เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | สัมผัสรัดร้อย

สัมผัสของกาพย์กลอนนั้นเป็นหัวใจของฉันทลักษณ์ทั้งหมดก็ว่าได้

ในความหมายอย่างแคบก็คือ สัมผัสนอก สัมผัสใน ซึ่งมีสัมผัสสระกับสัมผัสอักษร เป็นต้น

ในความหมายอย่างกว้างก็คือ สัมผัสความในลักษณะคำเชื่อมความ และสัมผัสใจ เป็นต้น

พจนานุกรมให้ความหมายศัพท์คำ “สัมผัส” ว่า “ถูกต้อง แตะต้อง กระทบกัน” เป็นคำกริยาโดยตรง

ฉันทลักษณ์ของกาพย์กลอนมี “สัมผัส” นี่แหละเป็นหลัก เพราะกาพย์กลอนคือคำร้อยกรอง คำที่จะนำมาร้อยกรองจึงต้องเป็นคำที่เชื่อมร้อยกัน คือ แตะต้องกัน กระทบกัน หรือสัมผัสกันนั่นเอง

ปราศจากสัมผัสเสียแล้วก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกาพย์กลอน

คําฉันทลักษณ์นั้น โดยศัพท์แยกได้เป็นฉันทะ แปลว่า พอใจ

ลักษณะ แปลว่า แบบหรือรูปแบบ

ความหมายโดยรวมของคำฉันทลักษณ์จึงหมายถึง “รูปแบบที่พอใจ” คือเป็นที่พอใจของผู้เขียน เป็นที่พอใจของผู้อ่าน

ซึ่งรับรองด้วยการดำรงอยู่ในช่วงกาลเวลาหนึ่ง

โคลง ฉันท์ กาพย์กลอน ร่าย ลิลิต เป็นกาพย์กลอนที่มีฉันทลักษณ์กำหนดเป็นเฉพาะเป็นที่ยอมรับสมบูรณ์พร้อมด้วยการยอมรับทั้งสามส่วนนั้นแล้ว เป็นรูปแบบที่ชอบ (ฉันทลักษณ์) ของทั้งผู้แต่ง ผู้อ่าน ตลอดกาลเวลาที่ผ่านมา

เป็นฉันทลักษณ์หลากหลาย อันกำหนดไว้ในแต่ละประเภท

ฉันทลักษณ์มิใช่ข้อจำกัดตายตัว ผู้แต่งอาจสร้างฉันทลักษณ์ใหม่ได้เสมอตามที่พอใจ กระทั่งเป็นที่พอใจของผู้อ่านในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ถือเป็นฉันทลักษณ์ คือ “รูปแบบที่พอใจ” หนึ่งได้เช่นกัน

ดังเวลานี้มีคำ “แร็พ” เป็นต้น

วันหนึ่งก็อาจมีประเภทของคำประพันธ์เพิ่มเป็น “โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย แร็พ” ก็ได้…ทำไม…จะไม่ล่ะ

คํากาพย์กลอนหรือร้อยกรองนี่ก็น่าสนใจ ด้วยมีความหมายเดียวกัน คือ คำกาพย์นั้นมาจากศัพท์ว่า “กาวยะ” อันเป็นคำเดียวกับคำ “เคยยะ” มีในคัมภีร์นวางคสัตถุศาสตร์ คือวิธีการเผยแผ่ธรรมด้วยกลวิธีเก้าประการ อันมี “เคยยะ” หรือ “เกวยะ” อยู่ด้วย

เกวยะนี่แหละคือ กาวยะ หรือคือกาพย์นั่นเอง

กาพย์กับกลอนนั้นน่าจะมีความหมายเดียวกันคือ คำร้อยกรอง ทั้งร้อยทั้งกรองนี่แหละเป็นการนำคำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน คำ “กรอง” นี้หมายถึงการเลือกสรรคำที่จะนำมาเรียงร้อยเพื่อให้ได้ความสละสลวยไพเราะ ดังคำว่า “สัมผัส” กัน คือถูกต้อง แตะต้องกัน กระทบกัน ตามความหมายของสัมผัสนั้น

คำว่า “กลอน” นี้ดูจะเป็นคำไทยแท้ อันหมายถึงการสอดสลักหรือสอดรับกัน ดังเรานำมาเป็นชื่อของสลักกลอน เช่น กลอนประตู หน้าต่าง เป็นต้น

ตรงนี้ขอแทรกเรื่อง ครั้งหนึ่งเพื่อนพาไปกินอาหารร้านโปรด เพื่อนแนะนำเรากับเจ้าของร้านว่า “นี่เป็นนักแต่งกลอน” ครั้นถึงตอนกลับ เจ้าของร้านใจดีเดินมาส่งหน้าร้านแล้วถามเป็นส่วนตัวกับเราว่า

“เปิดร้านอยู่ไหนล่ะ”

แกคงปรารถนาดีจะช่วยสนับสนุนจ้างทำกลอนประตูร้านใหม่นั่นแหละนะ

กลับมาเรื่องกลอนในความหมายถึงการสอดรับหรือสอดคล้องต้องกัน คำนี้ใช้ในวงการดนตรีไทยด้วย คือคำว่า “ผูกกลอน” หมายถึงการแต่งทำนองให้สอดรับกัน บางทีใช้คำว่า “ทาง” คือแต่งท่วงทำนองมีสุ้มเสียงและลีลาเป็นกระบวนขึ้นมา มีทั้งแต่งเป็นแบบแผนไว้และแต่งสดขึ้นมา ดังศัพท์สากลเรียกอิมโปรไวซ์ (improvise) คือแต่งสดเป็นกลอนด้นสดประมาณนั้น

นี่แหละกลอนหรือร้อยกรองในรูปแบบของคำประพันธ์ที่เรียกว่ากาพย์กลอน

องค์ประกอบสำคัญยิ่งของกาพย์กลอนก็คือ สัมผัส หน้าที่สำคัญของสัมผัสที่แท้จริงคือการกำหนดจังหวะของคำประเภทนั้นๆ

เช่น สัมผัสนอก คือสัมผัสระหว่างบรรทัด เป็นตัวกำหนดบท

สัมผัสใน คือสัมผัสในบรรทัด เป็นตวกำหนดช่วงวรรค

ดังกลอนเพลงปี่พระอภัยของท่านสุนทรภู่

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต

ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง

ว่าจากเรือนเหมือนนกที่จากรัง

อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

คำจิต-คิด-หวัง-รัง-หลัง เป็นคำสัมผัสนอกที่กำหนดไว้เป็นหนึ่งบทกลอน อันมีสี่วรรค ซึ่งมีทั้งคำเชื่อมท้ายวรรคและระหว่างวรรค

จิต-คิด เป็นคำเชื่อมระหว่างวรรค

หวัง-รัง เป็นคำเชื่อมท้ายวรรค

รัง-หลัง เป็นคำเชื่อมระหว่างวรรค

เป็นจบบทกลอนหนึ่งๆ เพียงเท่านี้ อันกำหนดรู้ได้ด้วยสัมผัสนี้เองคือ

สัมผัสนอก