Fake News มหันตภัยร้าย ยิ่งกว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดน ?

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

Fake News มหันตภัยร้ายยิ่งกว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นคำที่นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ได้โยนระเบิด (28 พฤศจิกายน 2562 เวลา 14.00 น.) ในห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ท่านในฐานะคณะประสานงานระดับพื้นที่ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ชายแดนใต้ของกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยมี พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานการประชุม ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 กับคณะประสานงานระดับพื้นที่ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับคณะทำงานครั้งนี้ได้คัดเลือกทุกภาคส่วนไม่ว่าผู้นำด้านศาสนา และวัฒนธรรม 15 คน การศึกษา 15 คน นักวิชาการ 7 คน พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจ 9 คน เด็ก สตรีและเยาวชน 11 คน ยุติธรรม 6 คน และปกครองท้องถิ่น ท้องที่ 10 คน ซึ่งการประชุมหารือในครั้งที่สองนี้ ได้มีการเสนอแนะในที่ประชุมแบ่งเป็นประเด็นหลักๆ คือ การสร้างความเข้าใจในระดับพื้นที่ การสร้างสภาตำบล เพื่อสร้างความเข้าใจกลุ่มประชาชนและเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

และโดยเฉพาะด้านการจัดการ Fake News มหันตภัยใหม่ด้านความมั่นคงที่คอยเติมเชื้อไฟปัญหาชายแดนใต้ยิ่งกว่าผู้ก่อการที่ใช้ความรุนแรง

โดย พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ ได้รับฟังข้อมูล และชี้แจงแนวทางในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา พร้อมกับขอความร่วมมือในการให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งคณะทำงานประสานงานในระดับพื้นที่ที่ได้แต่งตั้งขึ้นมา ต้องร่วมดำเนินการตามบทบาทและหน้าที่ โดยเน้นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความต่อเนื่อง ภายใต้กลไกการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พุทธศักราช 2560-2562

และสุดท้ายคือการเปิดพื้นที่เพื่อแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงมาสู่การใช้แนวทางสันติวิธี โดยประชาชนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

คําว่า Fake News อาจจะดูแคบเกินไป เพราะอันที่จริงแล้ว Fake News ไม่ได้หมายถึงข่าวที่ไม่จริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่เป็นข่าวลวง ซึ่งเป็นมหันตภัยใหม่และรวดเร็ว

ความเป็นจริง Fake News มีมานานแล้วที่ชายแดนใต้ เช่น มีการปล่อยคลิปข่าวเท็จ กล่าวคือ กรณีที่มีผู้เผยแพร่คลิปในสื่อออนไลน์ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมผู้กู้ยืม กยศ.ต้องกู้ยืมผ่านธนาคารอิสลาม ทำไมไม่กู้ผ่านธนาคารออมสิน และหากยอมเปลี่ยนศาสนา แล้ว กยศ.จะยกหนี้ให้ จริงหรือไม่ (โปรดดูใน https://ejan.co/news/5ddce9934a302) ทำให้ในที่ประชุมครั้งนี้เห็นพ้องกันว่า จะต้องทำความจริงให้ปรากฏ หลังมีการอภิปรายในที่ประชุมอย่างเผ็ดร้อนมากกว่าวาระใดๆ

ซึ่งผลสุดท้ายในที่ประชุมเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานจะทำความจริงในเรื่องนี้ให้ปรากฏ เพื่อแก้ปัญหาที่มีใครนำไปขยายความเกลียดชังระหว่างพุทธ-มุสลิมให้เป็นการเติมเชื้อไฟใต้

หากมองข่าวนี้ที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ที่ชายแดนใต้นอกการประชุมยิ่งเห็นอารมณ์ของผู้คนมากมายจริงๆ ในขณะเดียวกันมีการตั้งคำถามว่าสังคมเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร เชื่ออะไรง่ายๆ หรือมันสะท้อนระบบการศึกษาไทย

ดร.วุฒิศักดิ์ พิศสุวรรณ ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า #การศึกษาของเราล้มเหลวจนน่าวิตก กล่าวคือ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความล้มเหลวในการสอนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณของระบบการศึกษาไทย เรื่องแค่นี้ยังกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศได้ทั้งๆ ที่ทุกคนควรคิดได้ว่าเป็นเรื่องโจ๊กของคนไม่สมประกอบ สติไม่อยู่กับร่องกับรอย แต่ดันกลายเป็นกระแสความตื่นตูมกันได้ทั้งประเทศ

