วรศักดิ์ มหัทธโนบล : แผนกำจัดพี่น้องของ “หลี่ซื่อหมิน”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

กำเนิดถัง (ต่อ)

หลี่ซื่อหมินตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นมาจนถึง ค.ศ.626 ก็ได้เกิดเหตุชนชาติเติร์กกรีธาทัพมาประชิดชายแดน

จากเหตุนี้ หลี่เจี้ยนเฉิงกับหลี่หยวนจี๋จึงใช้โอกาสที่หลี่ซื่อหมินกำลังเสมือนไร้แขนขาให้เป็นประโยชน์ ด้วยการใช้ขุนศึกมือดีและกองกำลังของหลี่ซื่อหมินไปทำศึกกับชนชาติเติร์ก

พร้อมกันนั้นก็ติดสินบนเหล่าขุนนางคนสำคัญของเขาจนถึงขนาด ด้วยหวังกำจัดขุมกำลังของหลี่ซือหมินให้สิ้นซาก ถึงแม้จะไม่สำเร็จมากนักก็ตาม

ส่วนถังเกาจู่ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์นี้โดยตลอดก็มิได้พยายามที่จะห้ามปราม ยังคงปล่อยให้แผนเหล่านี้ดำเนินไป ปล่อยไปแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่ยังคงคลุมเครือในข้อเท็จจริง ที่ว่าแผนนั้นถึงกับมีการวางยาพิษหลี่ซื่อหมินโดยหลี่เจี้ยนเฉิง แต่หลี่ซื่อหมินรอดมาได้

ภาวะที่ตกเป็นรองของหลี่ซื่อหมินดังกล่าว ทำให้เขาต้องระมัดระวังตัวและรอบคอบมากขึ้น 

 

เวลานั้นนอกจากฐานที่มั่นในลว่อหยังกับกองกำลังในฉังอันอีกจำนวนหนึ่งแล้ว หลี่ซื่อหมินก็ไม่มีกำลังอื่นอีก ความระมัดระวังและรอบคอบทำให้หลี่ซื่อหมินค่อยๆ วางแผนเพื่อตอบโต้สองพี่น้องของตนบ้าง จนคราวหนึ่งอุปนิกขิตที่เขาส่งไปสอดแนมก็แจ้งมาว่าสองพี่น้องของตนกำลังวางแผนฆ่าตน

ถึงตอนนี้หลี่ซื่อหมินจึงลอบติดต่อกับฝังเสีว์ยนหลิงและตู้อี๋ว์ฮุ่ยให้มาพบกับตน ที่ปรึกษาที่จงรักภักดีทั้งสองคนจึงได้ปลอมตนเป็นนักพรตลัทธิเต้า ลอบเข้าพบหลี่ซื่อหมินที่ค่าย จากนั้นก็ร่วมกันวางแผนตอบโต้พี่น้องทั้งสอง

โดยรวมแล้วแผนดังกล่าวก็คือ การพยายามเข้าไปยังวังหลวงโดยผ่านเสีว์ยนอู่เหมิน (ประตูเสีว์ยนอู่) จากนั้นจึงเข้าจัดการกับพี่น้องทั้งสอง ที่ต้องเป็นที่ประตูนี้ก็เพราะเป็นประตูที่ตั้งอยู่กลางกำแพงด้านเหนือที่จะนำไปสู่วังหลวง

หากมีเหตุร้ายหรือการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว กองกำลังจากกำแพงทั้งสี่ด้านสามารถเข้ามาต้านรับได้ทันท่วงที ประตูนี้จึงมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์

แผนที่เป็นจริงคือ หลี่ซื่อหมินได้ติดสินบนผู้บัญชาการยามเฝ้าประตูเสีว์ยนอู่เป็นที่สำเร็จด้วยดี จากนั้นในกลางปีเดียวกันก็สร้างเรื่องกล่าวหาพี่น้องทั้งสองของเขาว่ามีความสัมพันธ์ที่ผิดกฎหมายกับนางสนมของราชบิดา

ส่วนถังเกาจู่เมื่อทรงทราบแผนที่ถูกสร้างขึ้นแทนที่จะไตร่ตรองให้รอบคอบ ก็กลับให้สอบสวนเรื่องนี้กับพี่น้องทั้งสอง แต่การสอบสวนนี้ได้ล่วงรู้ไปถึงนางสนมคนที่ถูกกล่าวหา นางสนมผู้นี้จึงนำความมาแจ้งแก่พี่น้องทั้งสอง พร้อมกับแนะนำทั้งสองว่าอย่าได้เข้าไปในวังหลวงโดยเด็ดขาด โดยนางสนมจะหาทางไกล่เกลี่ยกับถังเกาจู่เอง

