หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ /’พาหนะ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - เสือโคร่งใช้วิธีการซุ่มรอเหยื่อ เป็นทักษะในการล่าที่ได้ผล

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘พาหนะ’

ด้วยเหตุผลหลายประการ และเป็นหนึ่งใน “เครื่องมือ” จำเป็น ผมจึงต้องใช้รถยนต์ซึ่งอยู่ในประเภทขับเคลื่อนสี่ล้อ
เหตุผลสำคัญคือ เพื่อให้มันพาผมไปสู่จุดหมายโดยผ่านเส้นทางทุรกันดารไปให้ได้
ในยุคเริ่มแรก และเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อคันแรกของผม มีชื่อว่า “เจ้าเม่น”
เจ้าเม่นคือ “รถในฝัน” ของคนทำงานในป่า และพวกมันก็เป็นพาหนะคู่ใจพวกเขามาตลอดจนถึงตอนนี้ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมากว่า 30 ปี
พวกมันคือรถประกอบจากโรงงาน ขับเคลื่อนสี่ล้อ “แท้ๆ” ช่วงล่างเป็นคานแข็ง รุ่น LN 106
หรือซึ่งในสมัยหนึ่ง เราเรียกอย่างคุ้นชินว่า “รถป่าไม้”
ดูคล้ายกับว่า รถรุ่นนี้โลดแล่นมาคู่กับคนทำงานในป่า มีส่วนสำคัญอย่างมากกับการทำงานในป่าอนุรักษ์มาเนิ่นนาน
เจ้าเม่นในสภาพเดิมๆ “เก่ง” กว่ารถอื่นๆ กระนั้นก็เถอะ ผมยังต้องเสริมเครื่องมืออย่างวินช์ หรือรอกติดหน้ารถให้มัน ด้วยเพราะพบว่าเส้นทางที่ต้องใช้ประจำนั้น หลายครั้งต้องมี “ตัวช่วย”
แต่จะด้วยความเขลา, รู้น้อย, กิเลส หรืออะไรก็แล้วแต่
ผมอยากได้รถรุ่นใหม่ จึงขายเจ้าเม่น
นั่นคือความผิดพลาดชนิดไม่สมควรอภัย
ความผิดพลาดนี้ ตอกย้ำผมในตอนทำงานในป่าตะวันตกยาวนาน
รถคันล่าสุดที่ชื่อ เจ้านิค ผมต้องเปลี่ยนช่วงล่างให้เป็นคานแข็งอย่างเจ้าเม่น เพื่อให้สัญจรบนเส้นทางได้
รถที่มีสมรรถนะแบบเจ้าเม่นนั้น โรงงานไม่ผลิตอีกต่อไป
ทำงานในป่า เพียงแค่เรื่องพาหนะ ก็ทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่า
บางที “โลก” ปัจจุบัน ไม่ “เอื้อ” นักกับวิถีทางแบบเก่าๆ แล้ว…

ปรับเปลี่ยนช่วงล่างเจ้านิคให้เป็นแบบเดียวกับเจ้าเม่น รวมทั้งเพิ่มอุปกรณ์สำคัญอย่างวินช์ เพื่อให้มันมีสมรรถนะเพียงพอนำพาไปถึงจุดหมาย
วินช์คือเครื่องมือที่ช่วยเราได้บ่อยๆ เมื่อรถติดหล่ม ขึ้นเนินชันไม่ไหว นำสลิงไปคล้องต้นไม้ และม้วนสลิงกลับดึงรถขึ้น
วินช์ช่วยเราหลายครั้ง แต่หลายครั้งเช่นกันที่วินช์ไม่ทำงาน มันเป็นอุปกรณ์ “สมัยใหม่” ที่บอบบาง ไม่เหมาะนักกับสภาพสมบุกสมบัน
ทักษะเดิมๆ ของคนที่ถ่ายทอดกันมา ในการนำรถขึ้นจากหล่ม เช่น การกระดี่ จำเป็น
การเดินทางในป่า เรื่องวางแผนให้ดีนั้น ต้องทำ เราหลีกเลี่ยงการเดินทางลำพัง ต้องขนอุปกรณ์ รวมทั้งเสบียงของหน่วยที่จะผ่านไปด้วย
คนโดยสารมาบนรถทุกคนรู้หน้าที่ดี แม้บางคนขับรถไม่เป็น แต่เขาสัญจรบนเส้นทางนี้มานาน นั่งโดยสารมากับคนขับเก่งๆ มีประสบการณ์ รู้หล่ม รู้ร่อง รู้ด้วยว่า ช่วงไหนต้องเร่ง ช่วงไหนต้องผ่อน
และทุกคนจะรู้วิธีนำรถขึ้นจากหล่ม เด็กใหม่เฝ้ามอง หรือถูกใช้ให้ไปเอาจอบมาขุดดินหรือถมร่อง
หากต้องกระดี่ จะมีคนไปหาไม้แข็งๆ ขนาดพอเหมาะความยาวราว 3-4 เมตร ทำเป็นคานงัดตรงขอบล้อ ให้ล้อลอยขึ้น นำก้อนหิน หรือไม้มาหนุน เพิ่อให้ช่วงล่างของรถที่ติดหรือจมโคลน ลอยพ้น
จากนั้น คนขับจะขึ้นไปทำหน้าที่
“หักล้อตรงๆ เร่งเครื่อง เอ้า 1-2-3” ทุกคนช่วยกันดันรถ โคลนกระเด็น
ถ้าครั้งแรกยังไม่ขึ้น เราจะงัดให้ล้อลอยขึ้นอีก หาหินมาหนุน
ด้วยวิธีนี้ เราก็จะนำรถผ่านไปได้
จากหล่มนี้ เรารู้ว่ามีหล่มข้างหน้า ที่เราต้องผ่านไปให้ได้รออยู่…
ทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น
บางครั้งดูเหมือนจะช่วยให้พ้นจากหล่มได้มากกว่าใช้เครื่องมือ

