บทความพิเศษ /นงนุช สิงหเดชะ / เปลือยตัวตน ‘อนาคตใหม่’ ผ่านการโหวตกฎหมาย 2 ฉบับ

บทความพิเศษ /นงนุช สิงหเดชะ

เปลือยตัวตน ‘อนาคตใหม่’

ผ่านการโหวตกฎหมาย 2 ฉบับ

 

“เวลา” จะบอกทุกสิ่ง โดยเฉพาะ “เนื้อแท้” ของมนุษย์ เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ ที่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง “ตัวตน” ที่แท้จริงก็จะถูกเผยให้สาธารณชนเห็น ว่าเอาเข้าจริงแล้วเจ้าของพรรคตัวจริงและแกนนำเพียงไม่กี่คน ให้สิทธิเสรีภาพแก่ ส.ส.ในพรรคหรือไม่เพียงใด

การลงมติกฎหมาย 2 ฉบับเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม คือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2563 คือการเผยให้เห็น “ตัวตน” ของอนาคตใหม่

ในส่วนของ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ นั้น อนาคตใหม่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวที่ลงมติไม่เห็นชอบเกือบทั้งพรรค ในขณะที่พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ยกมือเห็นชอบ

ขณะที่ในส่วนของ พ.ร.บ.งบประมาณ ทั้งอนาคตใหม่และเพื่อไทยใช้วิธี “งดออกเสียง”

การที่อนาคตใหม่ออกเสียงคัดค้านโอนอัตรากำลังพลบางส่วนไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยฯ ถือว่า “กล้ามาก” และเป็นการแสดงจุดยืน “ชัดเจน” ของพรรคนี้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

แม้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคจะอภิปรายอ้างเหตุผลว่าเป็นเพราะไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจออกกฎหมายโดยอ้างความเร่งด่วนเพราะคุ้นชินกับการใช้มาตรา 44 สมัยเป็นหัวหน้า คสช. อีกทั้งอ้างว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

แต่จะมีใครสักกี่คนเชื่อว่าเหตุผลลึกๆ ของนายปิยบุตรมีแค่เรื่องไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามใจ เพราะหากย้อนรอยเส้นทางของนายปิยบุตรและตัวเอ้หลายคนในพรรคนี้ ก็ย่อมทราบดีว่าพวกเขามีทัศนคติเช่นใดต่อสถาบันกษัตริย์

ถามว่าทำไมอนาคตใหม่ถึงกล้าลงมติคัดค้าน พ.ร.ก.ดังกล่าว ทั้งที่พรรคเพื่อไทยยังไม่กล้า

 

คําตอบก็คือ น่าจะต้องการเอาใจสาวกพรรคอนาคตใหม่ ที่มีจุดยืนต่อสถาบันกษัตริย์สอดคล้องกับจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ เพราะหากไปไล่ดูการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ตามเพจต่างๆ จะพบว่ามีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งพากันยกย่องสรรเสริญพรรคนี้ที่ยกมือคัดค้าน พ.ร.ก. พร้อมบอกว่าไม่ผิดหวังที่เลือกอนาคตใหม่ แต่แสดงความผิดหวังพรรคเพื่อไทย

หากอนุมานเอาจากเนื้อหาการแสดงความคิดเห็นของคนเหล่านี้ น่าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เลือกอนาคตใหม่และกลุ่มที่เลือกเพื่อไทย

โดยกลุ่มที่เลือกอนาคตใหม่ พอใจการโหวต ส่วนกลุ่มที่เลือกเพื่อไทยผิดหวังท่าทีของเพื่อไทย ซึ่งบางคนอ้างว่าครั้งหน้าจะไม่เลือกเพื่อไทยแล้ว จะเลือกอนาคตใหม่แทน

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถบอกได้ว่า กลุ่มคนที่พอใจการโหวตของอนาคตใหม่และไม่พอใจเพื่อไทย มีจำนวนมากน้อยเพียงใด และมีจำนวนสำคัญมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าหรือไม่

ในลักษณะเทคะแนนไปให้อนาคตใหม่เกือบหมด

 

การโหวตกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว ยังเผยให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วอนาคตใหม่ก็ไม่ต่างจากพรรคการเมืองยุคคุณทักษิณ ชินวัตร กล่าวคือ ไม่ได้ให้อิสระเสรีทางความคิดและจุดยืนของสมาชิกพรรค ใครคิดเห็นต่างออกไปจะถูกเล่นงาน ถูกกดดันไม่ให้มีที่ยืนในพรรค

