ไฟใต้ : การแก้ปัญหาหลังความสูญเสียที่ลำพะยา

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

ก่อนอื่นต้องกล่าวขอแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ความสูญเสียจากเหตุที่คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้านทุ่งสะเดา และชุดคุ้มครองตำบลลำพะยา จ.ยะลา ในช่วงกลางดึกวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562

ซึ่งถ้าเราติดตามข่าวก็คงเห็นภาพสอดคล้องกันว่ามีทั้งแสดงความเสียใจและประณามจากผู้คนส่วนใหญ่แม้กระทั่งนักการเมือง นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนที่เห็นต่างจากรัฐรวมทั้งจากสำนักจุฬาราชมนตรี

สำหรับผู้เขียน แน่นอนไม่เห็นด้วยในการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เพียงแต่รัฐจะต้องมีสติ และแก้ปัญหาในรากเหง้ามากกว่าการแก้ปัญหาตามกระแส

การแก้ปัญหาจากรากเหง้านั้นจะต้องเปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้การเมืองภาคประชาชนได้ขับเคลื่อน ทหารต้องไม่ทำทุกเรื่องรวบอำนาจทั้งงบประมาณ บุคลากร ถอยจากการเมือง การปกครอง ต้องเดินตามมาตรฐานประชาธิปไตยอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ควบคู่กระบวนการยุติธรรมมาตรฐานสากล ภายใต้หลักสิทธิมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนซึ่งอาจดูเหมือนว่าเป็นนามธรรม

นักวิชาการมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า No Justice No Peace ซึ่งสะท้อนว่าความอยุติธรรมจะเป็นน้ำมันเครื่องหล่อเลี้ยงอย่างดีในการจุดไฟใต้ให้เกิดกองใหม่ตลอด เมื่อดับไฟกองหนึ่ง ก็จะเกิดไฟอีกกอง ความอยุติธรรมดังกล่าวนั้นเกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้มาตรฐานสากล

ซึ่งผู้เขียนขอเสนอดังนี้

1.ระวังมาตรการรัฐหลังเหตุการณ์

ระวังมาตรการรัฐที่จะใช้หลังเหตุการณ์ โดยจะต้องเคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความยุติธรรมได้

เราจะเห็นได้ว่าการไล่ล่าตรวจค้นคนร้ายจะมีมาตรการเข้มมากๆ และมิได้หมายความว่าจะมีความชอบธรรมหรือใบอนุญาตให้ไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน

มาตรการหลังจากนี้เรื่องเดิมๆ ต้องระมัดระวัง มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอว่า การดำเนินการทั้งในทางแพ่ง อาญา และปกครอง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหรือกฎหมายอื่นใด

เช่น สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวในการที่จะได้รับการเยี่ยมเยียนจากญาติพี่น้อง ปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ไม่ถูกทรมาน บังคับขู่เข็ญ

สิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกตรวจดีเอ็นเอโดยไม่เต็มใจ หรือกระทำการด้วยประการใดๆ ในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ทั้งให้ศาลสามารถตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลตามหลักนิติธรรม

อย่าลืมว่า ในเชิงประจักษ์และมีรายงานนานาชาติว่าหลายกรณีภาคใต้มีการละเมิดและไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination – CERD) ซึ่งไทยเป็นภาคีสมาชิก

เช่น การซักถามผู้ต้องสงสัยในศูนย์ซักถาม ภายใต้กฎหมายพิเศษซึ่งเอื้อต่อการซ้อมทรมาน

ระมัดระวังการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม หรือ Fair Trial ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และมาตรฐานระหว่างประเทศ

เช่น ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ จับและคุมขังผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน แล้วหาพยานหลักฐานทีหลัง

ใช้คำซัดทอดของผู้ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ ใช้เป็นพยานหลักฐานในการตัดสินลงโทษจำเลย

สืบพยานล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาและตัดโอกาสผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

นำพยานหลักฐาน ทั้งพยานวัตถุและบันทึกถ้อยคำของบุคคล ที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากการปิดล้อม ตรวจค้น ยึด จับกุม คุมขัง หรือซักถาม ตาม “กรรมวิธี” คลิปทั้งที่ตัดตอนและบันทึกหรือจัดทำขึ้นโดยไม่โปร่งใส ภายใต้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ มาใช้ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา)

