หนุ่มเมืองจันท์ | เรียนรู้จาก “เด็ก”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมรู้จักโรงเรียนรุ่งอรุณมานานแล้ว

แต่รู้จักเพียงแค่ในฐานะโรงเรียนทางเลือก ที่มีวิธีการเรียนการสอนไม่เหมือนกับโรงเรียนอื่น

รู้ว่าเด็กนักเรียนจากโรงเรียนนี้ช่างซักถาม และกล้าคุยกับผู้ใหญ่

รู้แค่นี้เองครับ

ลืมไปเรื่องหนึ่ง

โรงเรียนสวยมาก ต้นไม้เยอะมาก

จนวันหนึ่งผมอ่านนิตยสาร a day

เขาพาดปกว่า working culture

คัดเลือก “ที่ทำงานที่เราอยากทำงานด้วย” 10 แห่ง

เช่น GDH บาร์บีคิว พลาซ่า lllution TDRI โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ WAY ฯลฯ

และโรงเรียนรุ่งอรุณ

ถ้าสัมภาษณ์เจ้าของหรือผู้ก่อตั้งแล้วพูดถึงโรงเรียนในแง่ดี

เราก็คงตั้งคำถามในใจว่า “จริงหรือ”

แต่พออ่านบทสัมภาษณ์ “ครู” และคนทำงานที่นี่

ผมตั้งคำถามใหม่

“เขาทำอย่างไรจึงทำให้คนรักองค์กรขนาดนี้”

รักวิธีการทำงาน

และสนุกกับการทำงาน

มีบทสัมภาษณ์ครูหลายคน ทุกคนสนุกกับการสอน

เพราะการสอนที่โรงเรียนนี้คือ การตั้ง “คำถาม” ให้เด็กสงสัยและหา “คำตอบ”

มีโครงงานใหม่ๆ ที่เด็กคิดเอง

บางเรื่องครูก็เพิ่งรู้เหมือนกัน

ปรัชญาของโรงเรียนรุ่งอรุณคือ ชีวิตคือการเรียนรู้

ไม่ว่าครูหรือนักเรียน

ต้องเรียนรู้ใหม่เสมอ

ที่น่าอิจฉาคือ ทุกคนตื่นขึ้นมาแล้วอยากมาทำงานทุกวัน

ที่ผมชอบมาก คือ “ลุงแดง”

เขาเริ่มต้นงานที่โรงเรียนรุ่งอรุณในตำแหน่ง “รปภ.”

ชอบเรื่องต้นไม้ อยากทำเกษตรอินทรีย์

เห็นที่นี่ต้นไม้เยอะ อยากไปทำเรื่องต้นไม้ ดูแลสิ่งแวดล้อม

โรงเรียนก็เปิดโอกาสให้ทำ

อยากทำอะไร…ทำเลย

เขาเห็นใบไม้ร่วงเยอะ เสนอให้ทำปุ๋ย

ไปคุยกับครู ขอให้แต่ละห้องแยกขยะ เพื่อเอาเศษอาหารไปทำปุ๋ย

ศึกษาหาความรู้จากหนังสือ ยูทูบ

จนวันนี้ “ลุงแดง” ทำโรงหมักปุ๋ย เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ใครมาเยี่ยมโรงเรียนต้องมาขอความรู้จากเขา

ทำงานทุกวัน

เสาร์-อาทิตย์ หยุดงาน

ก็มาโรงเรียน

ฟังเพลงแล้วเลี้ยงไส้เดือน

สรุปว่าอยู่โรงเรียนทุกวัน

ถ้าไม่รักจริง คงไม่มา

มีบทสัมภาษณ์อาจารย์ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณด้วย

อ่านแล้วรักเลย

ชอบจนต้องเชิญมาคุยที่ ABC

ผมถามว่าหน้าที่หลักของอาจารย์ประภาภัทรทำอะไรบ้าง

“ตั้งคำถาม”

ผมนึกถึงบทสัมภาษณ์ของครูและคนทำงานใน a day เลย

ทุกคนบอกเหมือนกับว่าอาจารย์ประภาภัทรจะตั้งคำถามตลอด

ถามครูพละว่าเรียนพละไปทำไม

เรียนแล้วดีกับชีวิตอย่างไร

คนที่มาเรียนกับคนที่ไม่เรียน ชีวิตของเขาดีขึ้นต่างกันไหม

“สอนให้เขาคิดว่าวิชาพละมีคุณค่าอย่างไร”