ผมคิดว่าผู้บริหารไอแบงก์ต้องฟ้องนะครับ เพื่อเป็นอานิสงส์กระตุกต่อมคิดของคนไทย และเพื่อยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกป้องตนเองของธนาคาร

ฟ้องเพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยให้สังคมเข้าใจกันด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้สังคมได้ตระหนักร่วมกันว่าการให้ข่าวเท็จแบบมักง่าย ขาดความรับผิดชอบแบบนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมอารยะ

ถ้าไอแบงก์ (ธนาคารอิสลาม) ไม่ฟ้อง ผู้ถือหุ้นจะมีช่องทางไหนได้บ้าง ในการฟ้องผู้บริหารไอแบงก์ฐานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่

นางสาวลม้าย มะนาการ มองว่า นี่อาจจะเป็นความคับข้องใจของคนพุทธในพื้นที่ ที่ถูกสะสมความเจ็บปวดที่เขาคิดว่าถูกกระทำตลอดไฟใต้ ซึ่งท่านให้ทัศนะและเสนอแนะว่า

“ยังมีหลายเรื่องที่ดูจะต่อคิวให้ไม่เข้าใจกัน ถ้าเรามีฐานว่า ให้กลุ่มคนที่รู้สึกอึดอัด ระบายออกมาบ้าง ดิฉันจำได้ว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ (รายงาน กอส. 1ใน 9 ทางออก) ระบุว่า การเปิดพื้นที่ความเจ็บปวดได้แสดงตัวในพื้นที่สาธารณะ และมีกระบวนการจัดการที่เหมาะสม จะนำมาสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน เป็นห่วงมากค่ะ เรื่องพุทธ-มุสลิม ที่จะเป็น “ประเด็น” อยู่เรื่อยไป เราคุยกันแบบ interface ในคนระนาบเดียวกันบ้าง น่าจะเป็นทางเลือกทางไหม”

ในไลน์กลุ่ม “โครงการลดความเกลียดชังในสื่อ” ได้มองเห็นพิษภัยของ Fake News ที่จะยิ่งเพิ่มปัญหาชายแดนใต้ให้แก้ยากขึ้น หรืออาจจะยากกว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อาจจะควบคุมได้ แต่โรคสร้างความเกลียดชังของมวลชนสองฝ่ายอาจจะนำสู่สงครามประชาชน และมีการเสนอแนะว่า ต้องมีเวทีที่เรียกว่าพื้นที่กลางการพูดคุย

“Fake News ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เล่นประเด็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ Fake News นั้น มีอคติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คือเรื่องศาสนา ทำให้ Fake News มีประสิทธิภาพดังต้องตระหนักก่อนว่า Fake News เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ มาในรูปของข่าว เพราะข่าวขายความน่าเชื่อถือ ทำให้คนเชื่อ วางใจ บวกกับอคติในตัว ทำให้ Fake News ประสบความสำเร็จ มี 2 ประการคือ 1.ในเชิงโครงสร้าง ถ้า Fake News ถูกใช้เป็นเครื่องมือแบบนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผล ทุกคนในที่นี้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกันหมด จำเป็นต้องสร้างระบบ Fact Checking การตรวจสอบข้อมูลร่วมกัน ช่วยกัน ซึ่งทำประสบความสำเร็จในไต้หวัน เรียกว่า Co-Fact คือ ใครได้ข้อมูลอะไรมา ที่สงสัยว่าเป็น Fake News ช่วยกันตรวจสอบ แต่ต้องสร้างพื้นที่กลางเหมือนพื้นที่ห้องไลน์เรา เราเหมือนทำหน้าที่เป็น Co-Fact ใครมีข้อมูลอะไรส่งมาช่วยกันตรวจเช็ก 2.คือสร้างการรู้เท่าทัน Fake News อันดับแรก รู้เท่าทันอคติตัวเอง อคติเป็นตัวทำให้เราเชื่อไปง่าย เมื่อเรารู้เท่าทันอคติ เราจะมีสติ กับรณรงค์การให้ข้อมูลการรู้เท่าทัน Fake News วิธีเบื้องต้นในการตรวจจับ Fake News”