อันเป็นกระบวนการได้มา ส่งต่อ เก็บรักษา ตรวจสอบ และเสนอพยานหลักฐานต่อศาล ที่ไม่สอดคล้องกับหลักของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม

2.สื่อต้องไม่สร้างความขัดแย้ง (เพิ่ม) ในสนามข่าวความขัดแย้งยุคดิจิตอล

สื่อต้องไม่สร้างความขัดแย้ง (เพิ่ม) ในสนามข่าวความขัดแย้งยุคดิจิตอลหรือผลักให้อีกฝ่ายแบบเหมารวม

ยกตัวอย่างให้ชัด เช่น การนำเสนอของนักข่าวใหญ่ในส่วนกลาง 2 กรณี (สามารถถกเถียงเชิงวิชาการได้)

หนึ่ง กรณีการทำให้ถูกเข้าใจว่าอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติเป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยเขียนข่าวระบุว่า “แถลงการณ์พรรคประชาชาติ …หรือจะเป็นแนวร่วมกันกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ถูกตั้งข้อสังเกตมาตลอด ไม่มีแม้แต่ข้อความเดียวที่ประณามการกระทำของกำลังติดอาวุธ RKK จากขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN ต่อความโหดเหี้ยมสังหารหมู่ชาวบ้านที่เป็น จนท.รักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน ชรบ.มีปืนลูกซอง ปืนพกเป็นอาวุธประจำกาย มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยของชุมชน ถูก RKK ปิดล้อมโจมตีด้วยกำลังขนาดใหญ่พร้อมอาวุธสงครามเป็นครั้งแรก”

สอง เพิ่มเติมเนื้อหาข่าวในแถลงการณ์สำนักจุฬาราชมนตรีว่า “สำนักจุฬาราชมนตรีออกแถลงการณ์ประณามการกระทำอันเหี้ยมโหดของ BRN ต่อชุดอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เป็นการกระทำที่ใช้ความรุนแรงอย่างไร้ขอบเขต ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ละเมิดหลักธรรมคำสอนของทุกศาสนาอย่างร้ายแรง” ทั้งๆ ที่สำนักจุฬาราชมนตรีไม่ได้ใช้ถ้อยคำรุนแรงดังที่เขียน ดังนั้น โปรดมีจรรยาบรรณในการเขียนข่าว

นอกจากนี้ มีเพจ IO ขาประจำที่โจมตีคนที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น กล่าวว่า

“NGOs ปกป้องผู้บริสุทธิ์หรือพวกโจรกันแน่ องค์กรพวกนี้สมควรให้มีอยู่อีกหรือ? นี่หรือที่พูดอยู่เสมอว่าทำเพื่อคนบริสุทธิ์ แต่ที่เห็นที่ผ่านมานี่ เพื่อโจรใต้ทั้งนั้น ทุกครั้งที่ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต องค์กรก็เงียบต้องรอให้คนออกมาถามหาว่าไปอยู่ในกะลาอันไหนถึงจะโผล่หัวออกมา เห็นพี่น้องผู้บริสุทธิ์เป็นผักปลาหรือไง ถึงไม่คิดจะออกมาเรียกร้อง เห็นบ้างไหมว่าชาวบ้านที่สูญเสียคนรักเขาเสียใจมากแค่ไหน หยาดน้ำตาที่ไหลจนจะเป็นสายเลือด แต่พวกคุณกลับมุดหัวอยู่ในกะลา นี่ถ้าเป็นพวกโจรสิ ไม่ต้องรอให้คนมาถามหาหรอก รีบทุบกะลาออกมาแทบไม่ทันเลย ยุบเถอะ มีไปก็ไม่มีผลดีอะไรต่อพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์เลย อย่าเห็นแก่ผลตัว (โปรดดูในเพจแฉ ความเคลื่อนไหวสถานการณ์จริง BRN) ทั้งๆ ถ้าเรารวบรวมแถลงการณ์ กรณีเหตุการณ์นี้กลับตรงกันข้าม เช่น แถลงการณ์ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี The Federation of Patani Students and Youth – PerMAS

https://www.facebook.com/…/a.14462563556…/2239762826325309/…มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCF)

https://www.facebook.com/CrCF.Thailand/posts/2494470730600198 สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) https://www.facebook.com/…/rpp.146958712…/2556607531084020/…

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) https://news.thaipbs.or.th/content/285845

และสำนักจุฬาราชมนตรี https://siamrath.co.th/n/113929

3.ถอดบทเรียนเรื่อง ชรบ.

