อภิญญา ตะวันออก : เถรวาทปฏิวัติ-สังฆราชปฏิรูป

อภิญญา ตะวันออก

ฉันบอกตัวเองเสมอว่า จะไม่ก้าวล่วงเถรวาทเขมรเชิงบุคคลโดยเฉพาะอันใดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสังฆราชเขมรด้วยแล้ว

ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธคนหนึ่ง ฉันจักเว้นวรรคไว้ไม่กล่าวถึง

โดยเฉพาะการหยิบจับมาเปรียบเทียบกับเถรวาทไทยนั้น ยิ่งไม่มีวันเป็นไปได้

แม้นัยที่ฉันจะมีมุมมองอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับเถรวาทเขมรกลางกับพระเขมรใต้ (กัมปูเจียกรอม) อยู่บ้างเป็นครั้งคราว

ด้วยว่าฉันมักจะรุ่มร้อนเสมอเมื่อรับทราบถึงความยากลำบากของกลุ่มภิกษุเขมรใต้ ที่ได้รับการกดขี่ข่มเหงยาวนานข้ามศตวรรษ ทั้งจากสงครามชายแดน กรณีฝรั่งนิคม ความขัดแย้งของเวียดนาม 2 ระบอบ (เหนือ-ใต้) หรือแม้แต่นโยบายผลักไสของรัฐบาลพนมเปญ ล้วนบีบคั้นอย่างยาวนานเกินทน

แม้ทุกวันนี้รัฐบาลเวียดนามจะเริ่มผ่อนปรนต่อชาวเขมรใต้-ชนกลุ่มน้อยตลอดจนพระสงฆ์ จนสามารถปฏิบัติศาสนกิจด้านการศึกษาในต่างแดน ซึ่งจะว่าไปแล้วกลุ่มพระเขมรใต้และเถรวาทชนเหล่านี้ต่างมีวัตรปฏิบัติด้านการศึกษาสมัยใหม่ที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถานะแห่งความเป็นไปในหมู่อารามสงฆ์ของชาวเขมรใต้

และนั่นเองที่ทำให้ฉันหวนประหวัดถึงพระเขมรจากกัมพูชากลางรูปหนึ่งซึ่งมีนามว่าพระจวน นาต

 

อย่างไรก็ตาม ในยุคกลางของอินโดจีนหลัง ค.ศ.1930 พบว่าพระสงฆ์แคว้นกัมพูชาได้รับการส่งเสริมการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งในจำนวนนี้มีสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดีจวน นาต (2417-2513) สมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ทรงเป็นพระเถรานุเถระชั้นสูงของกัมพูชา ซึ่งอย่าว่าแต่เราเลยที่เผลอไผลวิจารณ์ แม้แต่นักวิชาการแถวหน้าของกัมพูชาอย่าง ดร.เก่ง วรรณศักดิ์ ก็ไม่วายวิพากษ์ และบางจังหวะของสังคมที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้พระสังฆราชเขมรองค์นี้แทบไม่มีที่ยืนในสังคมเขมรเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทำให้ประจักษ์ว่า กระบวนสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชกัมพูชานั้นมักยึดโยงกับราชสำนัก จนกลายเป็นชนวนแห่งความหมางเมินระหว่างสถาบันเถรวาทกับราชวงศ์กัมโพช ที่เน้นหนักไปทางด้านพิธีกรรมส่วนพระองค์ มากกว่าทะนุบำรุงศาสนา

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งประมุขสงฆ์กัมพูชาที่เน้นคุณสมบัติอันแตกต่างจากยุคเดิม อาทิ ความสามารถทางการนิพนธ์อักษรศิลป์และอื่นๆ ของสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี-สมเด็จพระราชาคณะ (จวน นาต) ได้รับการโปรดเกล้าผ่านทางประมุขแห่งรัฐนโรดม สีหนุ (มิใช่จากกษัตริย์โดยตรง) ใน พ.ศ.2507/1963 (*) และเป็นครั้งแรกที่พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมีตำแหน่งเป็นพระสังฆราชลำดับที่ 1 แทนฝ่ายธรรมยุติกนิกายตามราชประเพณีเดิม

นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกของประเพณีฝ่ายกัมพูชาราชสำนัก ที่หมดจดและสมบูรณ์และตรงกับความนิยมของยุคสมัย ตลอดจนอุดมการณ์ฝรั่งเศสอินโดจีนที่ใช้เวลาล่วงมาถึง 4 ทศวรรษ

กว่าภารกิจนั้นจักสำเร็จ

 

ประสูติ 11 มีนาคม 2427 ตรงกับปีวอก ในครอบครัวกสิกร หมู่บ้านกำเรียง ตำบลระกาเกาะ อำเภอคงพิไส จังหวัดกำปงสะปือ มีน้องชายนายจวน นุต ต่อมาเป็นออกญาโสภณมนตรี

เริ่มบวชเป็นสามเณรตอนอายุ 14 ที่วัดโพธิพฤกษ์ ก่อนจะย้ายไปวัดอุณาโลมกรุงพนมเปญ เพื่อเล่าเรียนภาษาบาลีที่โรงเรียนบาลีระดับสูงโดยพระครูเทพ เสา เป็นครูผู้สอน

ในปี พ.ศ.2448 อุปสมบทที่วัดเก่าจังหวัดกันดาล ได้รับฉายา “โชตัญญาโน” โดยพระอุปัชฌาย์พระพุทธโฆษาจารย์ (มา เกต) และย้ายมาจำวัดอุณาโลมอีกครั้ง เพื่อศึกษาปริยัติธรรมที่โรงเรียนบาลีระดับสูง นอกจากเชี่ยวชาญบาลีไวยากรณ์แล้ว กล่าวกันว่า ทรงมีทักษะภาษาสันสกฤต ฝรั่งเศส อังกฤษ เวียดนาม และภาษาไทย

ในปี พ.ศ.2454 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระปลัดศักยบุตร (จวน นาต)

สามปีต่อมา ณ พระอุโบสถวัดพระแก้วรัตนารามมหาวิหารแห่งบรมมหาราชวัง พระปลัดศักยบุตรจวน นาต ซึ่งทำการสอบพระธรรมเปรียญสี่ประโยคได้เป็นลำดับที่ 2 มีตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนบาลีระดับสูง

โดยระหว่างปี 2464-2465 นั้นเอง ขณะมีตำแหน่งเป็นพระครูสังฆะสัตถา (จวน นาต) ทรงได้รับกิจนิมนต์ไปกรุงฮานอยเพื่ออบรมเพิ่มเติมด้านสันสกฤตและจารึกเขมรจากโรงเรียนฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ พร้อมด้วยสหายท่านหนึ่งซึ่งมีนามว่าพระฮวด ตาด หรือสมเด็จพระโพธิวังษ์ พระสังฆวิเจียองค์แรกและองค์เดียวในสมัยเขมรรีพับลิก (2513-2518)

นับเป็นอุบัติการณ์สำคัญ ที่สำนักวิชาการฝรั่งเศสแห่งนี้ให้ความสำคัญต่อภิกษุเขมรที่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะและประมุขสงฆ์สูงสุดของกัมพูชา แม้นัยทีเวลานั้นจะเป็นที่พบว่ามีพระเขมรหนุ่มที่แตกฉานด้านอักษรศาสตร์ สันสกฤต-จารึกและภาษาฝรั่งเศสมากกว่าภิกษุเถรวาททั้ง 2 รูปดังกล่าว

กล่าวตามจริงแล้ว ทักษะทางอักษรศาสตร์โบราณของพระจวน นาตนั้นมิได้รับการยอมรับทีเดียวนักในหมู่พระสงฆ์กัมพูชา โดยเฉพาะการแข่งขันวิชาการระหว่างคณะวัดลังกากับคณะวัดอุณาโลม ที่สายหนึ่ง มีโรงเรียนบาลีระดับสูงและสานุศิษย์ให้การหนุนหลัง ส่วนวัดอุณาโลมนั้นสายวัง

การแข่งขันกันทั้งเชิงบารมีและอำนาจนิยมอย่างเป็นระยะและดุเดือดของ 2 สำนักที่ต่างมีสานุศิษย์และอาจารย์ถือข้างกันนี้

ได้ก่อให้เกิดกระแส 2 ฝ่ายในหมู่เถรวาทเขมรในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การพบกันระหว่างศาสตราจารย์หลุยส์ ฟิโนต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศกับตัวแทนเถรวาทกัมพูชา โดยมีนักศาสนวิทยา นางสาวซูซานน์ คาร์เปเลส ที่เพิ่งสำเร็จวิชาการหมาดๆ จากฝรั่งเศสนั้น ล้วนเป็นภารกิจสำคัญที่พลิกทางสำนักเถรวาทกัมพูชาไปสู่ความโดดเด่นใหม่ทางวิชาการและปัญญาชน ตลอดจนสมเด็จพระสังฆราชของกัมพูชา

ทั้งหมดนี้ได้รับการเจียระไนโดยสุภาพสตรีคนหนึ่งซึ่งมีนามว่าซูซานน์ คาร์เปเลส ที่จะผลักดันองค์กรแห่งนี้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรรัฐอินโดจีน

โดยเริ่มจาก การปลดแอกและผลักดันให้สำนักพุทธศาสนากัมพูชามีความก้าวหน้าและเป็นเอกเทศ แทนอิทธิพลจากสยามโดยผ่านทางธรรมยุติกนิกายนั้น

 

เดิมทีภารกิจทดลองของการถ่วงดุลอำนาจนี้ นอกจากจะยังช่วยให้เถรวาทกัมพูชา จากแต่เดิมที่อ่อนแอต้องพึ่งพาสำนักเถรวาทแห่งกรุงเทพฯ นั้น ยังสามารถยกระดับตนเองไปสู่ความมั่นคงทางวิชาการที่เกิดจากการผลิตขึ้นโดยเถรวาทเขมรเอง

จนนำไปสู่ยุคตื่นรู้ของกลุ่มพระภิกษุรุ่นใหม่ นำไปสู่กระแสแห่งความรักชาติ ความพยายามที่จะปลดแอกและปฏิวัติสังคมในอีกต่อมา

นัยทีภารกิจนี้นอกจากจะถ่วงดุลอำนาจสยามผ่านทางนิกายเถรวาทแล้ว ยังเล็งประโยชน์ไปถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการปกครองของแคว้นนี้อีกด้วย

ดังจะเห็นว่า กลุ่มประชากรพระสงฆ์เขมรนี้มีจำนวนหลายหมื่นรูป ทั้งยังแออัดอยู่ในสังฆะ เขตเมืองใหญ่อย่างพระตะบองและพนมเปญเมืองหลวง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์และการปกครอง

โดยนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจและทรัพยากรแรงงานที่พบว่ามีความรู้และสามารถนำไปเป็นบุคลากรให้รัฐบาลในการพัฒนาแคว้นประเทศ ด้วยเหตุนี้ กระบวนปฏิรูปการศึกษาในกัมพูชาจึงเริ่มที่พระสงฆ์เขมรเป็นด่านแรก

เช่นเดียวกับคณะของพระจวน นาต และซูซานน์ คาร์เปเลส ที่ระหว่างเดินทางไปกรุงพนมเปญ ได้แวะทัศนศึกษาเขตวัดต่างๆ ในจังหวัดเขมรใต้ของแคว้นโคซินจีน ซึ่งก่อประโยชน์ในภาควิชาการต่อมาแก่ซูซานน์ คาร์เปเลส

ส่วนพระจวน นาตและสหายนั้น ด้วยวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัด จึงไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อันใดต่อสงฆ์กัมปูเจียกรอมซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

กระนั้น ในอีกหลายปีต่อมา ได้เกิดปมเหตุของฝ่ายปฏิวัติ ที่อ้างอิงก่อการโดยบางส่วนนั้น พาดพิงมาจากงานเขียนของพระจวน นาต ทว่าโชคดีที่ข้อยกอ้างเหล่านั้นมิได้อาจทำให้ภิกษุรูปนี้ต้องพัวพันกับคดีทางการเมืองแต่อย่างใด

นับว่าภารกิจพิเศษนี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเถรวาทกัมพูชาอยู่นัยที ไม่ว่าตำแหน่งพระสังฆราชกัมพูชาและการศึกษาสมัยใหม่ของวงการพระสงฆ์เขมร ที่นำไปสู่นัยยะสำคัญแห่งวิถีการเปลี่ยนแปลงและต่อต้านระหว่างสายอนุรักษ์และเสรีนิยม?

ต่อการยอมรับในพลวัตทางสังคมและการเมืองสมัยใหม่ ที่เริ่มต้นโดยกลุ่มปัญญาชนเถรวาทกัมพูชา เรื่อยมากระทั่งบรรลุเป้าหมายการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ภายใน 6 เดือนต่อมาหลังจากสมเด็จพระสังฆราชจวน นาต เสวยกาลทิวงคต

(*) ตรงกับ ค.ศ.1883 ตามพุทธศักราชเขมร ที่ใช้ 544 ในการบวกลบปีพุทธศักราช