รายงานพิเศษ : “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

สร้างความปลาบปลื้มปีติแก่ปวงชนชาวไทย

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

มีพระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

โดยจะมีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 17.00 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ มีจริยวัตรเรียบง่าย สมถะ ไม่สะสมรถ ไม่สะสมปัจจัย มีความอาวุโสลำดับที่ 3 ในทำเนียบสมเด็จพระราชาคณะ รองจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ลำดับที่ 1 และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ ลำดับที่ 2

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช ต่อจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ที่สิ้นพระชนม์เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556

สําหรับประวัติความเป็นมาของสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 นั้น เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

มีราชทินนามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี อรัณยวาสี” สถิต ณ วัดราชบพิธฯ

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ หรือ สมเด็จขาว กรรมการมหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) และแม่กองงานพระธรรมทูต มีพระชันษา 89 ปี พรรษา 68

มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์”

ประสูติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

พระบิดา-พระมารดาชื่อ นายนับ และ นางตาล ประสัตถพงศ์

ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย

ด้านการศึกษา ในช่วงวัยเยาว์ ทรงศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ.2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

ทรงย้ายไปจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม, พ.ศ.2483 ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี, พ.ศ.2484 ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท, พ.ศ.2486 ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอก และทรงสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค, พ.ศ.2488 ทรงสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

ต่อมาปี พ.ศ.2490 ทรงย้ายมาจำพรรษา ณ วัดราชบพิธฯ โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี พามาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน)

และให้สามเณรอัมพรเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ภายหลังอุปสมบท พระองค์ทรงมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ.2491 ทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ.2493 ทรงสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

ต่อมาทรงสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต พ.ศ.2500

ต่อมาปี พ.ศ.2509 ทรงเข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย

จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

และในช่วงปี พ.ศ.2516 เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

โดยมีพระขันติมาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์

ถือว่าเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต

ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้

ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น

งานด้านการศึกษา พระองค์ทรงเป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร, กรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี, นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เป็นต้น

และปี พ.ศ.2552 สภา มมร ถวายปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

พ.ศ.2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

งานด้านสาธารณูปการ ทรงเป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

ทรงเป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น

ส่วนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทรงเป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ 2 ผู้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย, ทรงเป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็นต้น

งานด้านการศึกษาสงเคราะห์และสาธารณสงเคราะห์ ทรงมอบทุนสงเคราะห์แก่ผู้เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ทรงเป็นรองประธานกองทุนวัดช่วยวัดของมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยแล้ง นำเงินบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนงานปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)

กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

กรรมการคณะธรรมยุต

นายกสภา มมร

กรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

แม่กองงานพระธรรมทูต

ประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นต้น

 

สําหรับลำดับสมณศักดิ์นั้น พ.ศ.2514 ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี

พ.ศ.2524 ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี

พ.ศ.2533 ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์

พ.ศ.2538 ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์

พ.ศ.2543 ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี

และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชาคณะ”

กระทั่งล่าสุดได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20” ในรัชกาลที่ 10