ผู้เขียนให้สัมภาษณ์บีบีซีภาคภาษาไทยโดยตั้งข้อสังเกตประเด็นที่ ชรบ.ตกเป็นเป้าโจมตีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ชรบ.ถูกผู้ก่อความไม่สงบมองว่าเป็นสายให้ทหารและตำรวจ

“คนเห็นต่างจากรัฐที่ใช้อาวุธ มองว่ามีความชอบธรรมที่จะต่อสู้กับ ชรบ. เพราะ ชรบ.มีอาวุธ เขาไม่ได้มองว่า ชรบ.เป็นชาวบ้านธรรมดา แต่ผู้ก่อเหตุเห็นว่า ชรบ.เป็นคนของรัฐ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เป็นกลุ่มคนที่เข้าไปอยู่ในความขัดแย้งแล้ว จึงมีความชอบธรรมที่จะต่อสู้ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าการโจมตีก็ต้องดูว่า ชรบ.เขาต่อสู้หรือเปล่า ถ้าเขาเฝ้าเวรยามอยู่ในจุดตรวจของเขา ผู้ก่อเหตุก็ไม่มีความชอบธรรมที่ไปต่อสู้” โปรดดูใน https://www.bbc.com/thai/thailand-50329917

“ชรบ.” “ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน” หมายความถึงราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

ดร.พัทธ์ธิรา นาคอุไรรัตน์ เสนอว่า “ต้องแยกประชาชนออกจากคนถืออาวุธ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ถืออาวุธ”

เมื่อใดที่ประชาชนถูกฝึก ถูกสอน ถูกมอบอำนาจให้ใช้อาวุธได้ เมื่อนั้นความชอบธรรมในการอ้างการปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์จะขาดลง ในเมื่อมีงบประมาณ มีกำลังทหาร-ตำรวจมากมายอยู่ในพื้นที่ เหตุใดจึงต้องฝึกอบรมให้ประชาชนถืออาวุธป้องกันหมู่บ้าน

แล้วกำลังทหารและตำรวจทำอะไร งบประมาณมากมายถูกใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร

เป็นคำถามที่เราซึ่งเป็นผู้เสียภาษีทั้งประเทศ พึงลุกขึ้นถามและตรวจสอบข้อเท็จจริงของคำตอบ ข้อสังเกต ในเมือง บนถนนสายหลักในสามจังหวัด มีด่านแทบจะทุกๆ หนึ่งกิโลเมตรในถนนสายหลัก ในเมืองแทบจะทุกตรอกซอกซอย

ในขณะที่ในหมู่บ้านห่างออกไป กลับฝึกให้ชาวบ้านซึ่งไม่ได้เกิดมาเพื่อจะเป็นผู้ถืออาวุธปกป้องตัวเองและหมู่บ้าน

ส่วนค่าย/ป้อมทหารก็อยู่ไม่ไกลจากกัน เหตุใดป้อม ชรบ.จึงถูกถล่มป้อมแล้วป้อมเล่า สมควรต้องปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ปกป้องประชาชนได้หรือยัง

นโยบายฝ่ายความมั่นคง ควรจะทำอะไรบ้าง มากกว่าที่จะออกมาบอกภายหลังจากที่เกิดเหตุ และมีคนเสียชีวิตแล้ว

ข้อสังเกตสำคัญคือ แทบทุกครั้งที่เกิดเหตุความรุนแรง คนที่เข้าไปก่อนมักจะเป็นอาสาสมัครกู้ภัยคล้ายๆ กับที่กรุงเทพฯ หรือที่จังหวัดอื่นๆ แทนที่จะเป็นทหารซึ่งมีกองกำลังเต็มไปหมดในพื้นที่

