วงค์ ตาวัน : ตำรวจกับแพะ

วงค์ ตาวัน

มีตำรวจที่ผ่านประสบการณ์การสืบสวนสอบสวนทำสำนวนคดีต่างๆ มามากกล่าวเอาไว้ว่า ทุกคดีที่เป็นเหตุใหญ่ มีรายละเอียดสลับซับซ้อน แม้ว่าคดีนั้นจะสามารถคลี่คลายได้ จับกุมผู้กระทำผิดได้ รวบรวมพยานหลักฐานส่งฟ้องต่อศาลได้

แต่จะพบว่า ในแทบทุกคดีเหล่านี้ ยังคงมีประเด็นปลีกย่อยบางอย่างที่ตำรวจเองก็ยังไขปริศนาได้ไม่หมด

เพราะความเป็นไปของสังคมมนุษย์นั้น มากด้วยความซับซ้อน ตามประสบการณ์การคดี สรุปได้เลยว่า ในคดีใหญ่ๆ จะต้องมีข้อสงสัยบางอย่างที่ยังค้นหาคำตอบได้ไม่ครบ แต่ถ้าจะสืบหาให้ครบถ้วนทั้งหมดจริงๆ ก็อาจจะยากเกินไป ใช้เวลามากเกินไป กระทั่งจะส่งสำนวนไม่ทันอายุความได้

“เพียงแต่จุดหลักๆ ของคดี จะต้องมีคำตอบได้ มีพยานหลักฐานมัดแน่นได้เพียงพอ จับกุมผู้ต้องหาได้ จนสามารถปิดคดี ส่งอัยการและศาลได้”

แม้ในบางคดี ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ พยานหลักฐานชัดเจน จนกระทั่งผู้ต้องหาเอง ก็ยังยอมรับสารภาพ และนำชี้จุดทำแผนประกอบได้ตรงกับเนื้อคดีทุกประการ ส่งศาลพิจารณา แล้วศาลก็ตัดสินว่าผิดจริง

แต่เชื่อไหมว่า ก็ยังมีอะไรบางอย่างที่ตำรวจยังไม่ได้ไปสืบเสาะจนครบ

“หากมีใครมาจุดประเด็นสงสัยโน่นนี่ ก็ยังมีให้สร้างกระแสได้ แล้วบางทีสังคมก็จะฮือตามกระแสนั้นไปได้ง่ายๆ”

นั่นคือบทสรุปของตำรวจ ที่มากประสบการณ์ด้านการทำคดี

ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมหลายๆ คดี จึงมีบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับงานสืบสวนสอบสวนเลย เพียงนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ อ่านข้อมูลคดี แล้วนั่งจับผิดการทำงานของตำรวจ มานั่งตั้งประเด็นสงสัยนั่นนี่ ก็สามารถทำได้ตลอด ในทุกคดี

ส่งผลให้เกิดกระแสสังคม บางครั้งก็หนักหน่วงถึงขั้นกล่าวหาตำรวจว่าจับแพะ

ยิ่งหากย้อนกลับไปมองผลงานของตำรวจในอดีต ในยุคที่ยังไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำคดี ไม่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ โดยเน้นงานสืบสวนจากบุคคลหรือสายข่าว กระทั่งการสอบสวนผู้ต้องสงสัยใช้การทรมานเป็นหลัก การทำคดีจึงมักผิดพลาด

แต่นั่นก็คือตำรวจในยุคหลายสิบปีมาแล้ว

เพียงแต่ผู้คนในสังคม ยังคงติดภาพเดิมๆ ของตำรวจอย่างไม่แปรเปลี่ยน ทั้งที่ในยุคปัจจุบันตำรวจก็มีพัฒนาการในตัวเอง แต่ก็ยังไม่รับรู้ หรือไม่ยอมรับ!

