“ธนาธร” ร่วมเวทีถกอนาคตประเทศ ย้ำภูมิใจแม้จบไม่สวย ลั่นไม่เลียบูททหารแน่

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 10 ในหัวข้อ “ผู้นำทางการเมืองกับอนาคตประเทศไทย” ร่วมกับผู้นำพรรคการเมืองอีกสองท่าน คือสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

โดยธนาธรได้กล่าวถึงสองประเด็นที่กำลังท้าทายประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ คือเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนาประชาธิปไตย โดยในส่วนของเศรษฐกิจ ธนาธรกล่าวว่าย้อนกลับไปเมื่อช่วง 30 ปีที่แล้ว ระดับการพัฒนาประเทศจากตัวเลขรายได้ต่อหัวประชากร (GDP per capita) ของไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกงไม่ต่างกันมาก ก่อนหน้านี้ประชาคมโลกตั้งความคาดหมายไว้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่ยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศพัฒนาได้ แต่ทุกวันนี้หลายประเทศที่ว่ามาข้างต้นไปไกลกว่าเราทั้งหมดแล้ว ในขณะที่หลายๆ ประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนามเริ่มไต่มาอยู่ในระดับเดียวกันกับเราแล้ว ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางอยู่

“เมื่อเราไปดูตัวชี้วัดของกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง มีการตีเป็นตัวเลขรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ส่วนประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 7,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ถ้าอาศัยตัวเลขการเติบโตของ GDP อยู่ที่ปีละ 3% โดยเฉลี่ยแบบที่เราทำมา เราต้องใช้เวลาอีก 20 ปีจึงจะพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ แต่ทั้งนี้ภายใต้ปัจจัยที่ว่าประเทศรายได้สูงไม่มีการขยับของตัวเลขดังกล่าวเลย ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญของประเทศรายได้ปานกลางอย่างเรา คือเราจะสร้างมูลค่าได้อย่างไร จะทำให้เติบโตจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้อย่างไร นี่เป็นโจทย์ที่ประเทศรายได้ปานกลางมีร่วมกัน ในโลกของเราในรอบ 50 ปีที่ผ่านมามีประเทศที่อยู่ในระดับรายได้ปานกลางเพียงสิบกว่าประเทศ ส่วนหนึ่งอยู่ในสหภาพยุโรปบ้าง ส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศหมู่เกาะที่เพิ่งค้นพบทรัพยากรบ้าง เริ่มเติบโตก้าวพ้นตรงจุดนี้ไปแล้ว ประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้ ตนเห็นว่าต้องสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นให้ได้” นายธนาธร กล่าว

ในการนี้ตนขอยกตัวอย่างญี่ปุ่น GDP per capita สูงกว่าไทย 5-6 เท่า ค่าแรงต่างกัน 6.5 เท่า คือ 200,000 เยนต่อเดือน หรือ 60,000 บาท อย่างน้อยในอุตสาหกรรมที่ตนคุ้นเคยคือยานยนต์ หนึ่งบริษัท คนงานของญี่ปุ่นทำรายได้ต่อหัวได้ 11 ล้านบาทต่อปี ถ้าเราอยากได้ค่าจ้างขั้นต่ำแบบนี้ เราต้องทำรายได้ขั้นต่ำต่อหัวให้ได้แบบเดียวกัน ถ้ารายได้ต่อหัวของคนในระบบเศรษฐกิจทั้งหมดดี จะทำให้บริษัทมีกำลังจ้างสูงขึ้น

จากนั้น ธนาธรจึงได้ยกตัวอย่างถึงประสบการณ์ที่ตนเคยบริหารกิจการมา โดยมีหลักการสำคัญคือการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้และมีกระบวนการที่ทำให้สินค้ามีมูลค่าที่มากขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยี ก่อนระบุว่าวันนี้ ถ้าประเทศไทยพึ่งพาแต่อุตสาหกรรมเดิมเราจะไปไกลกว่านี้ไม่ได้ การใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยเราเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 70% มาถึงเดือนกรกฎาคมใช้ได้ 65.8% ตัวเลขนี้น่ากังวลเพราะกำลังสะท้อนว่าการลงทุนภาคเอกชนจะไม่เกิดขึ้นถ้ากำลังการผลิตเหลือ ไม่มีนักลงทุนหรือเอกชนคนไหนอยากจะลงทุน เราสามารถนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในประเทศไทยได้

ธนาธรยังได้ยกตัวอย่างไปถึงเศรษฐกิจภาคเกษตรในประเทศไทยต่อ โดยระบุว่าในขณะที่ประเทศไทยยังคงอาศัยการตากข้าวบนถนน ด้วยความจำเป็นของเกษตรกรเพื่อให้ได้ราคา ซึ่งเป็นการใช้แรงงานที่ไม่ทำให้เกิดมูลค่า หลายๆประเทศทั่วโลกหันไปใช้เครื่องอบข้าวกันหมดแล้ว หรือในภาคเกษตรที่เป็นผลไม้ มีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจทานและคัดกรองคุณภาพกันหมดแล้ง ทำให้มีมูลค่าในตลาดที่สูง ประเทศไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรแบบปฐมภูมิอยู่ ซึ่งตนนึกไม่ออกเลยว่าเราจะสร้างมูลค่าได้อย่างไรจากการส่งออกสินค้าเกษตรเช่นนี้ ถ้าเราไม่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการแปรรูป

ธนาธรได้กล่าวต่อว่าการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้น แต่ที่สำคัญ ตนเห็นว่าการลงทุนในเทคโนโลยียังควรมีด้านของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย เช่นการลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะ การทำระบบ feeder ที่ครอบคลุม เช่นทุกวันนี้เราอาศัยการนำเข้ารถเมล์จากจีน ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของคนอื่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เราทำอยู่ในปัจจุบันไม่นำประเทศไทยไปไหน แต่ถ้าเราลงทุนในอุตสาหกรรมรถเมล์เราสามารถมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้ เป็นต้น

“ผมมองไม่เห็นเลยว่าถ้าเรามีแนวคิดที่ถูกต้อง ถ้าเรามีการเพิ่มมูลค่าสินค้าอยู่ในการลงทุนในเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ผมนึกไม่ออกเลยว่าถ้าเราอยู่ในแนวคิดที่ถูกต้อง ทำไมเราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ผมคิดว่าโจทย์ที่สำคัญวันนี้ คือเราจะแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีอย่างไรให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มมูลค่า และที่สำคัญคือพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมกันด้วย”

อย่างไรก็ตาม นายธนาธรกล่าวว่า การสร้างมูลค่าด้วยเทคโนโลยีอย่างที่ตนว่ามาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่แก้ปัญหาทางการเมืองที่เป็นอยู่วันนี้ ที่ประเทศมีรัฐธรรมนูญมาแล้วกว่า 20 ฉบับ เท่ากับมีการเปลี่ยนกฎหมายสูงสุดของประเทศเฉลี่ย 4 ปีต่อครั้ง แนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากการเมืองยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป คือทุนใหญ่จะกำหนดทิศทางของประเทศไทยมากขึ้น อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะสูงส่งกว่าอำนาจจากประชาชนมากขึ้น เราจะพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติโดยไร้เทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น จะมีการกดทับกีดกันเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์มากขึ้น

ธนาธรกล่าวว่าเวลาเราพูดถึงปัญหาทางการเมือง เราต้องการผู้นำที่กล้าพูดความจริง นั่นคือความจริงที่ว่ากลุ่มชนชั้นนำที่ได้ประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำ ดำรงอยู่ในอำนาจทางการเมือง และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่ค้ำยันอำนาจของพวกเขาอยู่คือกองทัพ กลุ่มทุนใหญ่ ระบบราชการที่ใหญ่เทอะทะ และกระบวนการยุติธรรม

ในฐานะที่ตนเป็นคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 63 ตนเห็นตัวเลขแล้วตนยืนยันได้ว่าเรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะพัฒนาประเทศ สร้างรัฐสวัสดิการ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีได้ แต่โครงสร้างเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศไทยไว้อยู่ ทำให้ตนต้องกลับมาสู่คำถามว่าอำนาจในประเทศนี้เป็นของใครกันแน่ ระหว่างประชาชนหรือกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่คือปัญหาใจกลางของสังคมไทย ส่วนตัวตนเชื่อว่าอำนาจต้องเป็นของประชาชน คนทุกคนต้องเท่ากันต่อหน้ากฎหมาย

ธนาธรกล่าวต่อว่าประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกทำให้ไม่มีความหมาย สามอำนาจของประเทศอันประกอบด้วยอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างน้อยที่สุดสามกลไกนี้ควรต้องถ่วงดุลอำนาจกัน ทุกๆ อำนาจไม่ว่าจะตัดสินใจถูกหรือผิด ต้องถูกตรวจสอบจากประชาชน จากสภา จากองค์กรตุลาการได้ แต่ในโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เรามีองค์กรอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ แต่งตั้งโดย คสช. มาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง อยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ นี่คือดุลอำนาจที่ไม่เท่ากัน ระหว่างอำนาจที้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเขาไม่ไว้ใจประชาชน กลัวว่าประชาชนจะออกกฎหมายที่เป็นโทษต่ออภิสิทธิชน เขาจึงต้องตั้ง ส.ว. ขึ้นมาเพื่อบล็อคเสียงที่มาจากประชาชน ทุกคนคงเห็นแล้วว่าการดำรงอยู่ของ ส.ว. ทำให้คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไปกดดันจนเอาเสียงของพรรคที่บอกว่าจะไม่สนับสนุนประยุทธ์มาเป็นนายกเหล่านี้มารวมกันได้ ส่วนในขาตุลาการ ไม่ว่าจะ กกต., ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ล้วนเป็นคนที่ คสช. แต่งตั้งหรือยืดอายุให้