ปรากฏการณ์ดังกล่าว หมายถึงอะไร

จะใช้เป็นข้อบ่งชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายความมั่นคงได้หรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงถึงตายด้วยสันติวิธี หากผู้มียุทธศาสตร์และความจริงใจจะแก้ไขปัญหาจริง เขาหรือเธอจะพยายามสื่อสารเพื่อให้เห็นว่า เรายังมีวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้กำลังความรุนแรงในการตอบโต้ เพราะมันจะก่อให้เกิดวงจร/วงเกลียวความรุนแรงยิ่งวันยิ่งหนักขึ้น

สำหรับ ชรบ.ในมุมมองของคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้แล้ว นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวว่า

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เห็นด้วยกับทหารว่า ชรบ.เป็นพลเรือน เพราะคิดว่า ชรบ.ไม่ได้ฝึกมาให้รบ ให้มารักษาความปลอดภัย (ภัยหลายแบบ) แม้จะมีเป้าประสงค์เพื่อต้านภัยก่อความไม่สงบ แต่ไม่ได้เป็นการฝึกเพื่อรบเหมือนกับทหารพราน (หรือแม้กระทั่งทหารพรานบางหน่วยหรือบางส่วนงานก็อาจจะไม่ใช่พลรบก็ได้) มันสีเทาๆ แต่ในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน เราคิดว่าควรตีความความเทาๆ นี้ เป็นประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิตมนุษย์ เราไม่ส่งเสริมให้มีการรบหรือการใช้ความรุนแรงต่อกัน”

“การติดอาวุธพลเรือนของเราไม่ได้เป็นหลักสากลที่มีการอ้างถึงกฎหมายสงครามหรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ชรบ.ไม่ได้ฝึกแบบนักรบ ไม่มีสรรพกำลังในทางรบ ไม่ใช่งานที่มอบหมายให้ไปรบ มีแต่การรักษาความปลอดภัย ดังนั้น เราไม่ได้กำลังอยู่ในแนวคิดการรบแบบสากลที่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกำหนด จึงคิดว่า ชรบ.มีสภาพจริงๆ เป็นพลเรือน มากกว่าพลรบ”

“ในบางประเทศที่ค้นคว้ามา มีการระบุว่า กองกำลังหลักต้องประกาศว่า พลเรือนที่ติดอาวุธเป็นพลรบของตนอย่างเป็นทางการด้วย จึงจะเข้าข่ายว่าเป็นพลรบ แต่ผู้เสียชีวิตไม่ใช่เขาเป็นผู้เสียหายและครอบครัวต้องได้รับการเยียวยา และไม่เห็นด้วยในการติดอาวุธพลเรือนทุกรูปแบบ (ไม่ใช่แนวทางสันติวิธี) และต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างของ ชรบ.เพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยสาธารณะได้ด้วยวิธีการหลากหลายที่ไม่ใช่แค่เพียงการให้ปืนให้เงินค่ากาแฟทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติอย่างจริงจัง”

ควรมาถอดบทเรียนกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ทำไมเหตุการณ์โจมตีป้อม ชรบ.จนสูญเสียถึง 15 คนถึงเกิดขึ้นได้ มีความหละหลวม ประมาทเลินเล่อตรงไหน?

มีหลากภาคส่วนเสนอปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานผ่านเพิ่มงบประมาณและวัตถุ แต่นอกจากด้านวัตถุที่ต้องพัฒนา ชรบ.แล้วจิตวิญญาณก็เช่นกัน โดยต้องกลับไปดูให้ดีว่า ชรบ.บางส่วนมีพฤติกรรมใดบ้างที่ชาวบ้านกล่าวขวัญ

4.นำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

ต้องนำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice – TJ) มาใช้โดยให้นำมาใช้ ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชัง โดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restroative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการตรวจสอบค้นหาความจริงจากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ

เช่น นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาววิสัย

พร้อมทั้งการชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ

ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต. อีกทั้งการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง

โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้ามคือการปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ท้ายสุดคือการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาโดยพัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ

โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพและพัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น

แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้

การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ

5.กลับไปดูข้อเสนอจากผลสำรวจประชาชน

จำได้ว่า 28 กุมภาพันธ์ 2562 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่าย Peace Survey 19 องค์กร ร่วมกับศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม และศูนย์ข่าวสารสันติภาพ จัดเวทีนำเสนอ 7 ข้อเสนอจากประชาชนสู่นโยบายชายแดนใต้หลังเลือกตั้งปี 2562 โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองจาก 9 พรรคเข้าร่วมรับฟังและนำเสนอนโยบายที่แต่ละพรรคมีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ ประกอบด้วย

1. ยกระดับให้การพูดคุยสันติภาพเป็นแกนกลางในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง

2. เร่งปกป้องพลเรือนจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ์

3. ทบทวนประสิทธิผลการแก้ปัญหายาเสพติดและเร่งตั้งกลไกพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหตุรุนแรง

4. ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณด้านการพัฒนาในพื้นที่

5. ออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและสะท้อนวิถีอัตลักษณ์วัฒนธรรม

6. กระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่

และ 7. เปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงเรื่องอ่อนไหวทางการเมืองโดยไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ว่านี้เป็นผลมาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ (PeaceSurvey) จำนวน 4 ครั้ง โดยเริ่มต้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนถึงครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2561

รายงานระบุไว้ว่า การสำรวจทั้งหมดมาจากตัวอย่างหรือผู้ให้ความเห็นรวมทั้งสิ้นจำนวน 6,321 คน มาจากทั้งหมด 622 หมู่บ้าน ในวิธีการที่ผู้ดำเนินการระบุว่า มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) ที่ลงไปจนถึงระดับครัวเรือน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนและทุกกลุ่มมีโอกาสถูกเลือกในการแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับการสำรวจนั้นครอบคลุมเรื่องของทัศนคติต่อสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ สาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ และข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต

ผลของการสำรวจความเห็น ได้ข้อมูลโดยสรุปว่า ที่ผ่านมามีประชาชนเพียง 1 ใน 4 (ร้อยละ 25.6) ที่รู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้น

แต่ประชาชนที่เหลืออีกราว 1 ใน 5 (ร้อยละ 21.7) มองว่าสถานการณ์แย่ลง

และมีอีกเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 42.6) ที่มองว่าเหมือนเดิม

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในความรู้สึกของผู้ถูกสอบถามนั้น มาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ที่ดำเนินการมายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้

ทั้งหมดนี้เน้นย้ำให้เห็นว่ามีความจำเป็นที่พรรคการเมืองควรจะปรับนโยบายที่มีต่อสามจังหวัดภาคใต้

ในส่วนหนึ่งของการประมวลความเห็น รายงานของผู้ดำเนินการสำรวจระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ให้ความเห็นคือ 65.4% ไม่ว่าจะมาจากศาสนาใดล้วนสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ

(สามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://deepsouthwatch.org/th/node/11910)

ทหารถอยจากอำนาจโดยใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหารเชิงประจักษ์” หรือ “การเมืองนำการทหาร” อย่างเป็นรูปธรรม ถอยจากอำนาจใน ศอ.บต. ทำให้ ศอ.บต.มีความเป็นอิสระ มีความเป็นประชาธิปไตย นำ พ.ร.บ.ศอ.บต.มาใช้เต็มรูปแบบโดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาเดิมที่มาจากทุกภาคส่วน และยกระดับให้เป็นหน่วยงานที่มีผู้นำสูงสุดมาจากการเลือกตั้งทางตรงเพื่อกระจายอำนาจสู่พื้นที่

ยกเลิกการนำ ศอ.บต.ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน.4 โดยให้ กอ.รมน.4 กำกับดูแลเฉพาะหน่วยกำลัง เพื่อรักษาความสงบ และให้ กอ.รมน.ปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับ จชต. ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ส่งผ่าน ศอ.บต.เท่านั้น

ข้อควรระวังมากๆ คือการคอร์รัปชั่น ซึ่งต้องขจัด/ลดปัญหาการคอร์รัปชั่น หักหัวคิว เพราะหากยังปล่อยให้มีการทุจริต จะยิ่งดิสเครดิตฝ่ายรัฐเอง พร้อมเสริมบทบาทท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงานพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม