หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ทางที่จำ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - พวกมันเป็นนักล่าที่มีทักษะสูง จมูกรับกลิ่นดี วิ่งเร็ว แต่ในระยะสั้นๆ...

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ทางที่จำ’

 

ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

ผมผ่านเนินแห่งนั้นนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ใช่เนินที่สูงชัน ขึ้นยาก ลื่นไถลมากหรือมีระยะทางยาวเท่าไหร่หรอก เป็นเนินสั้นๆ ยาวราว 100 เมตร

คนในทุ่งใหญ่เรียกเนินนี้ว่า “เนินหม่องโจ” ตามชื่อที่พวกเขาเรียกผม

ผ่านเนินนี้นับครั้งไม่ถ้วน มีเพียงครั้งเดียวที่ผมจำได้ไม่ลืม…

 

หน่วยพิทักษ์ป่าจะแก

เป็นหน่วยพิทักษ์ป่าที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านจะแก ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ 5 กิโลเมตร อยู่ใกล้ชุมชน แต่อยู่ห่างจากสำนักงานเขตถึง 80 กิโลเมตร

ไม่เพียงไกลจากเขต ถ้าอยู่ในช่วงฤดูฝน ก็คล้ายกับว่า หน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยนี้ รวมทั้งหมู่บ้านจะแก ได้ตัดตัวเองออกจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง

ช่วงเวลานี้ ชาวบ้านหรือคนในหน่วย หากมีภารกิจต้องเข้าเมือง มีวิธีเดียวคือเดิน

ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีอนามัย อีกทั้งยังอาศัยเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งมีบินเพื่อส่งเสบียง หรือสับเปลี่ยนกำลังพล

 

ช่วงนั้น หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าจะแก คือ เจริญ ผู้ชายผิวคล้ำร่างสันทัด

เจริญมีพาหนะสำหรับเดินทาง อันเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ท่าทางแกร่ง

เขาเรียกรถเขาว่า “กระทิงโทน”

ภารกิจที่หนักหนามากของเจ้ากระทิงโทน คือออกจากหน่วยมาสำนักงานเขต และเข้าเมืองเพื่อนำเสบียงกลับไป เสบียงไม่ได้ใช้เฉพาะชุดลาดตระเวน แต่รวมถึงชาวบ้านที่ขาดแคลนในช่วงนี้ด้วย

“กาแฟ ผงชูรส น้ำตาล พวกนี้ขนไปเท่าไหร่ก็ไม่พอครับ” เจริญบอก

เจ้ากระทิงโทนบรรทุกของเต็มปรี่ หลายครั้งเสบียงหมดระหว่างทาง เพราะรถติดหรือเสีย ข้ามลำห้วยไม่ได้

ระยะทาง 80 กิโลเมตร กับเวลา 10 หรือ 15 วัน เป็นเรื่องปกติ

 

ภาพที่คนในป่าทุ่งใหญ่เห็นขณะเจริญและเจ้ากระทิงโทนเดินทาง นอกจากมีคนอยู่บนกระบะ 5-6 คนแล้ว บนเบาะด้านหน้าข้างคนขับ จะมีสุวิวรรณ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก เขานั่งมาด้วย

สุวิวรรณ คือพนักงานทำหน้าที่แม่บ้าน ดูแลเรื่องอาหารการกินของหน่วย เธอมีความเชี่ยวชาญงานครัว จึงถูกเรียกมาทำงานที่เขต เมื่อเขตมีงานประชุม หรือต้องประกอบอาหารเลี้ยงคนเยอะๆ

เจริญตะบึงไปตามเส้นทาง ไม่ว่ารถจะโยกเยก ติดหล่ม หรือเป็นอะไร สุวิวรรณหลับได้

“แม่บ้านผมมีความสามารถพิเศษครับ” เจริญแอบๆ นินทา

“ทางแย่ขนาดไหนก็หลับได้ ถ้าตื่น คือต้องกินขนม และถ้ายังไม่ถึงจุดหมาย จะไม่ลงจากรถเลย”

วันหนึ่ง สุวิวรรณร่วมทางมากับผม

เธอตื่นขึ้นมาพบว่าติดอยู่ในรถที่หงายท้อง สี่ล้อชี้ฟ้า…

 

ผมไปหน่วยจะแกบ่อย ไม่ใช่เพราะไปทำงาน บริเวณใกล้ๆ นั้นไม่มีสัตว์ป่าให้ถ่ายนักหรอก เจตนาคือไปเยี่ยมเจริญกับสุวิวรรณ

จะแกเป็นหมู่บ้านใหญ่ เจริญขึ้นมาก ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเดินทางมาถึง

แต่หลายๆ อย่างก็ยังคงเป็นเช่นเดิม

อย่างเช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว ทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวเพียงบริโภคในครอบครัว ไม่ได้เพื่อขาย รวมทั้งประเพณีหลายอย่างที่คนยังยึดถือปฏิบัติ

สุวิวรรณกว้างขวาง เธอพาผมแวะกินน้ำบ้านโน้น เข้าบ้านนี้กินข้าว

ในช่วงแล้ง เส้นทางจากหมู่บ้าน ออกไปทางอำเภอสังขละบุรี สะดวก รถวิ่งเข้า-ออกได้ ในหมู่บ้านมีก๋วยเตี๋ยวและน้ำแข็งไสขาย