สําหรับสัตว์ เรื่องราวเหล่านี้สำคัญ
ได้รับถ่ายทอดประสบการณ์ รวมทั้งทักษะต่างๆ จากพ่อ-แม่ หรือเหล่าผู้อาวุโสในฝูง จะช่วยให้มันเติบโตและอยู่รอด
สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง ใช้เวลาสองปีเรียนรู้วิธีการล่า และวิถีชีวิตจากแม่
พวกมันไม่ได้อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่อย่างสิงโต
เสือโคร่งใช้ชีวิตเพียงลำพัง นักวิจัยพบว่าในตอนที่ยังไม่แยกย้าย เสือโคร่งมีสมาชิก 4 ถึง 5 ตัว
หมายถึง แม่หนึ่งตัว และลูกวัยรุ่นอีก 3 หรือ 4 ตัว พวกมันจะล่ากวางโตเต็มวัยได้ 2-3 ตัว ในหนึ่งสัปดาห์
วิธีการล่า จากร่องรอย พวกเขาพบว่า เสือร่วมมือกันใช้วิธีวิ่งไล่ และเฝ้ารอ
นั่นคือช่วงเวลาแห่งความสุข
และเวลาแห่งความสุขย่อมอยู่ไม่นาน

วิถีทางของเสือ พวกมันต้องแยกย้าย แม่จะขับไล่ลูกออกไปใช้ชีวิตบนหนทางของตัวเอง
เวลาแห่งความยากลำบากของเสือเริ่มต้น
พวกมันต้องเสาะหาพื้นที่อยู่ แน่นอนว่า พื้นที่ดีๆ ย่อมมีผู้ครอบครองอยู่แล้ว
สำหรับผู้ครอบครองพื้นที่เดิม หากอ่อนล้าลงเมื่อใด จะโดนเบียดออกไปโดยเสือตัวใหม่ที่เข้มแข็งกว่า
เสือตัวที่ถูกเบียดออกไป เริ่มต้นความยากลำบากอีกครั้ง
ในครั้งนี้ ด้วยสภาพร่างกาย อาวุโส และอ่อนล้า

เพียงแค่เรื่องพาหนะ
ผมเริ่มเข้าใจว่า แม้ “โลก” เปลี่ยนไปแล้ว
คล้ายกับว่า ที่ “เปลี่ยน” ไป เป็นเพียง “ข้างนอก” แต่หลายสิ่ง โลกก็ไม่ได้เปลี่ยนไปไหน เรายังต้องใช้วิถีเดิมๆ ในการอยู่ในป่า
เปลี่ยนจากยุคฟิล์มสู่ยุคดิจิตอล
เปลี่ยนจากทำรูปอยู่ในห้องมืด มาใช้คอมพิวเตอร์
วิธีการเช่นเดิม เปลี่ยนไปแค่เครื่องมือ

คนเดินทางไปได้ทั่วโลก สู่ทุกจุดหมาย รวดเร็ว สะดวกสบายมากขึ้น
เราทุกคนต่างรู้ดีว่า การเดินทางสู่จุดหมาย จำเป็นต้องใช้พาหนะที่เหมาะสม
โดยเฉพาะการเดินทาง “ข้างใน”
และ “พาหนะ” นี้ บางคนก็ยังหาไม่พบ…