เอ่ยถึงภาพตำรวจจับแพะทีไร ผู้คนก็มักพูดถึงคดีเชอรี่ แอน เพราะเป็นคดีแพะระดับประวัติศาสตร์ จับผู้บริสุทธิ์ไปยัดเยียดข้อหา ปั้นพยานเท็จมาทำให้สำนวนแน่นหนา แล้วแพะเหล่านี้ต้องไปทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำ จนสุดท้ายแม้จะมีการรื้อคดีใหม่ คืนความเป็นธรรมให้แพะ ลบล้างมลทินให้

แต่ผู้บริสุทธิ์บางรายก็ต้องตายในคุกเสียก่อน หรือบางคนพ้นโทษออกมาก็อยู่ในสภาพพิกลพิการ ยังไม่นับรวมถึงความเลวร้ายที่ไปตกกับครอบครัวของคนเหล่านี้ เพราะสภาพครอบครัวค่อนข้างยากจน

“คดีเชอรี่ แอน จึงเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ของวงการตำรวจ และถ้าพูดถึงตำรวจจับแพะทีไร ก็ต้องงัดคดีนี้มาประทับรับรองเป็นประจำ”

แน่นอนว่า เชอรี่ แอน คือคดีที่บ่งบอกระบบอันล้มเหลวของตำรวจอย่างแท้จริง

“แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้ว่า คดีนี้เกิดเมื่อปี 2529 หรือเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในยุคที่วงการตำรวจเอง ยังทำงานสืบสวนแบบโบราณ!”

คดีนี้เป็นการทำงานของตำรวจท้องที่ในสมุทรปราการ ซึ่งทราบภายหลังว่า ตำรวจบางรายเข้าไปเกี่ยวพันกับคู่กรณีด้วย จึงน่าจะเป็นเหตุของการจับแพะ แต่ขณะเดียวกัน หลังจากส่งผู้ต้องหาขึ้นฟ้องศาล มีเพียงศาลชั้นต้นเท่านั้นที่ตัดสินว่าจำเลยชุดนี้ผิดจริง แต่จากนั้นในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ได้พลิกคำพิพากษาเป็นยกฟ้อง นั่นแสดงว่ารูปคดีของพนักงานสอบสวนไม่รัดกุมเพียงพอ

“ที่สำคัญ การรื้อคดีใหม่ เพื่อปลดปล่อยแพะ เกิดขึ้นในปี 2538 โดยตำรวจกองปราบฯ”

กองปราบฯ รวบรวมพยานหลักฐานใหม่ จนทราบแน่ชัดว่า คนสีเดียวกันทำเรื่องผิดพลาดเอาไว้ จึงขออนุมัติผู้บังคับบัญชา และเกิดการรื้อฟื้นคดี ทำให้เรื่องราวความเลวร้ายของตำรวจในการจับกุมผู้ต้องหาชุดแรกถูกเปิดโปงออกมา

ผลที่ตามมานอกจากคนร้ายตัวจริงจะถูกส่งตัวไปชดใช้กรรมตามกฎหมายแล้ว ยังส่งผลให้ตำรวจชุดจับแพะถูกดำเนินคดี กรมตำรวจต้องจ่ายเงินชดใช้ให้แพะด้วย

“คดีเชอรี่ แอน จึงเป็นการจับแพะประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียนของวงการตำรวจ แต่ไม่ได้หมายความว่า คดีนี้จะเป็นตัวบ่งชี้มาตรฐานของตำรวจไทยในยุคปัจจุบัน หลังจากกาลเวลาผ่านมาแล้วถึงกว่า 30 ปี”

หากย้อนไปดูข่าวเก่าๆ จะพบว่า ตำรวจไทยเริ่มเน้นการใช้ระบบวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนาการสืบสวนสอบสวน ตั้งแต่ยุค พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ เป็น อ.ตร. ในช่วงปี 2532-2534 ต่อมาในยุค พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็น อ.ตร. ได้ยกระดับงานด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาการ ยกระดับงานพิสูจน์หลักฐาน เพื่อเสริมให้การทำคดีของตำรวจ ลดความผิดพลาดน้อยลง และมีการพัฒนาในยุค พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา แล้วต่อเนื่องมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะพบว่าการใช้เทคโนโลยีบายของตำรวจมีสูงขึ้น

“อันเป็นการตรวจสอบกลั่นกรองการสืบสวนของตำรวจเองไปในตัว ว่าถูกต้องหรือไม่!?”

หลังผ่านพ้นคดีเชอรี่ แอน ผลงานจับแพะอันเลวร้ายเมื่อปี 2529 แล้ว จากนั้นการจับแพะของตำรวจก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยการยกระดับมาตรฐานงานสืบสวนสอบสวนที่มีวิทยาศาสตร์เข้ามากำกับ ก็ทำให้การทำคดีใหญ่ๆ ลดความผิดพลาดน้อยลงไปเป็นลำดับเช่นเดียวกัน

นายบอล

ยกตัวอย่างคดีใหญ่ๆ ในยุคหลังที่ตำรวจยังคงโดนโจมตีด้วยข้อหาจับแพะไม่แปรเปลี่ยน ได้แก่ คดีฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร เมื่อปี 2556 ซึ่งตำรวจจับกุมนายบอลคนขับรถประจำตัวของนายเอกยุทธ พร้อมทั้งนายเบิ้มเพื่อนสนิท ที่ร่วมกันจับตัวเหยื่อมาบังคับเพื่อรีดเงินก่อนลงมือฆ่า โดยมีเพื่อนอีก 2 คนร่วมซ่อนเร้นฝังศพ และพ่อแม่ของนายบอลร่วมนำทรัพย์สินของนายเอกยุทธไปเก็บเอาไว้

สุดท้ายนายบอลพร้อมเพื่อนและพ่อแม่รวม 6 คน โดนดำเนินคดีทั้งหมด

ท่ามกลางเสียงโจมตีอย่างเป็นกระแสใหญ่ว่าตำรวจบิดคดี เพราะปักใจเชื่อว่านายเอกยุทธเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น ต้องเป็นใบสั่งฆ่าทางการเมืองมากกว่า

“มีการหยิบข้อสงสัยในคดีสารพัดมาตั้งประเด็น สร้างกระแสจนสังคมบางส่วนเชื่อตามไปว่าจับแพะแน่ๆ”

“แต่นายบอลกับเพื่อนและพ่อแม่ทั้ง 6 คน ไม่เคยมีใครสักคนที่โวยวายว่าโดนยัดข้อหาหรือไม่ได้กระทำผิด!”

จนเมื่อปลายปี 2557 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทั้งหมดกระทำผิดจริง โดยนายบอลและนายเบิ้มถูกประหาร แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากยอมรับสารภาพ ส่วนเพื่อนและพ่อแม่โดนจำคุกถ้วนหน้า

“จากนั้นศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินลงโทษจำเลยทั้ง 6 เช่นเดียวกัน ตอนนี้เหลือเพียงศาลฎีกาก็จะถึงที่สุด”

นายเวพิว และนายซอริน สองจำเลยชาวพม่า ที่ศาลจังหวัดสมุยพิพากษาประหารชีวิต

อีกคดีคือฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2557 มีการจับกุมแรงงานพม่า 2 ราย ดำเนินคดี โดยมีพยานหลักฐานมากมาย เน้นผลดีเอ็นเออันเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ด้วย

แต่ตำรวจก็โดนโหมโจมตีสนั่นออนไลน์ ตั้งประเด็นสงสัยจับพิรุธสารพัด

“ลงเอยเมื่อธันวาคม 2558 ศาลชั้นต้นพิพากษาเชื่อว่า 2 จำเลยกระทำผิดจริง ลงโทษสูงสุดคือประหารชีวิต”

แต่ก็ยังมีชั้นอุทธรณ์และฎีกาอีก 2 ศาล ยังถือว่าคดีไม่ถึงที่สุด เพียงแต่คำพิพากษาก็ชี้ให้เห็นว่าพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนนั้นน่าเชื่อถือ

หรือที่กำลังเกรียวกราวในขณะนี้ คือ คดีครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ที่ร้องว่าตำรวจจับตนเองเป็นแพะ ซึ่งยังต้องรอการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าจะรื้อคดีใหม่หรือไม่ โดยควรรับฟังบนพื้นฐานข้อเท็จจริงไม่ใช่ด้วยอคติ

อีกทั้งข้อมูลของฝ่ายตำรวจนั้นบ่งบอกว่า พยานหลักฐานอีกฝ่ายนั้นพิรุธมากมาย

แน่นอนว่า ต้องให้เครดิตกับการตรวจสอบของคนในสังคม อันจะช่วยให้ตำรวจต้องระมัดระวังเพราะโดนจับตาอย่างเข้มข้น

แต่ก็ต้องมองอย่างเป็นธรรมด้วยว่า ตำรวจคงไม่มั่วซั่วเหมือนกับคดีเมื่อปี 2529 แล้วกระมัง!?