บทวิเคราะห์ | ประลองกำลัง ศึก “กมธ.ป.ป.ช.” ยกแรกฝ่ายค้าน-รัฐบาลก่อนซักฟอก

ในงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความหวังสภาผู้แทนฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560” ไว้อย่างน่าสนใจ

น่าสนใจระดับที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงจะได้สดับรับฟังตั้งแต่ตัดสินใจ “ยอม” ให้คนอย่างนายชวนเข้ามาทำหน้าที่เป็นประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ

โดยเฉพาะ “เงื่อนไข” ในการกอบกู้ภาพลักษณ์รัฐสภา สถาบันอันเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยที่ไม่ใช่เพียงแค่ประกาศต่อสาธารณชนเท่านั้น แต่นายชวนยังได้บอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

เมื่อสภาเป็นเสาหลัก ก็จำเป็นต้องมีความเป็นอิสระ

“ในเมื่อถ้าเป็นผม เขายอมรับ เลยตัดสินใจบอกไปว่า ให้ทำงานร่วมกัน ทำให้สภาเป็นที่ยอมรับ เป็นตัวอย่างของการเคารพกฎหมาย ผมได้บอกสมาชิก รัฐบาล และบอกท่านนายกฯ ว่าต้องมาสภา ต้องมาตอบกระทู้ เมื่อมีญัตติเสนอท่านต้องมา”

ดังที่ได้เห็นกันแล้วในญัตติที่ 214 ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ที่แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับพิจารณา

พร้อมๆ กับมีคนนำเหตุแห่งการไม่รับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาอ้างว่า เมื่อศาลชี้ว่าไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใด สภาก็ไม่ควรมีสิทธิจะเปิดอภิปรายได้

แต่นายชวนก็เรียกประชุมแล้วเชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาตอบ

แม้การมาตอบแบบไม่ตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ในวันนั้นจะทำให้คลื่นลมจากปมถวายสัตย์สงบลงได้

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป การตอบเหมือนไม่ตอบกลับกลายมาเป็นพายุพัดใส่รัฐบาลอีกครั้ง

คราวนี้ นอกจากจะพัดใส่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ยังผ่านมาโดน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าให้ด้วย เมื่อคณะ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีมติเรียกทั้ง 2 ป.เข้าชี้แจง จากกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเรื่องความไม่สมบูรณ์ของ ครม. ต่อการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท อันเนื่องมาจากเหตุแห่งการถวายสัตย์ไม่ครบเข้าสู่ที่ประชุม กมธ.ป.ป.ช.

เป็นสเต็ปหลังจากที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เดินหน้าทักท้วงในที่ประชุมวาระแรก กระทั่งยกโควต้า 1 ที่นั่ง กมธ.วิสามัญฯ ให้กับพรรคพลังปวงชนชาวไทย วอล์กเอาต์โดยไม่ส่งคนของพรรคเสรีรวมไทยเข้าร่วมสังคายนากับกฎหมายงบประมาณ

เรียกได้ว่า ยื่นเอง ชงเอง นั่งหัวโต๊ะขอมติ กมธ.ด้วยตนเอง นี่จึงทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เจอครหา “บ้าอำนาจ” จาก กมธ. โดยเฉพาะจาก ส.ส.ซีกพรรคพลังประชารัฐ

ชุลมุนกันจนกระทั่งพลังประชารัฐต้องเดินเกมการเมืองใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัว กมธ. ด้วยการสลับ “ตัวจี๊ด” เข้ามาใน กมธ.ป.ป.ช.แทน

โดย “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม. เข้ามาแทนที่ “พยม พรหมเพชร” ส.ส.สงขลา และ “เจ๊เอ๋” น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เข้ามาแทนที่นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

ทั้งนี้ ตามจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ยังไม่ยอมปรากฏตัวต่อคณะ กมธ.ตามมติเรียก แต่ท่าทีของนายชวน เมื่อถูกถามครั้งแล้วครั้งเล่าว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่ แต่นายชวนก็ยังเหมือนเดิม ย้ำคำพูดเดิม

