดเพราะโครงสร้างและองค์ประกอบของพรรคมาจากกลุ่มการเมืองที่มาจากแม่น้ำ 5 สายที่รวมตัวกันเพื่อสลายกำลังของพรรคการเมืองและเครือข่ายทักษิณ

ไม่เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจ ชั่วคราว และเป็นพรรคการเมืองของคณะรัฐประหารแล้ว พรรคพลังประชารัฐยังขับเคลื่อนด้วย “ชนชั้นนำ” โดยแท้

พรรคพลังประชารัฐไม่มีฐานมวลชนของตัวเองนอกจากฐานมวลชนของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มาร่วมรัฐบาล

ดังนั้น เมื่อโมเมว่าชนะการเลือกตั้ง แกนนำของพรรคพลังประชารัฐจึงต้องเดินสายหาเสียง ตรวจราชการ ใช้ระบบราชการเป็นตัวขับเคลื่อน

และต่อมา ชิม ช้อป ใช้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อรัฐบาลกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งปรากฏว่า คนเป็นล้านๆ คนที่สมัครชิม ช้อป ใช้ ต่างเงียบงันไม่ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างที่คิด

แน่นอนไม่ได้ขับเคลื่อนอะไรที่เป็นทางสนับสนุนรัฐบาลเจ้าของความคิดดังกล่าว

ดังจะเห็นได้ว่าผลงานของรัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐจึงไม่เป็นชิ้นเป็นอัน รัฐมนตรีคลังยังไม่มีผลงานโดดเด่นในทางเศรษฐกิจเพราะไม่มีประสบการณ์บริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เคยเป็นเพียงกรรมการธนาคารพาณิชย์ของเอกชนและของรัฐในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

ดังนั้น เขาจึงไม่ได้เป็น “ซาร์ทางเศรษฐกิจ” อย่างที่รัฐมนตรีคลังในอดีตที่เขาเป็นกันซึ่งคนพวกนี้ล้วนแต่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ หรือไม่ก็เป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลังหรือผู้ว่าการธนาคารชาติมาก่อน เป็นต้น

ผลงานของรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเรียกได้ว่าแทบไม่ปรากฏ

รัฐมนตรีแทบจะเป็นรัฐมนตรีที่โลกลืม

ตรงกันข้ามกับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ

การจัดการเรื่องปัญหาสารอันตรายทางการเกษตรแม้ได้รับการต่อต้านจากหลายฝ่าย เช่น การต่อต้านจากผู้ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลืองของสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียและสหภาพยุโรปซึ่งส่งออกพืชเกษตรเหล่านั้นมาไทยและเกรงว่าจะส่งมาไทยไม่ได้เพราะยังใช้สารเคมีที่ทางการไทยสั่งยกเลิก

นโยบายดังกล่าวยังผลให้กลุ่มผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกลุ่มที่ใช้สารเคมีดังกล่าวมานานและผู้นำเข้าสารเคมีดังกล่าวไม่พอใจและต่อต้านมาตรการยกเลิกสารเคมีของพรรคภูมิใจไทย

หากทว่ามาตรการของพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนว่าเป็นการดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยและการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ซึ่งมีผลดีโดยเฉพาะผู้บริโภค

เช่นเดียวกัน “เนวินโมเดล” ที่ใช้อย่างได้ผลต่อฐานเสียง ชาวบ้านและมวลชนในชนบทโดยการผลักดันห้ามใช้สารเคมีบางประเภทในการเกษตร

โมเดลนี้ยังใช้ในการผลักดันการจัดการระบบขนส่งทางรางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การแก้ปัญหารถตู้สาธารณะ รถเมล์ รถโดยสาร ได้สร้างคะแนนความนิยมจากประชาชนทั่วไป คนเมืองและคนชนบทแก่รัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทยอย่างถ้วนหน้า

ในเวลาเดียวกัน การตัดสินทางนโยบายด้านการคมนาคมทั้งการก่อสร้างสนามบิน การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารสนามบิน การทำธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีก็เริ่มสร้างความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ไปในเวลาเดียวกันด้วย

ในที่สุดนับเป็นที่มาแห่งการเผชิญหน้าต่อการประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยประทุไปยังสงครามตัวแทนของคู่ขัดแย้งผ่านสื่อมวลชนและกระบอกเสียง

ทั้งหมดนี้เป็นจุดอ่อนทางการเมือง อันเกิดจากปัญหาภายในของรัฐบาลที่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองจากพรรคการเมืองที่มีฐานทางการเมืองของตนอยู่ก่อนแล้ว

หากแต่เป็นพรรคพวกของคณะรัฐประหารที่ดำเนินการขับเคลื่อนประเทศหลังการรัฐประหาร

จุดอ่อนที่ว่านี้พร้อมจะถ่างออกไปสู่การสลับขั้วทางการเมืองในรัฐสภาได้ทุกเมื่อ แต่อย่างไรก็ตาม เราควรดู “กองทัพ” ในฐานะจุดอ่อนไหวที่สุดของการเมืองปัจจุบันพร้อมกันด้วย

 

จุดอ่อนไหวที่สุดทางการเมือง

ใครที่ติดตามการเมืองไทยร่วมสมัยคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ฐานสนับสนุนทางการเมืองต่อรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยคือ “กองทัพ” ไม่มีรัฐบาลไหนของเมืองไทยอยู่ได้หากกองทัพไม่ให้การสนับสนุนทางการเมือง แม้แต่รัฐบาลของนายทหารก็ตาม

