จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2562

จดหมาย

 

0 เสียงก้องถึง “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

 

สวัสดีครับ

ผมได้อ่านบทความ “เทคโนโลยีในระบอบเผด็จการ” ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมพอเข้าใจว่าอาจารย์นิธิต้องการให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของสังคมในการพัฒนาเทคโนโลยี

แต่ในบทความของอาจารย์นิธิ ผมว่ามีข้อผิดพลาดและไม่เข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการเมืองจีนอยู่บ้าง

ซึ่งผมขออธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้

 

1.อาจารย์นิธิพูดถึงเทคโนโลยีของจีนที่สามารถสร้างดาวเทียมได้

แต่ไม่สามารถสร้างนาฬิกาไขลานได้เท่าญี่ปุ่นได้

ปัญหาคือมันเป็นเรื่องปกติครับ

ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้มีศักยภาพในการเป็นผู้นำในเทคโนโลยีแทบทุกด้าน

เป็นผู้นำในบางด้านเท่านั้น

เพราะแต่ละเทคโนโลยีที่คิดค้นมานั้นต้องใช้เวลาในการคิดหลายปี

ใช้ทั้งบุคลากร ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ สิ่งแวดล้อม

ไม่ใช่ทุกประเทศ ทุกบริษัทจะมีในทุกๆ ด้าน

เยอรมนีขึ้นชื่อในด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรม

แต่มีใครบอกชื่อบริษัทไอทีของเยอรมนีได้บ้าง

ความแตกต่างด้านเทคโนโลยีนี้รวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย

สมาร์ตโฟนของจีนเองมีชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

เพราะว่าชิ้นส่วนตัวเล็กๆ อย่างเช่น ชิพเสียง ใช้เวลา บุคลากร ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเงินทุนในการพัฒนา

บริษัทที่พัฒนามันขึ้นมาอาจมีไม่กี่บริษัทในโลกนี้

แน่นอน แม้แต่บริษัทอเมริกันอย่างแอปเปิลก็ต้องสั่งหน้าจอสมาร์ตโฟนของคู่แข่งซัมซุง

เพราะมีแต่ซัมซุงเท่านั้นที่จะผลิตหน้าจอให้ตรงความต้องการของแอปเปิลได้

ไม่ว่าใครจะออกแบบชิพอะไร ก็อาจจะไปจ้างบริษัทไต้หวันไปผลิตอีกที

เพราะว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างชิ้นส่วนทดแทนชิ้นส่วนที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว

และมันทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งกับบริษัทอื่นๆ ได้

แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสที่บริษัทใดจะแซงหน้าบริษัทที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีได้

เพราะทุกเทคโนโลยีย่อมล้าสมัย

บริษัทหรือประเทศที่คิดจะแซงหน้าจะต้องลงทุนในวิทยาการที่ยังไม่มีใครเชี่ยวชาญในด้านนั้นไปก่อน

เพื่อที่จะหวังว่ามันจะแทนที่ของเก่าๆ

นี่คือเหตุผลทำไมธนาธรถึงอยากสนับสนุนไฮเปอร์ลูป

เพราะมันคือทางที่ไทยเราจะแซงหน้าประเทศที่มีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้

แต่ว่าไม่ใช่ทุกเทคโนโลยีจะประสบความสำเร็จได้ สิ่งใหม่ๆ มันก็คือการเดิมพันที่เสี่ยง

แต่ผลตอบแทนก็สูง หากว่าสำเร็จ

 

2.การที่ประเทศเผด็จการ คิดค้นอาวุธยุทโธปรณ์ก้าวหน้ากว่าเทคโนโลยีของพลเรือน

ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน

เพราะประเทศไหนๆ ย่อมต้องคำนึงถึงความมั่นคง

การพึ่งตนเองในทางทหารเป็นสิ่งที่จำเป็น

ไม่มีประเทศไหนซื้ออาวุธของศัตรู

เพราะศัตรูก็คงไม่ขายให้ประเทศที่จะหันปืนมายิงใส่ตน

เท่าที่ดูประเทศส่วนใหญ่จะซื้ออาวุธกับพันธมิตรด้วยกัน

หรือสั่งซื้อจากหลายๆ ประเทศเพื่อประกันการผูกขาดไว้กับประเทศใดประเทศหนึ่ง

จนการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแล้วจะมีปัญหาในด้านกำลังบำรุง