ทุกคนในหมู่บ้านรู้จักกันหมด นี่พ่อใคร ลูกใคร คนไหนมีลูกกี่คน

“สมหมายนั่นมีลูก 8 คนนะ” เธอพยักหน้าไปทางชายหนุ่มบนรถอีแต๊ก

แต่ละครอบครัวมีลูก 8-9 คน คือเรื่องปกติ

หลายบ้าน เด็กๆ ยืนเรียงเป็นแถว

สุวิวรรณเป็นกะเหรี่ยงที่ยังรักษาประเพณีเดิมๆ คือในครอบครัว ผู้หญิงจะทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเงิน

ดูเผินๆ คล้ายนี่เป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ แต่ในความเป็นจริง ผู้หญิงตัดสินใจทุกเรื่อง

เพียงแต่พวกเธอให้ผู้ชายมานั่งข้างหน้าเท่านั้น

เจริญคือหัวหน้าหน่วย ทว่า พวกลูกน้องรู้ดีว่า “ใครใหญ่”

 

ผมไม่เคยเห็นเจริญอยู่ลำพัง ไม่ว่าจะที่หน่วย พบกันบนเส้นทาง ที่เขต หรือหน่วยพิทักษ์ป่าอื่น เขากับสุวิวรรณอยู่ด้วยกันตลอด

พบกันกลางทาง สุวิวรรณจะส่งขนมให้ ส่วนใหญ่เป็นประเภทมันฝรั่งอบกรอบ ทำนองนี้

แต่ถ้าอยู่หน่วย เธอจะทำขนมไทยๆ

บางทีสั่งให้เจริญไปหาใบตองมาทำข้าวต้มมัด

 

วันหนึ่ง ผมสวนกับเจ้ากระทิงโทนบนทาง

“พาแม่บ้านไปหาหมอครับ ไม่ค่อยสบาย” เจริญบอก สุวิวรรณที่นั่งข้างๆ ยกตัวขึ้นจากการเอนหลังกับเบาะรถ

เธอยกมือไหว้ ใบหน้าซีดเซียว แก้มสองข้างมีสีเหลืองๆ เป็นวงกลม จากการทาทะนาคา ที่สาวๆ กะเหรี่ยงชอบใช้

ผมรับไหว้และบอกให้เธอหายเร็วๆ

นั่นคือการพบกันครั้งสุดท้าย

สุวิวรรณจากไป เมื่อมาอยู่โรงพยาบาลในเมืองกาญจน์หนึ่งสัปดาห์

 

ปลายฤดูฝน วันนั้น เราเดินทางร่วมกันหลายคัน รถทุกคันบรรทุกวัสดุก่อสร้างเต็มกระบะ จุดหมายอยู่ที่หน่วยจะแก

สุวิวรรณนั่งข้างๆ เจริญขับเจ้ากระทิงโทนตามมาห่างๆ

ขณะขึ้นเกือบสุดเนิน ผมพาเจ้านิคพลิกสี่ล้อชี้ฟ้า

ภายในรถมีแต่ความเงียบ

สุวิวรรณตื่น และคิดว่ามีเธอเท่านั้นที่รอด

เป็นเรื่องขำๆ ที่เราพูดถึงบ่อยๆ แต่มันไม่ขำเมื่อสุวิวรรณผู้คิดเช่นนี้จากไปแล้ว

 

ผ่านมาสองเดือน

เจริญเศร้าซึม เขาไม่กลับหน่วย ผมพบเขาในวันประชุมลาดตระเวนที่เขต

“ยังทำใจไม่ได้ครับ ไม่มียัยสุนั่งข้างๆ” เขาขอหัวหน้าย้ายไปอยู่หน่วยข้างนอก เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่เคยใช้

เจริญยืนเหม่อมองไปในครัว ที่หลายคนกำลังวุ่น

ถ้าอยู่ สุวิวรรณจะเป็นหนึ่งในนั้น

“หม่องโจกินอะไรไหม เดี๋ยวผมจัดมาให้” สุวิวรรณมักมีอาหารพิเศษๆ ไว้ให้

ผมส่ายหน้าปฏิเสธ ยกมือตบไหล่เขา

“แล้วมันจะผ่านไป” ผมบอกเขา อย่างที่บอกกับตัวเองเสมอๆ

ล่าสุด ที่ผมได้ข่าวเจริญมีแม่บ้านคนใหม่

เขาคงเหงาเกินกว่าจะอยู่ลำพัง

สุวิวรรณเข้าไปอยู่ในความทรงจำ

เรื่องราวเรื่องหนึ่งของเขาผ่านไป

 

ตลอดเวลาในป่าทุ่งใหญ่ ผมผ่านเนินนี้นับครั้งไม่ถ้วน

ผมจำครั้งที่ผ่านไปได้ด้วยดีไม่ได้หรอก

มีเพียงครั้งเดียวที่จำได้

คนที่เพิ่งผ่านเนินนี้ จะได้ยินเรื่องราวที่คนในรถบอกว่า เนินนี้ชื่ออะไร

“ทางที่จำ” ของคนมีไม่มากนัก

ความผิดพลาด นั่นทำให้คนจำ

ไม่มีใคร “จำ” หรอก ว่าผมผ่านเนินนี้นับครั้งไม่ถ้วนไปได้ แม้ในวันที่ลื่นไถล ยากที่จะผ่านไปให้พ้น…