จากนั้นนางสนมผู้นี้ก็ควบม้าเข้าวังหลวงเพื่อปกป้องพี่น้องทั้งสอง

แต่ในระหว่างนั้นเช่นกัน หลี่ซื่อหมินได้นำกำลังที่ไว้ใจได้ 12 นายเข้าไปแอบซุ่มตามจุดต่างๆ ตรงบริเวณประตูเสีว์ยนอู่ จากนั้นไม่นานสองพี่น้องหลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่หยวนจี๋ก็เดินทางเข้ามายังวังหลวง โดยไม่เชื่อในคำแนะนำของนางสนม

เมื่อมาถึงบริเวณที่มีกำลังของหลี่ซื่อหมินซุ่มอยู่ หลี่เจี้ยนเฉิงจึงถูกมือสังหารคนหนึ่งของหลี่ซื่อหมินฆ่าตาย ส่วนหลี่หยวนจี๋ต้องลูกธนูของอี้ว์ฉือจิ้งเต๋อถึงแก่ความตายเช่นกัน

ข้างกองกำลังอารักขาพี่น้องทั้งสองเห็นเช่นนั้นก็กรูเข้ามาหมายจะต่อสู้ แต่ก็ต้องหยุดชะงักลงทันที เมื่อมือสังหารคนหนึ่งของหลี่ซื่อหมินชูศีรษะของพี่น้องทั้งสองขึ้นมาให้เห็น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญหลังจากนี้จึงเกิดจากเหตุการณ์ภราดรฆาตในครั้งนี้

 

อย่างไรก็ตาม ขณะเกิดเหตุการณ์ภราดรฆาตอยู่นั้น กล่าวกันว่า ถังเกาจู่กำลังทรงเรือพักผ่อนอยู่ในทะเลสาบของวังหลวง และผู้ที่หลี่ซื่อหมินส่งไปถวายรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คืออี้ว์ฉือจิ้งเต๋อ ผู้ซึ่งถังเกาจู่มีส่วนร่วมในการสั่งตายเมื่อก่อนหน้านี้

เมื่ออยู่หน้าพระพักตร์พร้อมกับนายทหารติดตามที่มีอาวุธพร้อมมือแล้ว เขาก็รายงานเหตุการณ์ทั้งหมด การที่หลี่ซื่อหมินให้อี้ว์ฉือจิ้งเต๋อเป็นผู้เข้าถวายรายงานนี้ ในด้านหนึ่งย่อมเป็นการแจ้งแก่ถังเกาจู่ว่า ตัวเขาคือผู้บัญชาการทางการทหารที่ทรงอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียวแล้ว

อันเป็นการส่งสัญญาณโดยนัยถึงถังเกาจู่ให้ทรงตัดสินพระทัยบางอย่างทางการเมือง

และสัญญาณนั้นก็ปรากฏออกมาหลังจากนั้นอีกสามวันต่อมา เมื่อถังเกาจู่ทรงประกาศให้หลี่ซื่อหมินเป็นองค์รัชทายาทแทนหลี่เจี้ยนเฉิง อีกทั้งยังให้ดูแลงานบริหารทั้งหมดแทนพระองค์อีกด้วย

ครั้นถึงเดือนแปดของปีเดียวกัน หลี่ซื่อหมินก็กดดันให้ถังเกาจู่สละราชสมบัติ ซึ่งแน่นอนว่า ถังเกาจู่จำต้องยอมสละอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง โดยทรงเปลี่ยนฐานะของพระองค์เป็นบรมราชชนก

หลังจากนั้นหลี่ซื่อหมินก็ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ที่สองของถังคือ ถังไท่จง

 

หลังจากเหตุการณ์ภราดรฆาตจนถึงการก้าวขึ้นสู่อำนาจของหลี่ซื่อหมินใน ค.ศ.626 ไปแล้ว มีหลักฐานน้อยมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรคู่นี้ และเท่าที่มีก็ทำให้ทราบว่า บาดแผลอันเกิดจากเหตุการณ์ในปีนั้นยากที่จะเยียวยา

ตัวอย่างหลักฐานที่บ่งชี้เช่นนั้นเรื่องหนึ่งก็คือ ใน ค.ศ.632 ถังเกาจู่ทรงถูกจำกัดบริเวณอยู่ในตำหนักทางตะวันตกของวังหลวง โดยผู้ดูแลเป็นขุนนางฝ่ายตรวจสอบผู้หนึ่ง ตำหนักนี้ตั้งอยู่ใกล้กับตำหนักของถังไท่จง แต่ถังไท่จงก็ทรงหาได้ไปเยี่ยมราชบิดาของพระองค์ไม่