หากเราเพ่งไปดูรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่ามีการควบตำแหน่งทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเพียงการลดกระแสแรงเสียดทานที่มีต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ถึงกระนั้นก็ตาม การสั่งการกองทัพเกือบทั้งหมดยังอยู่ในกำมือของ 3 ป. และทหารเสือราชินี รวมทั้งการดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานด้านการปกครองและการเมืองส่วนกลางและท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยยังคงรวมศูนย์อยู่ที่นายทหารจากปราจีนบุรีและชลบุรี

เมื่อกิจการด้านความมั่นคงทั้งทางทหารและพลเรือนยังอยู่ที่นายทหารจากปราจีนบุรีและชลบุรีเราก็ต้องดูความสัมพันธ์ของนายทหารที่เป็นแกนนำของรัฐบาลกับผู้บัญชาการทหารบก แล้วเราจะพบความน่าสนใจหลายประการ

ประการที่หนึ่ง ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หลายฝ่ายเห็นว่า ผู้บัญชาการทหารบกสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่ต้น อีกทั้งเป็นธรรมดาที่ผู้นำสูงสุดของกองทัพบกย่อมต้องนำเสนอ อะไรใหม่ๆ ของตนเองเหมือนกับผู้นำในอดีต “Smart Soldier” นับเป็นคำขวัญที่แสดงถึงความมีวินัยและการสร้างเอกภาพให้แก่กองทัพ

หลายคนอาจมองว่าผู้นำสูงสุดของกองทัพบกแต่ละคนย่อมมีคำขวัญเพื่อเป็นจุดเด่นของผู้นำ ยิ่งบุคลิกของผู้บัญชาการทหารบกที่กล้าแสดงออกและเปิดเผยต่อสถานการณ์ทางการเมืองเสมอมา

ดังนั้น การตรวจเยี่ยมกองกำลัง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้แต่ไม่ได้เป็นเรื่อง ระหว่างทหารต่างจังหวัดกับทหารกรุงเทพฯ

ไม่ได้หมายถึงผู้นำทหารที่จบภายในประเทศกับนายทหารที่เรียนจบต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา โดยด่วนสรุปคำขวัญภาษาอังกฤษที่ท่านใช้ การวิเคราะห์ดังกล่าวหลงประเด็นจนถึงขั้นผิดไปเลย

จนกระทั่งการขึ้นบรรยายพิเศษ “แผ่นดินของเรา ในมุมมองความมั่นคง” ชี้ให้เห็นถึงการประกาศศึกกับพวกซ้ายดัดจริต พวกคอมมิวนิสต์เดิมหัวฝังชิพ และนักธุรกิจฮ่องเต้ซินโดรม (1) เป็นมากกว่าบุคลิกกล้าแสดงออก แต่เป็นคำอธิบาย “ภัยความมั่นคงของประเทศไทย”

ภัยความมั่นคงของประเทศไทยจากมุมมองของท่านมาจาก 3 องค์ประกอบ ซึ่งยังบอกอะไรต่อเราอีกหลายประการได้แก่

ประการที่หนึ่ง รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้เห็นภัยคุกคามอย่างที่ท่านและพรรคพวกเห็นหรือ

ประการที่สอง ภัยคุกคามที่ว่านี้ยังเป็นภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ผู้นำเหล่าทัพต่างๆ ก็ยังสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศคอมมิวนิสต์ กองทัพยังมีสายสัมพันธ์เป็นเครือข่ายทางการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศกับประเทศทั้งในระดับพรรคการเมือง สถาบันรัฐสภา

หน่วยงานด้านความมั่นคงที่เป็น Think Tank และทางการเมืองเช่นนี้ เราไม่รู้ว่ามีฝ่ายใดในกองทัพเห็นด้วยกับแนวคิดตามการบรรยายของท่านแค่ไหน

ในเบื้องต้น ผมไม่เชื่อว่า ผู้นำกองทัพบกคนนี้จะทวนกระแสทางนโยบายไปอยู่ในขั้วของชาติตะวันตก

แต่เป็นการทดสอบเครือข่าย กลุ่มที่นิยมชมชอบ และสร้างฐานความคิดอย่างน้อยๆ ต่อท่านผู้นำในช่วงต่อไป

ทัศนะดังกล่าวกระทบโดยตรงต่อรัฐบาลปัจจุบันไม่มากก็น้อย โดยต่อมาเป็นช่วงของความเงียบและการทำงานในกองทัพบกทั่วๆ ไปจนต้องรอดูว่าจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองใหม่ๆ ในปีหน้าอันอยู่ในช่วงนับถอยหลังสู่การเกษียณราชการหรือไม่

นี่เป็นความเปราะบางทางการเมืองทั้งจากภายในรัฐบาลและกองทัพที่ดำเนินอยู่แล้ว

————————————————————————————————————–
(1)”คสช. Gen.2 บิ๊กแดง นำทีม ผบ.เหล่าทัพ ยูนิตี้ จับตา กองทัพบิ๊กแดง จัดทัพรับศึกสภา” มติชนสุดสัปดาห์ 9-14 พฤศจิกายน 2562 : 15.