‘ท็อป’ สั่งอธิบดี คพ.จับตาฟื้น ‘ห้วยคลิตี้’ หลังจ้างเอกชนแก้ไขกว่า 2 ปี แต่โลหะหนักยังเกินมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดี คพ. นายชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง ผู้อำนวยการส่วนน้ำเสียชุมชน เดินทางลงพื้นที่บ้านคลิตี้ หมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อตรวจสอบกองตะกอนแร่ ที่ถูกบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ลักลอบนำไปทิ้งไว้ เมื่อครั้งที่บริษัทดำเนินกิจการเหมืองแร่ ภายหลังจากได้รับข้อมูลจากคณะกรรมไตรภาคี ในส่วนของประชาชนในพื้นที่ว่าพบกองตะกอนหางแร่ถูกทิ้งไว้ในป่า ใกล้เคียงพื้นที่ของโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่ คพ.ได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์เวอร์กรีน จำกัด หรือ BWG ดำเนินการ ซึ่งตามสัญญาจะสิ้นสุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2563

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าพื้นที่ที่มีกองตะกอนแร่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ จากการตรวจวัดค่าโลหะหนัก (ตะกั่ว) โดยเครื่องมือการตรวจวัดโลหะหนักของ คพ. โดยเจ้าหน้าที่ตรวจวัดกระจายในพื้นที่รอบๆ พบว่า มีค่าโลหะหนักสูงถึง 70,000-100,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก) ซึ่งเกินค่ามาตรฐานสากลที่กำหนดค่าไว้ต้องไม่เกิน 400 มก./กก.

 

นายกำธร ศรีสุวรรณ แกนนำชาวบ้านคลิตี้ (คณะกรรมการไตรภาคี) กล่าวว่า ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเป็นหุบเขาที่อยู่ใกล้เหมืองแร่ โดยในกระบวนการทำเหมืองจะมีกระบวนการแต่งแร่ในพื้นที่บ้านคลิตี้บน เมื่อสิ้นสุดกระบวนการ จะมีของเสียที่เป็นน้ำและตะกอนหางแร่ ตามข้อบังคับของการทำเหมือง บริษัทฯ จะต้องมีการสร้างบ่อบำบัดเพื่อดำเนินการฝังกลบ แต่บ่อที่จัดสร้างขึ้นมามีการนำหางแร่มาทิ้งจนเต็มแล้ว ไม่ได้มีการสร้างเพิ่ม แต่บริษัทกลับนำหางตะกอนหางแร่ตะกั่วซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิต ลักลอบนำไปทิ้งในป่า รอบๆ พื้นที่เหมือง ด้วยการใส่รถบรรทุกไปทิ้งจนเกิดเป็นกองขนาดภูเขาย่อมๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นอธิบดี คพ.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวอย่างละเอียด ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 4 ไร่ เพื่อคำนวณปริมาณตะกอนหางแร่ในพื้นที่ว่ามีปริมาณเท่าใด และให้ร่วมกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ตรวจสอบว่านอกจากพื้นที่นี้แล้ว ยังมีพื้นที่ตรงจุดไหนอีกที่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ลักลอบนำตะกอนหางแร่ เพื่อรวบรวมข้อมูล เสนอต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส. เพื่อพิจารณาหาทางกำจัดให้หมดไปจากพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยต่อชาวบ้านคลิตี้

นายประลองกล่าวว่า หากไม่มีการกำจัดในส่วนที่พบนี้ กระบวนการฟื้นฟูที่ผ่านมากว่า 2 ปี จะสูญเปล่า เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนน้ำก็จะชะล้างสารตะกั่วเหล่านี้ลงสู่ลำห้วยคลิตี้