จัตวา กลิ่นสุนทร : เมื่อ “สยามรัฐ” ราชดำเนิน ต้องย้ายบ้าน

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ตั้งอยู่เลขที่ 12 อาคาร 6 ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลาได้ 69 ปี

เจ้าของผู้ก่อตั้งท่านสิ้นอายุขัยจากไปตามกาลเวลา กองบรรณาธิการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ตลอดเวลาจำนวนมากมายหลายชุดสืบทอดกันต่อๆ มาด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่มั่นคง ฝ่าฟันกับการสลับสับเปลี่ยนของ “ผู้ปกครองประเทศ” จำนวนนับไม่ถ้วน “สยามรัฐ” ก็ผ่านพ้นมาได้

ต่อสู้กับเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะหนักกว่าการต่อสู้กับรัฐบาล “เผด็จการทหาร” ซึ่งมีกฎหมายพิเศษ ซึ่งถ้าหากหัวเรือใหญ่ผู้ก่อตั้ง ไม่ใช่อาอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (อดีตนายกรัฐมนตรี, บุคคลสำคัญของโลก)-(เสียชีวิต) “สยามรัฐ” คงหายไปเสียนานก่อน “ผู้ก่อตั้ง” แล้ว

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ยังตีพิมพ์ออกจำหน่ายอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่กลับไม่แตกต่างจากหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่ต้องมีอันค่อยๆ ล่มสลายจากความก้าวหน้าของ “สื่อออนไลน์” และเทคโนโลยีสมัยใหม่

รวมทั้งต้อง “ย้ายสำนักงาน” ออกจากถนนราชดำเนินภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ไปยังสำนักงานซึ่งได้เตรียมพร้อมไว้หลายสิบปีก่อน บริเวณบางยี่ขัน ใกล้สะพานพระราม 8

เป็นที่แน่นอนว่าสำนักงานประกอบกิจการสำคัญๆ ซึ่งได้อาศัยใบบุญอยู่กับอาคารริมถนนราชดำเนินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องขยับขยายโยกย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่ เพื่อถนนอันเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน จะได้สะอาดสดใสสง่างามเป็นเอกลักษณ์

ความจริงอาคารริมถนนราชดำเนินกลางไปจนถึงราชดำเนินนอกได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว โดยใช้เป็นสถานที่สำคัญๆ ของทางราชการในด้านการศึกษาเรียนรู้ของสาธารณะ อาทิ เป็นนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประวัติของกรุงเทพฯ เป็นราชดำเนินแกลเลอรี่ (Art Gallery) และ ฯลฯ

ตรงบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ วัยรุ่นเมื่อสมัยปี พ.ศ.2499 หรือก่อนหน้าย่อมต้องเคยได้เห็นโรงภาพยนตร์ “ศาลาเฉลิมไทย” ตรง 4-5 แยก ซึ่งทุกวันนี้ก่อสร้างเป็น “ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 3” อยู่บริเวณวัดราชนัดดา โลหะปราสาท ใกล้เคียงป้อมมหากาฬ ภูเขาทอง วัดสระเกศ ฯลฯ

จริงๆ แล้วบ้านเมืองของเราแต่เก่าก่อนไม่ได้ขยายตัวเติบโตอย่างเช่นปัจจุบัน ถนนสำคัญๆ อย่างถนนประวัติศาสตร์เช่นถนนราชดำเนิน จึงเป็นแหล่งความเจริญเพียงไม่กี่แห่ง

ขณะเดียวกันจึงใช้เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจสำคัญหลายๆ อย่าง รวมทั้งสถานบันเทิงที่แต่ก่อนเรียกกันว่า บาร์ ไนต์คลับ และ ฯลฯ

 

เมื่อราวๆ 40 ปีเศษ ชาว “สยามรัฐ” ซึ่งมีเพื่อนบ้านกำแพงติดกันด้านทิศตะวันตกเป็น “สำนักงานกฎหมาย” ของท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (อดีตนายกรัฐมนตรี)-(เสียชีวิต) อยู่แล้ว ก่อนจะมีร้านอาหารชื่อ “สกายไฮ” (Sky High) มาเป็นเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นทางอาคารด้านตรงกันข้าม

ร้านอาหารร้านนี้จึงได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ “ประวัติศาสตร์” มากมายหลายครั้ง ตั้งแต่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร กระทั่งเกิดเหตุการณ์ “14 ตุลาคม พ.ศ.2516”

ซึ่งต่อมาจากนั้นอีก 3 ปี นิสิต นักศึกษาได้รวมตัวกันต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนนำไปสู่ความรุนแรงกระทั่งมีการเข่นฆ่ากันเองของคนไทยใน “วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519” รวมทั้งการการรวมตัวกันของม็อบมือถือออกมาต่อต้านขับไล่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร (อดีตนายกรัฐมนตรี) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 อีก 16 ปีต่อมา

นักการเมืองจำนวนมากต่างได้พบปะพูดคุยกันยังร้านอาหารแห่งนี้ ทั้งก่อนและหลังถูกปฏิวัติรัฐประหาร “ยึดอำนาจ” โดย “กองทัพ”

บางขณะคนสยามรัฐเผลอคิดเอาว่าสกายไฮเป็นสถานที่รับแขกของพวกเขาด้วยซ้ำ

นักหนังสือพิมพ์ นักคิด นักเขียน ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ไม่มีใครไม่รู้จักร้านอาหารประวัติศาสตร์บนถนนราชดำเนินเพื่อนบ้านของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งมีรสชาติอาหารเป็นที่ติดอกติดใจกันโดยเฉพาะเมนูข้าวต้มรอบดึก

ร้านอาหารสกายไฮ (Sky High) ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเรียกว่าร้านข้าวต้มเตาถ่าน ซึ่งเมนูที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ “ซูเปอร์ขาไก่” มีความจำเป็นต้องโยกย้ายจากอาคารสถานที่ตั้งริมถนนประวัติศาสตร์ภายในสิ้นปี 2562

ซึ่งไม่นับอาคารที่พวกยี่ปั๊วซาปั๊วเช่าไว้สำหรับทำมาค้าขายจนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศคือ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” มีอันต้องไปหาสถานที่แห่งใหม่เช่นเดียวกัน

 

ผมใช้ชีวิตร่วม 30 ปีอยู่บริเวณแหล่งประวัติศาสตร์ “เกาะรัตนโกสินทร์” ดังที่ได้เคยเรียนแล้วว่า ทั้งการเรียน การศึกษา ประมาณ 10 ปี รวมกับอีก 20 ปีที่ไม่ได้เปลี่ยนงานจาก “สยามรัฐ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513-2534 เวลายาวนานย่อมต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ต่อสู้ปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง

แบบที่เรียกว่า 20 ปีในสำนักงานแห่งนี้ควรต้องได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะแยะมากมาย

เมื่อได้รับมอบหมายจากผู้บริหารให้ตั้งทีมเพื่อทำการแก้ไขปรับปรุง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” โดยเริ่มต้นตรง “เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2519” ซึ่งได้กลับไปสู่การปกครองแบบเผด็จการอีกครั้งหนึ่งหลัง “การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ถึงแม้จะมีรัฐบาลพลเรือน แต่ดูเหมือนว่าอยู่ภายใต้เปลือกห่อหุ้มจากทหารทั้งสิ้น

รัฐบาลท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” หลังการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2514 จัดการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยก่อนมาสู่รัฐบาลท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) ซึ่งมาจากการ “เลือกตั้ง” แต่อยู่บริหารประเทศได้ประมาณราว 1 ปี ต้อง “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ และนายกรัฐมนตรีรักษาการ “สอบตก” แพ้เลือกตั้งในเขต 1 ดุสิต กรุงเทพฯ

พรรค “ประชาธิปัตย์” ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวก็ถูก “ยึดอำนาจ” ประเทศชาติบ้านเมืองซึ่งโผล่พ้นน้ำขึ้นมาสัมผัสกลิ่นอายประชาธิปไตยได้แค่ชั่วครู่ชั่วยามก็ต้องกลับสู่การปกครองโดย “รัฐบาลทหาร” อีกเช่นเดิม

 

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ในปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมากลับมาสนุกสนานในการเสนอข่าว ขายความคิด และคอลัมน์ของท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่โรยราลงไปพอสมควรกับการที่เจ้าของผู้ก่อตั้งไปเป็นรัฐบาลในปี พ.ศ.2517-2518

กองบรรณาธิการของปี พ.ศ.ดังกล่าวได้พยายามมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาเรื่อง “เศรษฐกิจ” ของ “สยามรัฐ” เพื่อจะได้เดินหน้าเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของคนทำหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้รับผลตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดูแลตัวเองและเลี้ยงครอบครัว ซึ่งน่าจะสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของกองจัดการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ซึ่งมันส่งผลต่อกองบรรณาธิการอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ผมได้รับการสนับสนุนให้เป็น “บรรณาธิการบริหาร” หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ในปี พ.ศ.2519 หลังจากการทำงานหนักเพื่อเปลี่ยนโฉมนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับดังกล่าวของค่ายราชดำเนิน จนกระทั่งบรรยากาศเดิมๆ ของสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งได้เป็นแหล่งกำเนิด เป็นสถานที่ชุมนุมนักเขียน กำลังกลับคืนมา

คนหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” รุ่นก่อนๆ เก่าๆ แต่ละรุ่นต่างทราบกันดีว่าอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านไม่สนใจเรื่อง “เศรษฐกิจ” ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ นอกจากต้องการให้เป็นสนามเสนอความคิด เป็นอาวุธในการต่อสู้กับ “รัฐบาลทหาร-รัฐบาลเผด็จการ”

จะเรียกว่าเป็นของเล่นของท่าน ย่อมไม่แปลก

ในเวลาเดียวกันเหล่าลูกศิษย์ทั้งหลาย ผู้คนที่แวดล้อมรอบๆ ตัวท่าน ที่พยายามเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้จัดการด้านธุรกิจ การขายโฆษณาให้มีรายได้เข้ามาสนับสนุนกองบรรณาธิการ เพราะการขายหนังสือพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียวไม่มีวันที่จะเลี้ยงตัวเองได้

แต่พวกท่านเหล่านั้นกลับมองคนหนังสือพิมพ์ไปในอีกทางหนึ่ง ความร่วมมือจึงไม่ค่อยจะประสานสอดคล้องกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมาจาก “ประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์” ทั้งของประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ไม่เฉพาะ “สื่อสิ่งพิมพ์” สรรพสิ่งทุกอย่างล้วนต้องมีเวลาเปลี่ยนแปลง