‘ประธานป.ป.ช.’ ปลุกสังคมไม่ทนโกง ด้าน ทบ.-กรมที่ดิน คว้ารางวัลหน่วยงานโปร่งใส (ชมคลิป)

‘ประธานป.ป.ช.’ ปลุกสังคมไม่ทนโกง ‘ศาลยุติธรรม-ทบ.’ คว้ารางวัลหน่วยงานโปร่งใส

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล(ประเทศไทย)ขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดกิจกรรม”เดิน-วิ่ง เพื่อรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม ราษฎร์ – รัฐ ร่วมใจไม่เอา คอร์รัปชัน ครั้งที่ 2″ ภายใต้แนวคิด “GOOD GUY RUN 2019” เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการร่วมแสดงพลังความดีให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่าเราสามารถเริ่มต้นแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ด้วยตัวเราเอง ส่วนกิจกรรมในวันนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต และมอบรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ(ITA) ที่มีผลคะแนนสูงสุดในแต่ละประเภท รวม 34 หน่วยงาน ประกอบด้วย ประเภทองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) หน่วยงานที่ได้คะแนนสูงสุดคือ อบจ.แพร่ ประเภทเทศบาลตำบล(ทต.) ประกอบด้วย ทต.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน, ทต.ป่าสัก จ.ลำพูน, ทต.ดอนศิลา จ.เชียงราย, ทต.เวียง จ.เชียงราย, ทต.ริมปิง จ.ลำพูน, ทต.เวียงเทิง จ.เชียงราย, ทต.บะหว้า จ.สกลนคร และ ทต.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ประเภทองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ประกอบด้วย อบต.งิ้วราย จ.สิงห์บุรี, อบต.ห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่, อบต.วังเย็น จ.นครปฐม, อบต.เขารวก จ.ลพบุรี, อบจ.ห้วยหิน จ.ลพบุรี, อบต.โพธิ์เก้าต้น จ.ลพบุรี, อบต.คำโตนด จ.ปราจีนบุรี, อบต.อ้อมเกร็ด จ.นนทบุรี, อบต.สวนแตง จ.สุพรรณบุรี, อบต.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และอบต.เขาแหลม จ.ลพบุรี ประเภทจังหวัดได้คะแนนสูงสุดคือ จ.นครพนม ประเภทองค์กรศาลได้คะแนนสูงสุดคือ ศาลยุติธรรม ประเภทกรมหรือเทียบเท่า ประกอบด้วย กองทัพบก, กรมที่ดิน และสำนักงานกิจการยุติธรรม ประเภทรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ การกีฬาแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ประเภทองค์การมหาชน ประกอบด้วย สำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า กิจกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันสากล ในวันนี้มาจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อประสานพลังทุกภาคส่วนของประเทศในการป้องกันและปราบปราม การทุจริตให้เป็นผลสำเร็จไปสู่ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” รวมทั้งผลักดันสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต พร้อมเดินหน้าล่าโกง โดยการจัดงานวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ประกาศเจตจำนง ของผู้นำประเทศและผู้นำ ทุกภาคส่วน ในการป้องกันแก้ไขและปราบปรามการทุจริต 2.ผสานพลังคนไทยและทุกภาคส่วน ให้ตื่นรู้พร้อมต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ เพื่อให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต และ 3.ให้คนไทยและนานาชาติ รับรู้ถึงความมุ่งมั่นและการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหา การทุจริตในประเทศไทย เพื่อผลักดันการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (ค่า CPI) ให้สูงกว่าร้อยละ 50 ตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สังคมไทยเริ่มตื่นตัวตื่นรู้เกี่ยวกับภัยร้ายแรงของการทุจริต ประชาชนเริ่มไม่ทนต่อการทุจริต กล้าที่จะเปิดโปง การทุจริตมากขึ้นจะเห็นได้จากกรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ การเปิดโปงกรณีอาหารกลางวัน อาหารเสริมนมของนักเรียน เป็นต้น

จากนั้น นายฌูเลียน การ์ซานี ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (UNODC) ได้อ่านสาส์นเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลตอน หนึ่งว่า การทุจริตขัดขวางความพยายามของพวกเราในการสร้างโลกให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่เราก้าวเข้าสู่ทศวรรษแห่งความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่ได้กำหนดไว้เราจึงต้องเพิ่มความพยายามใน การขจัดการทุจริตและส่งเสริมธรรมาภิบาล ทั้งนี้ความก้าวหน้าที่โดดเด่นในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การกำหนดให้การทุจริตเป็นอาชญากรรม และการติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตกลับคืนมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากการอนุวัติการตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้แต่ละประเทศไปดำเนินการด้านนิติบัญญัติ เสริมสร้างความเข้มแข็งของแต่ละประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน