สุรชาติ บำรุงสุข | จากรัฐประหาร สู่รัฐบาลทหารเลือกตั้ง (3) ประเมินสถานะและอนาคตการเมืองไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ทำอย่างไรที่เราจะป้องกันไม่ให้ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของประชาธิปไตยจอมปลอม”

Paul Brooker

Twentieth-Century Dictatorships (1995)

ผู้นำทหารและบรรดาผู้นำปีกขวาในการเมืองไทยตระหนักดีว่าการจัดตั้งรัฐบาลทหารในแบบยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจรนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากเงื่อนไขทั้งภายนอกและภายในไม่เอื้อให้เกิดการจัดตั้ง “รัฐทหาร” เช่นในยุคสงครามเย็น

แต่ตัวแบบการเมืองไทยสมัยใหม่ที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับพวกเขาคือ การจัดตั้งรัฐบาลในแบบยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็น “ระบอบผสม” (หรือระบอบครึ่งใบ) และสามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนานถึงแปดปีเศษ

ดังนั้น รัฐบาลทหารจึงพยายามสร้างความเป็น “ระบอบอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง” (electoral authoritarianism) ให้เกิดขึ้น

และอาจเรียกในบริบทไทยว่า “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” เพราะการเมืองหลังเลือกตั้งยังถูกควบคุมโดยผู้นำทหาร

ระบอบพันทางของทหารไทย

การจะสร้าง “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” ให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น รัฐบาลทหารจำเป็นต้องแสวงหาหลักประกันของชัยชนะเพื่อการเป็นรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ฉะนั้น รัฐบาลทหารจะต้องสร้างเงื่อนไขทางการเมืองจากปัจจัยสำคัญต่างๆ ดังนี้

1) สร้าง “กลไกรัฐธรรมนูญ”

เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ และออกแบบให้การเมืองไทยในอนาคตมีรูปแบบเป็น “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) ที่ผสมผสานระหว่างระบอบการเลือกตั้งบางส่วนกับบางส่วนของระบอบอำนาจนิยมเข้าด้วยกัน หรืออาจเรียกว่าเป็น “ระบอบผสม” ในการเมืองไทย (ไม่ใช่ในความหมายของ “รัฐบาลผสม”) เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลทหารเดิมยังมีอำนาจในระบอบเลือกตั้ง การเลือกตั้งจึงไม่ใช่การแข่งขันทางการเมืองอย่างเสรี

2) สร้าง “กติกาและเงื่อนไขทางกฎหมาย”

เพื่อจำกัดบทบาทและการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน หรือรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้รัฐบาลทหารชนะและดูมีความชอบธรรมในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ (มีลักษณะคล้ายกับการออกแบบรัฐธรรมนูญของรัฐบาลทหารเมียนมา คือรัฐธรรมนูญถูกออกแบบเพื่อทำให้รัฐบาลทหารสามารถอยู่ในอำนาจต่อหลังจากการเลือกตั้งได้ แต่สุดท้ายรัฐบาลทหารเมียนมาแพ้เลือกตั้ง)

3) สร้าง “อำนาจต่อรองในรัฐสภา”

ด้วยการกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสมาชิกที่มาจากแต่งตั้งจำนวน 250 คนเพื่อเป็นฐานเสียงโดยตรงในรัฐสภา จนอาจกล่าวได้ว่าวุฒิสภาเป็นส่วนสำคัญของ “พรรคของระบอบทหาร” (หรืออาจเรียกง่ายๆ ในความเข้าใจของสังคมไทยว่า “พรรคทหาร”) ฐานเสียงในวุฒิสภาเป็นหลักประกันโดยตรงต่อการเลือกผู้นำทหารให้กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี และทำให้โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก

4) สร้าง “อำนาจในการควบคุมการทำนโยบาย”