“กมธ.เรียกก็ขอความร่วมมือให้มา เว้นแต่ท่านมีเหตุผลที่ข้อบังคับเขียนยกเว้นไว้ให้ ขณะเดียวกันก็ขอร้อง กมธ.ว่า ต้องเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่มองว่า เขาเป็นจำเลย เป็นผู้ต้องหา หรือเป็นลูกน้องที่จะไปโขกสับเขา ต้องให้เกียรติกัน ความพอดีถึงจะอยู่ด้วยกันได้”

เตือนนิ่มๆ แต่ไม่เบรก เพราะถือเป็นการเรียกตามกฎหมาย จนกระทั่ง กมธ.ป.ป.ช. งัดโทษตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ พ.ศ.2554 มาดักทางล่วงหน้า

โดยเฉพาะโทษตามมาตรา 8 ถ้าเสียงข้างมากมีมติให้เรียกบุคคลนั้น หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

งานนี้ เรื่องจึงไม่จบแค่ในสภา

เพราะไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นตีความไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโทษตาม พ.ร.บ.คําสั่งเรียกฯ ขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 129 หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ยกเลิกอำนาจของ กมธ.ในการออกคำสั่งเรียกให้มีผลบังคับตามกฎหมายแล้ว

เรียกได้ว่าเปิดหน้า งัดตำรา สู้กันเต็มที่ ทุกทาง

เป็นยกแรก ก่อนที่คิวอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนธันวาคมจะมาถึง วาระประจำปีของสภาที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ปีละ 1 หน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า มติการเรียก พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ของคณะ กมธ.ป.ป.ช.นั้น ถือเป็นไปในลักษณะเดียวกับที่คณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ที่มี “บิ๊กโหน่ง” พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน ที่ได้เชิญ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เข้ามาแลกเปลี่ยนเรื่องความมั่นคง

เป็นไปในลักษณะเดียวกับคณะ กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ที่มีนายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน มีมติเรียก “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้าชี้แจง

โดยเฉพาะงบฯ กลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในงบประมาณปี 2562

หรือเป็นไปในลักษณะเดียวกับคณะ กมธ.ทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน เพื่อเรียกปลัดกระทรวงกลาโหมและเสนาธิการทุกเหล่าทัพมาชี้แจงถึงการรายจ่ายการใช้จ่ายงบฯ ในปี 2563 ซึ่งเป็นจำนวนสูงถึง 233,000 ล้านบาท แม้ประธาน กมธ.ทหารจะมาจากซีกรัฐบาล แต่ผลลัพธ์ภายหลังการประชุมกลับเป็นบทบาทนำของพรรคฝ่ายค้าน

โดยเฉพาะในการตั้งข้อสังเกต โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง ในการทำงบฯ เพื่อจัดซื้ออาวุธ และงบฯ ปรับปรุงสมรรถนะของกองทัพที่มีรายละเอียดเพียงบรรทัดเดียว

ทั้งหมดจึงถือเป็นแยกกันเดินของพรรคฝ่ายค้าน โดยใช้บทบาทอำนาจของ กมธ.ในการเรียกเอกสาร พร้อมปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องรวมไว้สำหรับ “ศึกใหญ่” ซักฟอกรัฐบาลเป็นการเฉพาะ

แต่ประเด็นที่ กมธ.ป.ป.ช.เรียกชี้แจงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเล็งเป้าสูง สูงถึงคนระดับที่เป็นนายกฯ กับรองนายกฯ ที่มีประวัติหนีสภาและมิหนำซ้ำยังเคยประกาศ “ตัดพี่ตัดน้อง” กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ประธาน กมธ. กลางสภามาแล้วด้วย

ดังนั้น การโยกสลับตำแหน่งใน กมธ.จึงเป็นเพียงการเบนเป้า เป็นเป้าเพื่อหวังเพียงแค่ทำลายความน่าเชื่อถือ ทำปัญหาทางการเมืองให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว

ดังนั้น วันนี้ยาวไปถึงเดือนธันวาคม จึงเสมือนเป็นเกมวัดใจ เป็นเกมวัดใจในทุกๆ กมธ.ที่จะชี้ว่า ฝั่งไหนจะสามารถยืนแข็งสู้ได้นานกว่ากัน ไม่เว้นแม้แต่ กมธ.วิสามัญฯ งบประมาณปี 2563