เป็นที่น่ายินดีว่า “Fact Checking” การตรวจสอบข้อมูลร่วมกันโดยพระผู้ใหญ่อย่างเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง เพราะเมื่อท่านทราบว่าข่าวนี้เป็น Fake News ได้ทำหนังสือด่วนเรื่อง ขอความร่วมมือระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ส่งผลเสียหายต่อบุคคลหรือองค์กร ทางสื่อสารข้อความในโลกออนไลน์ โดยเนื้อหาหนังสือดังกล่าว ถูกส่งรวดเร็วเช่นกัน

กล่าวคือ “เรียนเจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดปัตตานีทุกรูป ด้วยในสถานการณ์ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (3 จชต.) เป็นเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย ทั้งสร้างความหวาดระแวงความไม่ไว้วางใจกันในกลุ่มประชาชนในพื้นที่อย่างมาก อันเป็นผลมาจากสาเหตุหลายๆ ปัจจัย และในสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้ความขัดแย้งยิ่งเพิ่มมากขึ้น คือ การสื่อสารในโลกออนไลน์ที่เรียกกันว่า เฟซบุ๊ก, ไลน์, ข้อความ และการสื่อสารอื่นๆ ที่สามารถเผยแพร่เป็นสาธารณะได้อย่างกว้างขวางสู่ประชาชนทุกกลุ่มได้ง่าย ซึ่งส่งผลทั้งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม ทั้งเป็นโทษแก่สังคม แต่หากผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไม่ทำความเข้าใจถึงโทษและประโยชน์ให้ชัดเจน ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณชนอย่างมาก” (โปรดดู http://spmcnews.com/?p=22492)

สำหรับมุสลิมเองเช่นเดียวกันต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์และห้ามปรามคนฝั่งตนเองหากมี Fake News จากฝั่งมุสลิมด้วยเช่นกัน และมันคือข้อท้าทายร่วมกัน (โปรดดู http://spmcnews.com/?p=22640)

ความเป็นจริงประชาสังคมชายแดนใต้เริ่มทำเรื่องนี้มากขึ้นปีนี้และได้มีปฏิญญาเพื่อต่อต้านเฟกนิวส์ เรียกว่าปฏิญญาปัตตานี : เพื่อต่อต้านเฟกนิวส์ หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ห้องสะบารัง 2 โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี ในกิจกรรมแฮ็กกาธอนเพื่อศึกษาสถานการณ์ข่าวลวงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Deep South”s Fake News Situation Report) และเวทีสานเสวนานักคิดดิจิตอล เฟกนิวส์กับภัยคุกคามต่อการสร้างสันติภาพ ร่วมจัดและสนับสนุนโดย ดิจิตอลเพื่อสันติภาพ Digital 4 Peace สภาประชาสังคมชายแดนใต้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน Fnf Thailand และ Centre for Humanitarian Dialogue (HD)

สำหรับปฏิญญานี้ มีเนื้อหาว่า ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาข่าวลวงในโซเชียลมีเดีย พวกเราทุกคนจะรวมพลังกัน เพื่อลดปัญหาข่าวลวงข่าวปลอมที่เกิดขึ้น อย่างเต็มกำลังและศักยภาพ ดังนี้

1. ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกัน ในภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาควิชาการ สื่อท้องถิ่น และสถาบันศาสนา เพื่อสร้างความตื่นตัว สนใจในข้อมูลข่าวสาร ทั้งที่ใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน และข่าวที่เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะร่วมกันทำงานเพื่อรับมือ ติดตาม ตรวจสอบ รายงาน เผยแพร่ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ และรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม

2. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร สื่อสารสนเทศและดิจิตอล เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง เพื่อลดอคติและความเกลียดชัง พัฒนาประชาชนไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิตอล อันนำไปสู่การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพ

3. พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงานและนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม

4. เพิ่มพื้นที่กลางเพื่อการสื่อสารความจริงอย่างสร้างสรรค์และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้คนในสังคม

5. สนับสนุนการรวมพลังเพื่อผลักดันให้แพลตฟอร์มต่างๆ มีมาตรการในการลดการเกิดขึ้นของข่าวลวง ร่วมสกัดกั้นการแพร่กระจายของข่าวลวงอย่างรวดเร็ว

หากสามารถทำตามปฏิญญานี้ได้ “ด้วยความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นในการร่วมสร้างสื่อ และการสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืนและจะสามารถลดความเกลียดชังระหว่างกันได้”