ด้วยการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตจะไม่มีอำนาจในการกำหนดยุทธศาสตร์ของตัวเองได้ และต้องเดินไปตามกรอบและข้อกำหนดที่รัฐบาลทหารได้ออกแบบไว้เป็นระยะเวลา 20 ปี (ห้าสมัยของรัฐบาลเลือกตั้ง) ผลจากการกำหนดยุทธศาสตร์เช่นนี้ยังมีสถานะเป็นข้อบังคับทางกฎหมายที่รัฐบาลที่ไม่ดำเนินการอาจต้องรับโทษทางอาญา เมื่อยุทธศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือของการใช้อำนาจของทหารในการควบคุมทางการเมืองของประเทศ สิ่งที่จะตามมาคือความล้มเหลวในการกำหนดนโยบายทางยุทธศาสตร์ เพราะจะไม่เกิดการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศได้จริง

5) สร้าง “กลไกทหารใหม่”

ในเวทีการเมืองรองรับการเปิดการเลือกตั้งด้วยการปรับสถานะเพื่อเสริมสร้างบทบาทใหม่ของ กอ.รมน. บทบาทใหม่เช่นนี้ทำให้มีลักษณะเป็นดัง “กระทรวงความมั่นคงภายใน” ที่มีอำนาจในงานความมั่นคงอย่างกว้างขวาง ผลจากการปรับบทบาททำให้เกิดสภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” และใช้เป็นกลไกในการควบคุมทางการเมืองในสังคมไทย การปรับ กอ.รมน. ทำให้คณะรัฐประหารเดิม ที่แม้จะเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็น “รัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้ง” ยังมีองค์การทหารที่มีอำนาจทางกฎหมายในการทำหน้าที่ให้แก่รัฐบาลในทางการเมืองและสังคม

ผลสืบเนื่องอย่างสำคัญจะทำให้การลดบทบาททางการเมืองของทหารเป็นไปได้ยาก และทหารจะมีอำนาจโดยมีกฎหมายรองรับ

6)สร้าง “อำนาจของทหารในการเมือง”

ด้วยการอาศัยกองทัพเป็นแกนกลางในการค้ำประกันการอยู่รอดของรัฐบาลทหาร ดังจะเห็นได้ว่ากองทัพมีบทบาททางการเมืองอย่างมากนับตั้งแต่จากช่วงรัฐประหารจนถึงช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้กองทัพยังจะต้องมีบทบาททางการเมืองต่อไป

ผลเช่นนี้ทำให้แนวคิดเรื่อง “การถอนตัวของทหารจากการเมือง” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก และมีนัยสืบเนื่องที่ทำให้ “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ในอนาคตมีความยุ่งยากในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

และในอีกด้านของปัญหา การดำรงอยู่ของบทบาทของกองทัพในการเมืองไทยจะทำให้ความสำเร็จของการผลักดันเรื่อง “การปฏิรูปกองทัพ” แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

และความหวังที่จะก่อให้เกิด “กระบวนการสร้างความเป็นทหารอาชีพ” และ “การปฏิรูปกองทัพ” กลายเป็นความยากลำบากในทางการเมืองอีกประการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

7) สร้าง “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง”

เพื่อเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐบาลทหารสามารถสืบทอดอำนาจได้อย่างชอบธรรม หรือในทางทฤษฎีเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า “ระบอบพันทาง” (คือเป็น “ระบอบอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง”) ระบอบนี้จำเป็นต้องอาศัยกลไกการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรม ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้นำรัฐประหารจะต้องหันกลับไปหา “รูปแบบรัฐบาลเลือกตั้ง” ที่พวกเขาโค่นล้มในปี 2557 และขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องสร้างพรรคการเมือง (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า “regime party”) รองรับการสร้างระบบนี้ และ “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” นี้จะเป็นหลักประกันโดยตรงต่อการคงอำนาจของรัฐบาลทหารในอนาคต เพราะการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารในแบบเดิมไม่อาจทนแรงกดดันทางการเมืองได้อีกต่อไป

8) สร้าง “อำนาจทางเศรษฐกิจ”

ของระบอบอำนาจนิยมของทหารด้วยการผนวกกำลังระหว่าง “ปืน” กับ “เงิน” การผนวกอำนาจทางทหารของกองทัพกับอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนใหญ่เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่ความสำเร็จของรัฐประหาร 2557 และเป็นที่รับรู้กันว่ากลุ่มทุนเป็นพลังสำคัญของการสนับสนุนระบอบทหาร ซึ่งต่างจากในอดีตที่รัฐประหารอาจจะเป็นผลจากการต่อสู้ระหว่าง “ทุนขุนศึก” สองกลุ่ม ที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนของผู้นำทหารสองคนจะกลายเป็นการแข่งขันทางการเมืองไปโดยปริยาย เช่น การแข่งขันระหว่าง “กลุ่มทุนสายราชครู” (ที่มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้นำ) กับ “กลุ่มทุนสายสี่เสาเทเวศร์” (ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ) ในยุคก่อนปี 2500

แต่ปัจจุบันกลุ่มทุนใหญ่เติบโตและไม่ได้อยู่ภายใต้ผู้นำทหารเช่นในอดีต หากแต่เป็นพลังที่ผู้นำทหารต้องพึ่งพา การสนธิกำลังระหว่าง “ขุนศึก” กับ “ทุน” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นทุนใหญ่ด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้อำนาจของทหารในการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น

การผนวกกำลังเช่นนี้จะเป็นอุปสรรคในการสร้างประชาธิปไตยไทย เพราะกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้มีทิศทางที่สนับสนุนพรรคของระบอบทหาร มากกว่าการสนับสนุนพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

นอกจากนี้ เห็นได้ชัดว่ามิใช่เป็นเพียงการเป็นพันธมิตรระหว่างกองทัพกับทุนใหญ่ที่มีลักษณะผูกขาดเท่านั้น หากยังเป็น “สามประสาน” ระหว่างชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มทุนใหญ่

อันจะส่งผลให้การสร้างประชาธิปไตยไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น

9) สร้าง “รัฐราชการ”

เพื่อเป็นกลไกในการบริหารราชการของระบอบทหาร จนอาจกล่าวได้ว่าฐานล่างของการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลทหารนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาระบบราชการพลเรือน (และในอีกด้านพึ่งพาระบบทุนเอกชนรายใหญ่) เพราะทหารไม่มีขีดความสามารถในการทำเรื่องเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง

เพราะโดยหลักการแล้ว นายทหารถูกผลิตขึ้นเพื่อรับภารกิจในการป้องกันประเทศ ไม่ใช่ถูกสร้างเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารรัฐสมัยใหม่ การเมืองในระบบนี้จึงอยู่ภายใต้การกำหนดนโยบายของระบบราชการ มากกว่าจะเป็นการสร้างนโยบายผ่านพรรคการเมือง

นอกจากนี้ เห็นได้ชัดถึงความเป็น “รัฐบาลรัฐราชการ” ของรัฐไทยปัจจุบัน เช่น ข้าราชการตั้งแต่ในระดับล่างขึ้นไปถึงระดับสูงในคณะรัฐมนตรี จนถึงนายกรัฐมนตรี ล้วนปรากฏตัวตนในที่สาธารณะด้วยการใส่เครื่องแบบราชการ ซึ่งต่างจากคณะรัฐมนตรีในยุครัฐบาลเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีในรัฐราชการ

จึงมีสถานะเป็นดัง “หัวหน้าข้าราชการอันดับ 1” และแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เขาไม่ได้เป็น “ตัวแทนของประชาชน” แต่เป็นตัวแทนของระบบราชการ

10)สร้างการ “โฆษณาชวนเชื่อ”

ทางการเมืองเพื่อโน้มน้าวจิตใจของผู้คนให้เชื่อและคล้อยตามไปกับการสร้างวาทกรรมของรัฐบาลทหาร

ซึ่งว่าที่จริงแล้ว การโฆษณาชวนเชื่ออาจจะถูกใช้ในความหมายของ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (ปจว.) ซึ่งเป็นงานที่กองทัพคุ้นเคยมาตั้งแต่ยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ทั้งยังมีเครื่องมือ บุคลากร และกลไกที่จะทำให้ปฏิบัติการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ การโฆษณาเช่นนี้ถูกเรียกด้วยภาษาสมัยใหม่ว่า “ปฏิบัติการข่าวสาร” (IO)

แต่โดยเนื้อแท้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงงาน ปจว. ของทหารที่มาพร้อมกับสื่อใหม่ (สื่อโซเชียล) และขอเรียกสิ่งนี้ว่า “ปจว. ยุค 4.0”

ปฏิบัติการนี้มุ่งหวังผลโดยตรงในการสร้างการสนับสนุนต่อฝ่ายทหาร และอีกส่วนถูกใช้เพื่อการทำลาย/โจมตีระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และมาถึงรัฐประหาร 2557 แล้ว ปีกอนุรักษนิยมตลอดรวมถึงกลุ่มขวาจัดในกองทัพมีท่าทีที่ชัดเจนในการต่อต้านประชาธิปไตย ต่างกับกองทัพในยุคคำสั่ง 66/2523 ที่ทหารยอมรับประชาธิปไตย แต่ก็อาจเป็นการยอมรับภายใต้แรงกดดันของสงครามคอมมิวนิสต์

จนอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า เมื่อไม่มีภัยคุกคามของสงครามคอมมิวนิสต์แล้ว ทหารก็ไม่จำเป็นต้องยอมรับประชาธิปไตย อีกทั้งการโฆษณาทางการเมืองจะยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนต่อการกำเนิดและคงอยู่ของระบอบทหารที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

11) สร้าง “เสนาประชานิยม”

หรืออีกนัยหนึ่งคือการสร้าง “ประชานิยมของระบอบทหาร” โดยการเลียนแบบความสำเร็จของรัฐบาลเดิมที่ประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายประชานิยมในการสร้างความสนับสนุนจากประชาชน และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้พรรคของรัฐบาลดังกล่าวได้รับเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งอย่างมาก

ดังนั้น หลังจากรัฐประหาร 2557 แล้ว รัฐบาลทหารจึงมีความชัดเจนในการผลักดันนโยบายประชานิยม เพื่อหวังจูงใจให้ประชาชนหันมาสนับสนุนรัฐบาล

ฉะนั้น รัฐบาลทหารที่มีจุดยืนในการต่อต้านนโยบายประชานิยมในตอนต้น แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว กลับพบว่ารัฐบาลทหารและรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งกลับมีนโยบายประชานิยมอย่างมาก

เช่น การแจกเงินที่อยู่ในรูปของการทำโครงการต่างๆ และนโยบายประชานิยมแบบแจกเงินเช่นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความสำเร็จอย่างเป็นจริงในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แม้อาจจะทำให้รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งได้รับเสียงสนับสนุนจากการกระทำเช่นนี้อยู่บ้าง

และด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังประสบปัญหา ทำให้เกิดคำถามว่า ประชานิยมแบบแจกเงินของรัฐบาลจะดำเนินการไปได้นานเพียงใด และเป็นนโยบายที่มีความเหมาะสมในการแก้ปัญหาของประเทศเพียงใด

12) สร้าง “อุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตย”

ชุดความคิดของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมสุดโต่งมีความชัดเจนที่ไม่ยอมรับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และมีทัศนะต่อต้านนักการเมือง พรรคการเมือง และการเคลื่อนไหวทางการเมือง (โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายและฝ่ายเสรีนิยม)

ความคิดเช่นนี้เรียกตามตัวแบบของการเมืองในละตินอเมริกาในยุคของรัฐบาลทหารว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology) และมีทัศนะที่ต้องการให้ทหารเป็นรัฐบาล ไม่ใช่นักการเมือง และมองว่าการเลือกตั้งเป็น “สิ่งชั่วร้าย” ที่ไม่ควรสนับสนุน

อุดมการณ์ชุดนี้มีทัศนะเชิงลบอย่างมากกับการเลือกตั้ง มองเห็นแต่ด้านร้าย และปฏิเสธที่จะยอมให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือตัดสินในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ในบริบทของไทย

ทัศนคติเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนในกลุ่มการเมืองขวาจัด ทั้งมีการสร้างอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยที่ปรากฏในรูปแบบต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการเมืองไทยไปในทิศทางขวา… และขวาจัดเท่านั้น!