ในบันทึกของขุนนางผู้นี้บอกเล่าว่า เมื่อถังไท่จงทรงแปรราชฐานไปยังชานเมืองหลวงในฤดูร้อน ถังเกาจู่ก็มิได้โดยเสด็จ แต่ทรงยอมทนอยู่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนรุ่มในฉังอัน ครั้นเมื่อถังไท่จงทูลเชิญเสด็จในฤดูร้อนของปีต่อมา ถังเกาจู่ทรงปฏิเสธคำเชิญนั้น

จนเมื่อทรงให้สร้างตำหนักขึ้นใหม่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของวังหลวง เพื่อให้เป็นที่ประทับในฤดูร้อนแก่ถังเกาจู่

แต่มิทันที่ตำหนักใหม่จะแล้วเสร็จ ถังเกาจู่ก็ทรงล้มป่วยลงและสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.635 

 

แต่ที่ดูจะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงบาดแผลระหว่างบิดากับบุตรได้ดีก็คือ สุสานที่ถังไท่จงทรงสร้างให้แก่ถังเกาจู่มิได้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ซ้ำยังเล็กกว่าสุสานที่ทรงสร้างให้กับมเหสีของพระองค์ ที่เห็นได้ถึงความตั้งใจที่จะให้เป็นที่พักผ่อนสุดท้ายแห่งชีวิตตามคติความเชื่ออย่างแท้จริง

การกระทำครั้งนี้หาได้อยู่เหนือคำวิจารณ์ของขุนนางในพระองค์คนหนึ่ง ที่ได้กล่าวเย้ยหยันถังไท่จงว่าทรงมีพฤติกรรมที่อกตัญญู ถึงแม้เกียรติภูมิของพระองค์หลังจากนั้นจะเป็นที่เลื่องลืออีกยาวนานก็ตาม

มิเป็นการกล่าวเกินจริงเลยที่ว่า ถังเกาจู่ถูกประเมินค่าต่ำเกินกว่าความเป็นจริงตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และที่เป็นเช่นนี้ในเบื้องต้นสุดย่อมมาจากเหตุการณ์การแย่งชิงอำนาจพี่น้องสองฝ่าย จนผลงานของถังเกาจู่ไม่เป็นที่กล่าวถึง

ในประการต่อมา บทบาทของถังเกาจู่ถูกทำให้คลุมเครือโดยเจตนาของบุคคลรอบข้าง ดังเห็นได้จากเหตุการณ์ข้างต้น นอกจากนี้ ตอนที่ตั้งตนเป็นใหญ่นั้นอายุของถังเกาจู่ได้ล่วงสู่วัย 50 แล้ว แต่ก็ยังคงแข็งขัน ทะเยอทะยาน และมีความเป็นผู้นำสูง ครั้นพอเป็นจักรพรรดิก็ได้วางรากฐานที่สำคัญในหลายเรื่อง

เมื่อผลงานของถังเกาจู่ถูกกลบด้วยเหตุสองประการข้างต้น ประเด็นคำถามที่เหลือจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ภราดรฆาตที่เสีว์ยนอู่เหมินอย่างไร

 

อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์ทำนองเดียวกับเหตุการณ์ภราดรฆาตที่เสีว์ยนอู่เหมินนั้น เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้จนแทบจะเป็นเรื่องปกติที่เข้าใจได้ แต่หากกล่าวเฉพาะในกรณีนี้แล้ว ประเด็นที่ถูกทำให้เข้าใจมาโดยตลอดก็คือ มีฝ่ายหนึ่งดีและฝ่ายหนึ่งเลว

โดยฝ่ายที่ดีคือฝ่ายหลี่ซื่อหมิน ส่วนฝ่ายที่เลวคือฝ่ายหลี่เจี้ยนเฉิงกับหลี่หยวนจี๋

การเขียนประวัติศาสตร์ทำนองนี้เห็นได้โดยทั่วไปแม้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะงานเขียนที่บอกเล่าด้วยภาษาที่อ่านง่ายเพื่อหวังเผยแพร่ได้กว้างขวาง บางเรื่องก็มีการแปลเป็นภาษาไทย

อย่างเช่นผลงานแปลเรื่อง “ถังไท่จงฮ่องเต้ : จักรพรรดินักปกครองแห่งราชวงศ์ถังของจีน” (2549) ที่เห็นว่าการเคลื่อนไหวแย่งชิงอำนาจของฝ่ายหลี่เจี้ยนเฉิงกับหลี่หยวนจี๋เป็น “เล่ห์กลอันต่ำทรามต่างๆ นานา”

หรือผลงานแปลเรื่อง “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” (2556) ที่เห็นว่าพี่น้องทั้งสอง “ไม่มีความดีความชอบอะไร ทั้งยังอิจฉาริษยา…คิดใช้แผนการชั่วร้าย” เป็นต้น