ตอนนี้เขาเลยไม่ได้สอนพละ

แต่สอนนักเรียนให้เล่นกีฬา

นักเรียนก็ชอบและสนุก

มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบ

อาจารย์ประภาภัทรเล่าว่า ครูวิทยาศาสตร์จะสอนเรื่อง “แรง”

คำถามแรกที่ถามคือ “เรียนเรื่องแรงแล้วได้อะไรขึ้นมา”

เรียนแล้วดีกับชีวิตอย่างไร

ถามแบบเดิม

ครูต้องกลับไปหาคำตอบให้ได้

ถามไปเรื่อยๆ

จนถึงขั้นว่าจะสอนนักเรียนแบบไหน

ระหว่างที่ครูคิด อาจารย์ประภาภัทรก็เสนอว่า ที่โรงเรียนมีต้นไม้ต้นหนึ่งโค่น

ให้ชวนนักเรียนไปลากต้นไม้กันดีกว่า

แม้จะช่วยกันหลายคน แต่ลากต้นไม้ใหญ่ก็ลำบากมาก

เริ่มมีคนคิดทำเครื่องทุ่นแรงต่างๆ

เรียนรู้เรื่องทั้งเรื่องแรงดึง แรงผลัก แรงเสียดทาน ฯลฯ

จากการลงมือทำงานจริง

หรือวันหนึ่ง “แม่ครัว” ลาออก

เป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียน

อาจารย์ประภาภัทรเปลี่ยน “ปัญหา” เป็น “โอกาส” ด้วยการชวนให้ “ครู-เจ้าหน้าที่” และ “นักเรียน” มาทำกับข้าวกินกัน

เริ่มต้นด้วยการไปซื้ออุปกรณ์ทำครัว แล้วบอกว่า “เมนู” ที่เธอจะทำคืออะไร

คนอื่นก็ไปคิดเมนูมา

จากนั้นก็ไปซื้อกับข้าว หุงข้าว ทำกับข้าว

แล้วก็มากินข้าวกัน

แค่นั้นเอง

พอฝ่ายหนึ่งเริ่ม ฝ่ายอื่นก็เริ่มบ้าง

ทุกห้อง ทุกฝ่ายก็ทำอาหารกลางวันกินกันเอง

กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของโรงเรียนรุ่งอรุณ

พัฒนาเป็นตลาดสดตอนเช้าในโรงเรียนให้ทุกฝ่ายมาจับจ่ายใช้สอย

11 โมง ทุกคนจะวางมือจากงาน เริ่มทำกับข้าว

เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณ

ทุกคนได้รู้จักกันผ่านมื้ออาหาร

ฟังดูคล้าย google

แต่ที่โรงเรียนรุ่งอรุณเหนือกว่า

เพราะไม่ใช่แค่กินข้าวด้วยกันแบบ google

แต่ได้ลงแรงทำอาหารกลางวันด้วย

ทุกวันเหมือนได้ทำ project ใหม่

“พรุ่งนี้จะกินอะไรกันดี”

อาจารย์ประภาภัทรเชื่อว่าทักษะสำคัญของการใช้ชีวิต

คือ การทำอาหาร

ทุกคนต้องทำอาหารเป็น

และล้างจานเป็นด้วย

บทสัมภาษณ์อาจารย์ประภาภัทรในหนังสือ a day

มีคำถามหนึ่งที่ผมชอบ

มีหนังสืออะไรแนะนำให้ทุกคนได้อ่านบ้าง

คำตอบก็คือ

1. พุทธธรรม ของ ป.อ.ปยุตฺโต

2. เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

3. จะเล่าให้คุณฟัง ของ ฆอร์เฆ่ มูกาย

ขออีก…

“ไม่มีแล้ว ไม่ต้องอ่านมาก อ่านตัวเองให้ออก อ่านโลกให้เป็น อันนั้นสำคัญกว่า”

คมกริบ

ในวันที่ผมสัมภาษณ์อาจารย์ประภาภัทรก็เช่นกัน

ผมถามว่า คลุกคลีกับเด็กมาตลอด เรียนรู้อะไรจากเด็กบ้าง

คำตอบสั้นๆ

“เรียนรู้ความเป็นเด็ก”

อาจารย์ประภาภัทรบอกว่าเด็กทุกคนมีจินตนาการ

ทุกอย่างเป็นไปได้

กล้าคิด

“และไม่กลัวผิด”

เราเคยมีสิ่งนี้อยู่ในตัว

แล้ววันนี้ “ความงดงาม” เหล่านี้หายไปไหน

อาจารย์ประภาภัทรจบ “คำตอบ”

ด้วย “คำถาม”