เกษียร เตชะพีระ : อ่านชาวนาการเมือง (จบ)

เกษียร เตชะพีระ
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ผมใคร่สรุปจบชุดบทความปริทัศน์เกี่ยวกับหนังสือ ชาวนาการเมือง : อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย (พ.ศ.2559) ของ แอนดรู วอล์คเกอร์ ในลักษณะ “วิจารณ์แห่งวิจารณ์” โดยเปรียบเทียบกับงานวิชาการที่พินิจพิเคราะห์การเมืองในชนบทไทยจากมุมมองอื่นดู

วอล์คเกอร์ได้วิจารณ์การมองการเมืองในชนบทไทยจากมุม “การเมืองภาคประชาชน” โดยผ่านการเคลื่อนไหวประท้วงของสมัชชาคนจนและองค์กรเกษตรกรชายขอบคล้ายกันอื่นๆ ที่ทำ “สงครามแย่งชิงรายได้ปานกลางในภาพรวมได้ เพราะเกษตรกรชายขอบเป็นแค่คนส่วนน้อยของสังคม การเคลื่อนไหวประท้วงของพวกเขาแม้จะเป็นข่าวฮือฮาโด่งดัง แต่เอาเข้าจริงแคบเล็กเกินกว่าที่จะแทนตนสังคมชนบทไทยโดยรวม (ชาวนาการเมือง, น.21-26)

นอกจากนี้ ในอีกที่หนึ่ง วอล์คเกอร์ได้เถียงเสียงแข็งโต้แย้งดักคอคำวิจารณ์ที่อาจมีต่องานศึกษาวิจัยเชิงมานุษยวิทยาของเขาว่า

“แน่นอนว่าคงเป็นเรื่องน่าขันที่จะเสนอว่า ชีวิตในหมู่บ้านแห่งเดียวสามารถอธิบายความเคลื่อนไหวใหญ่โตซึ่งก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งประเทศได้อย่างสมบูรณ์ แต่เราไม่ควรลืมคำกล่าวเก่าแก่ซึ่งเป็นความจริงแบบกำปั้นทุบดินที่ว่า นักมานุษยวิทยานั้นไม่ได้ศึกษา (แค่) หมู่บ้าน แต่พวกเขาศึกษาอยู่ในหมู่บ้าน (ต่างหาก)…” (ชาวนาการเมือง, น.6 ข้อความในวงเล็บเติมโดยผู้เขียน)

ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตามโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

กระนั้นก็ตาม ธรรมชาติของงานศึกษาวิจัยทางวิชาการทั้งหลายนั้นก็ไม่ต่างไปจากจอภาพทีวีที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม กล่าวคือ มันคว้าจับ/ยึดกุม (capture) ความจริงได้เฉพาะแค่บางส่วน โดยจำต้องตัดทอน (edit out) ความจริงส่วนอื่นออกไป มันเพ่งเล็งรวมศูนย์จ้องจับขับเน้นส่องขยาย (focus) ความจริงได้บางด้าน โดยจำเป็นอยู่เองที่ต้องปล่อยปละละเลยความจริงด้านอื่นให้พร่าเลือนไป เพราะย่อมเหลือวิสัยที่งานวิชาการหรือจอทีวีที่ไหนจะถ่ายทอดความจริงออกมาอย่างเบ็ดเสร็จสากลถี่ถ้วนสัมบูรณ์ได้เป็นธรรมดา

สำหรับจอภาพ “ชาวนาการเมือง” ของวอล์คเกอร์ มันส่องเห็นความจริงระดับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แล้วขยายความ (generalize) ไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ประกอบกับข้อมูลสถิติเศรษฐกิจสังคมมหภาคเพื่อให้ภาพรวมระดับประเทศ

คำถามที่น่าสนใจคือ จอภาพของวอล์คเกอร์ที่ว่านี้ ไม่เห็นอะไรบ้าง?

ความจริงของพหุการเมืองไทยในแง่อื่นไหนระดับอื่นใดบ้างที่ตกกรอบออกนอกจอภาพของวอล์คเกอร์ไป?

โดยหยิบยกงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “Bosses, Bullets and Ballots : Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011” (ค.ศ.2013 ทำที่ The Australian National University) ของอาจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ

ผมใคร่เสนอว่างานชาวนาการเมืองของวอล์คเกอร์มองไม่เห็นความจริงของเศรษฐกิจ-การเมือง-และความรุนแรงในการเลือกตั้งระดับจังหวัดที่ผันแปรไปตามช่วงเวลาและพื้นที่ต่างๆ ในสังคมไทย

 

อาจารย์ประจักษ์เก็บข้อมูลจากการเลือกตั้งทั่วไป 12 ครั้งจากปี ค.ศ.1979-2011 ซึ่งปรากฏว่า (อ้างอิงจาก Prajak, p.121, 173) : (ดูตาราง)

โดยที่เหยื่อผู้บาดเจ็บล้มตายส่วนใหญ่ 80-90% เป็นหัวคะแนน; ส่วนผู้บงการจ้างวานให้ลงมือได้แก่ เจ้าพ่อ; และคนฆ่าคือ มือปืนรับจ้าง

ประเด็นก็คือ ความเป็นจริงของเหตุรุนแรงในการเลือกตั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจการเมืองระดับจังหวัดข้างต้นทั้งหมดนี้เกือบ 500 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บล้มตายกว่า 400 คนในรอบ 32 ปี กลับไม่ปรากฏให้เห็นเป็นจุดสำคัญในจอภาพชาวนาการเมืองของวอล์คเกอร์เลย!?!?