หากพัฒนาให้ประเทศสามารถผลิตอาวุธเองได้หมด จะประกันความมั่นคงได้อย่างมาก

แต่มีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ทำได้

“ความมั่นคง” เป็นข้อยกเว้นเสมอในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เบื้องหลังของการที่สหรัฐกดดันไม่ให้พันธมิตรติดตั้งเครือข่ายหัวเว่ยก็คือความมั่นคงนี้แหละ

 

3.เรื่องที่ระบบเบรกเอบีเอสคิดค้นโดยคนไทยไม่น่าจะจริงนะครับ

เพราะมันเป็นคอนเซ็ปต์เก่าเป็นร้อยกว่าปีแล้วโดยคนฝรั่งเศสชื่อว่า Gabriel Voisin

และระบบเบรกเอบีเอสที่ควบคุมด้วยไฟฟ้าก็คิดค้นโดยบริษัทญี่ปุ่นชื่อเดนโซ

ส่วนนวัตกรรมระดับที่คนไทยน่าจะมีส่วนร่วมด้วย

น่าจะเป็นระบบ Natural Languange Interface

โดยศาสตราจารย์ Cheng Hsu กับ ดร.วีระ บุญจง ในตอนที่ยังเป็นนักศึกษา

จนมีการฟ้องร้องกับแอปเปิลในระบบเอไอสิริ

แต่ ดร.วีระไม่ได้เงินนะครับ เพราะคนที่ฟ้องเป็นบริษัทอื่นแทน

 

4.การที่อาจารย์นิธิเอาโซเวียตไปเทียบกับจีนในยุคหลังปฏิรูปเศรษฐกิจ

ผิดฝาผิดตัวเป็นอย่างมาก

เพราะที่สำคัญอย่างแรกเลยคือโซเวียตไม่ได้ค้าขายกับประเทศทั่วโลกเหมือนจีน

ไม่มีใครไปลงทุนในโซเวียตเหมือนจีน

และบริษัทโซเวียตก็ไม่ไปลงทุนในต่างประเทศขนาดใหญ่เหมือนจีน

จีนเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลกมากกว่าโซเวียต

เรื่องที่รัฐบาลจีนถือหุ้นของบริษัทผมว่ามันมีอยู่สองกรณี

คือกองทุนของรัฐไปลงทุนในเอกชนก็ต้องแลกกับหุ้นอยู่แล้ว

หรือรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปเป็นเอกชน

รัฐบาลจีนไม่จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นในการควบคุมเอกชน

เพราะมีกฎหมายเซ็นเซอร์อยู่แล้วครับ

 

5.อาจารย์นิธิบอกว่าในสังคมเผด็จการที่ควบคุมและผูกขาดโดยรัฐไม่สามารถที่จะสร้างแรงจูงใจที่จะคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

แต่จีนไม่ได้เป็นแบบนั้นแน่

เพราะไม่งั้น Colin Huang อดีตพนักงานกูเกิล

คงไม่กลับไปจีนแล้วตั้ง Pinduoduo มาแข่งกับอาลีบาบาของแจ๊ก หม่า จนขึ้นเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับสามในจีนได้

หรือแอพพ์วีแชตคงไม่ได้เกิด จนเป็นตัวอย่างให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก พยายามที่จะตั้งลิบราเพื่อทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นซูเปอร์แอพพ์

หรือแอพพ์ Tik Tok ที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมไปทั่วโลกก็คงไม่ได้เกิด

รัฐบาลจีนรู้จักเลือกที่ปิดกั้นบางเรื่องแต่ปล่อยในบางเรื่อง

เพราะรู้ดีว่าจีนเองยังต้องพัฒนาให้เหนือกว่าตะวันตก

แต่ในบางเรื่องจีนก็เริ่มที่จะก้าวมาเป็นที่หนึ่ง

อาจารย์นิธิลองดูภาพการก่อสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษที่ผมแนบไฟล์มา

ถ้าดูตรงเครนยักษ์จะเจอโลโก้คำว่า ZPMC ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน

วุฒิชัย อยู่ออมสิน

 

แม้บทความ

“เทคโนโลยีในระบอบเผด็จการ”

ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มุ่งจะตีอ้อมกลับ

มายังบางประเทศ

แต่สิ่งที่ “วุฒิชัย อยู่ออมสิน” โฟกัสไปยังจีน

ก็ไม่ได้ถือว่าขัดแย้ง

ตรงกันข้ามกลับมาช่วยเสริม

ทำให้ได้ข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น

ขอบคุณ และโปรดเขียนมาอีก