เท่ากับว่าวันนี้อำนาจสามอำนาจที่ดำรงอยู่ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการถูกควบคุมไว้หมด ตนไม่ได้กำลังบอกว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ตนเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าประชาธิปไตยเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ดีกว่าเผด็จการแน่ๆ ตนเชื่อว่าเรามาไกลกว่าจะย้อนประเทศไปยกลับไปแบบนั้นอีกแล้ว ประชาชนทุกคนเป็นประธานของประโยค ไม่ใช่กรรมของประโยค ตนว่าประชาชนทุกคนในประเทศนี้เข้าใจแล้ว และนั่นคือทิศทางที่เราต้องผลักดันสังคมไทยให้ไปถึงจุดนั้น

ธนาธรกล่าวต่อว่าทั้งนี้ ตนอยากพูดถึงการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นสักเล็กน้อย แน่นอนว่าตนมีจุดร่วมกับหลายๆ ท่านที่นี้ในการรังเกียจการทุจริต แต่ปัญหาคือวันนี้เรากำลังมีการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นที่หลีกเลี่ยงให้ข้อยกเว้นที่ใหญ่ที่สุด ในการไม่ตรวจสอบอำนาจบางอำนาจ ตนขอถามว่าเราเคยใช้ตรรกะเหตุผลเดียวกันในการตรวจสอบกองทัพบ้างหรือไม่ สัมปทานช่อง 7 กี่ปีที่ผ่านมา ทำไมไม่อยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี? รายได้เดือนละร้อยกว่าล้านของช่อง 5 ที่มาจากการปล่อยเช่าอยู่ที่ไหนในงบประมาณรายจ่าย? การนำพลทหารเกณฑ์ไปใช้บ้านนายพลเป็นการคอร์รัปชั่นหรือไม่?

“นักการเมืองด่าได้ตรวจสอบง่าย คนที่ตรวจสอบไม่ได้แล้วคุณไม่กล้าบังคับใช้มาตรฐานเดียวกัน คุณจะบอกได้อย่างไรว่าคุณสู้กับคอร์รัปชั่นจริงๆ คนที่ตั้งตาตรวจสอบแต่นักการเมืองแต่ไม่ตรวจสอบคนพวกนี้ล้วนแต่เฟคทั้งหมด” ธนาธรกล่าว

ดังนั้น ถ้าจะเดินหน้าต่อ ตนเสนอว่าเราต้องยึดหลักนี้ให้มั่น ประเทศไทยต้องไปในแนวทางสาม D คือ Democratization – การทำให้เป็นประชาธิปไตย, Demilitarization – การลดอำนาจของกองทัพ, และ Decentralization – การกระจายอำนาจกลับไปที่ท้องถิ่น ทีนี้เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ตนต้องขอย้ำประเด็นที่ว่าสุดท้าย อำนาจของประชาชนตอนนี้กำลังถูกปิดกั้น ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเป็นชาวบ้านที่นครสวรรค์ สะพานท่ีบ้านขาด อยากจะให้ซ่อมสะพาน ไปบอก อบต. อบจ.ก็ไม่มีงบไม่มีอำนาจ ไปบอก ส.ส. ก็ไปแปรงบประมาณให้ไม่ได้เพราะผิดรัฐธรรมนูญ

ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนของเราไปใช้สิทธิในระบบกี่ครั้งกัน? เราได้เลือก ส.ส. เป็นตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติในระดับชาติ เลือกตัวแทนในระดับองค์กรปกครองท้องถิ่น ได้สองครั้งเท่านั้น แล้วตัวแทนคุณทั้งสองขาไม่มีอำนาจเลย คนที่ประชาชนเลือกมาไม่มีอำนาจทำให้ความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้นเลย อย่างเรื่องสะพานที่ว่านี้ สุดท้ายคุณต้องกลับไปขอผู้ว่าราชการจังหวัด ไปขอระบบราชการ ที่ประชาขนให้คุณให้โทษไม่ได้ คนให้คุณให้โทษกับคนเหล่านี้อยู่ที่ส่วนกลาง นี่คือปัญหาใจกลางของการเมืองไทยจริงๆ คือประชาชนไม่มีอำนาจ ซึ่งถ้าคุณไม่พูดถึงเรื่องนี้ คุณเฟคทั้งนั้น

“มาถึงตรงนี้ผมต้องบอกว่าต่อให้การที่ผมพูดความจริงแบบนี้แล้วจะทำให้ต้องไปจบชีวิตในคุกตาราง ผมอาจจะมีจุดจบไม่สวย แต่ผมก็ภูมิใจที่ได้พูดสิ่งนี้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ผมก็ภูมิใจที่ได้ยืนหยัดต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง สุดท้ายผมอาจจะจบไม่สวย แต่ผมจะไม่เลียบูทหารแน่ๆ” ธนาธรกล่าวทิ้งท้าย