อนึ่ง เพื่อให้การศึกษาครอบคลุมจังหวัดที่มีลักษณะเหตุรุนแรงแตกต่างกันและทั่วทุกภูมิภาค อาจารย์ประจักษ์ได้เลือกลงพื้นที่วิจัยเจาะลึกเปรียบเทียบ 6 จังหวัดด้วยกัน กล่าวคือ :

– จังหวัดที่เกิดเหตุรุนแรงในการเลือกตั้งมาก : แพร่, นครสวรรค์, นครศรีธรรมราช

– จังหวัดที่ไม่ค่อยเกิดเหตุรุนแรงในการเลือกตั้ง : เพชรบุรี, บุรีรัมย์, สระแก้ว

ซึ่งมีจังหวัดที่เป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบครอบคลุมทั้งภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคใต้, และอีสาน

AFP PHOTO / MADAREE TOHLALA

สำหรับตัวแปรอิสระในระดับประเทศที่ส่งผลต่อความรุนแรงในการเลือกตั้ง อาจารย์ประจักษ์ดูที่ :-

รูปแบบรัฐ : ว่าเป็นรัฐราชการอุปถัมภ์ หรือรัฐคณาธิปไตยอุปถัมภ์ (patrimonial administrative state or patrimonial oligarchic state)

– ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐส่วนกลางกับรัฐท้องถิ่น : โดยเฉพาะการเริ่มจัดตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งในระดับต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ 2540

– ระบบพรรคการเมือง : โดยเฉพาะพรรคทักษิณ-ไทยรักไทย ซึ่งเปลี่ยนเกมการเมืองไทยเสียใหม่ จาก [การเมืองเรื่องมุ้งที่ครอบงำโดยเจ้าพ่อ] ไปเป็น → [การเมืองเรื่องนโยบายที่ครอบงำโดยพรรคภายใต้การนำของผู้นำประชานิยม] แทน

ระบบเลือกตั้ง : จากแบบ [รวมเขตเรียงเบอร์] → [แบ่งเขตเบอร์เดียว+บัญชีรายชื่อพรรค]

AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL. / AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ขณะที่ในระดับจังหวัด ตัวแปรอิสระที่อาจารย์ประจักษ์พิจารณาได้แก่ :-

เศรษฐกิจ : จังหวัดใดมีกิจกรรมเศรษฐกิจผิดกฎหมาย, มีธุรกิจผูกขาดที่เรียกเก็บค่าเช่าเศรษฐกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง, มีอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ เหมืองแร่, หรือมีอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งใบอนุญาต/สัมปทานรัฐ → มีแนวโน้มเลือกตั้งรุนแรง

การเมือง : จังหวัดใดอำนาจผูกขาดตกอยู่กับเจ้าพ่อคนเดียวหรือตระกูลเดียว (monopoly of power) –> มีแนวโน้มเลือกตั้งไม่รุนแรง; จังหวัดใดอำนาจอยู่ในมือกลุ่มคณาธิปไตยบางกลุ่มที่ประชันขันแข่งกันชิงฐานะผูกขาดเป็นใหญ่ (oligarchy) หรืออำนาจแตกเป็นเสี่ยงๆ เนื่องจากเจ้าพ่อผูกขาดเดิมล่มสลายลง (fragmentation) → มีแนวโน้มเลือกตั้งรุนแรง

แล้วอะไรคือนัยทางการเมืองของวิทยานิพนธ์เรื่อง “เจ้าพ่อ, กระสุนปืนกับบัตรเลือกตั้ง” ของอาจารย์ประจักษ์?

ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตามโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ผมใคร่ขอลองตีความต่อว่า อาจจะมี 2 ประเด็นสำคัญน่าสนใจ กล่าวคือ :

1) มองอย่างสมจริง สิ่งที่เราพึงคาดหวังได้สำหรับการเมืองไทยในอนาคต คงไม่ใช่การเปลี่ยนจากระบบเผด็จการทหาร โดยผ่านการเลือกตั้งไปเป็น→ ประชาธิปไตย แบบรวบรัดง่ายดาย; หากเป็นอย่างนี้ต่างหากคือ…

เปลี่ยนจาก [รัฐราชการอุปถัมภ์ภายใต้ คสช.] โดยผ่านการเลือกตั้งไปเป็น → [รัฐคณาธิปไตยอุปถัมภ์ภายใต้นักการเมือง]

2) การเมืองของขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาคประชาชนทั้งหลาย หากยังมัวยึดติดแต่การเมืองเรื่องเดียวประเด็นเดียว (single-issue politics) ที่ตนถนัดและยึดครองเป็นเจ้าของ (เช่น สิ่งแวดล้อม, สิทธิผู้บริโภค, เสรีภาพสื่อ, สิทธิเสมอภาคของสตรี ฯลฯ) แล้ว ก็จะฝ่อเฉาอับตัน ไม่มีอนาคต

ดังที่จำนวนไม่น้อยเข้าร่วมเสพรับอำนาจอามิสลาภสักการะในสภาและคณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งต่างๆ หลังรัฐประหาร มิไยว่าสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของประชาชนภายนอกจะถูกลิดรอน

หากควรเปลี่ยนย้ายไปผลักดันการเมืองเพื่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนสากลของพลเมืองทุกกลุ่มทุกคนอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้ากันแทน