เพราะครั้งนี้มี ส.ส.บางคนโหวตสวนทางมติพรรค เช่น กรณี น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 ที่งดออกเสียง โดยศรีนวลระบุว่าเหตุที่งดออกเสียงเพราะการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 6-8 ตุลาคม มีการพูดกันว่าพรรคจะงดออกเสียง แต่การประชุมพรรควันที่ 16 ตุลาคม ตนไม่ได้เข้าร่วมเพราะติดธุระสำคัญ

ส.ส.หญิงคนนี้บอกว่า พอตนงดออกเสียง ก็ถูกนายปิยบุตร เลขาธิการพรรคหาว่าเป็น “งูเห่า” สีส้ม ซึ่งตนขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นงูเห่าและไม่ได้ขายเสียง จึงรู้สึกน้อยใจที่ถูกกล่าวหาแบบนี้

ไม่เพียงเท่านั้น นายนิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ยังได้ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการบริหารพรรค อันเนื่องมาจากผลโหวตของพรรคเกี่ยวกับ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ เนื่องจากผลโหวตไม่เป็นไปตามความคิดเห็นส่วนใหญ่ของคณะกรรมการบริหารพรรคที่เห็นว่าควร “งดออกเสียง” เนื่องจากประเด็นนี้มีความ “อ่อนไหว” และอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อพรรคในอนาคตได้

นายนิรามานระบุต่อไปว่า “แต่ในท้ายที่สุด ผลการลงมติของ ส.ส.พรรคในประเด็นดังกล่าว ผิดไปจากความเห็นส่วนใหญ่ของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่อาจจะยอมรับได้ และภายหลังที่ผมได้แสดงจุดยืนทางการเมืองคืองดออกเสียงในประเด็นดังกล่าวนี้ ก็ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จึงเกรงว่าประเด็นของผมอาจเป็นชนวนแพร่ขยายความไม่เข้าใจระหว่างพี่น้องสมาชิกพรรคอนาคตใหม่มากขึ้น”

อธิบายให้ชัดก็คือการงดออกเสียงของนายนิรามาน ถูกเพื่อนในพรรคและสาวกส้มหวานโจมตีว่าฝ่าฝืนมติพรรค เป็นพวกแกะดำ เลยทำให้นายนิรามานต้องลาออก

 

เช่นเดียวกับ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เขต 7 อนาคตใหม่ ที่ยกมือผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็ถูกรุมสกรัมอย่างหนักทั้งจากคนในพรรคและสาวกส้มหวานที่รุมถล่มทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเธอให้เหตุผลว่าที่ต้องยกมือผ่านงบประมาณเพราะต้องการดูแลคนในพื้นที่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นงูเห่าและไม่ได้ขายเสียง

สถานะของกวินนาถ ดูจะหนักกว่าเพื่อน เพราะถูกคนในพรรค “บุลลี่” ด้วยการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมในกลุ่มไลน์ของพรรค

แถมยังถูกผู้บริหารพรรคสั่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ของพรรค

ดูไปแล้วสภาพของเธอคล้ายตกอยู่ในแก๊งเด็กมัธยมที่มีหัวโจกเป็นพวกชอบวางอำนาจ

“บุลลี่” ใครก็ตามที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์

 

แม้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคที่มีหน้าที่ดูแลบุคลากรในพรรคจะอ้างว่าจำเป็นต้องลงโทษพวกฝ่าฝืนมติพรรค เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถรักษาจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคได้

แต่ในขณะที่กล่าวอ้างเช่นนั้น มันก็ไปย้อนแย้งกับคำประกาศของพรรคที่เชิดชูประชาธิปไตย เคารพความเห็นของทุกคน ทุกคนมีเสรีภาพและมีความเสมอภาคกัน

ยิ่งไปดูความเห็นของสาวกส้มหวานที่โจมตี ส.ส.เหล่านี้แล้ว ยิ่งสะท้อนว่า ทัศนคติของสาวกส้มหวานยังเป็นพวก “ลัทธิบูชาบุคคล” หรือวันแมนโชว์ ไม่ต่างจากครั้งหนึ่งที่เคยมีลัทธิบูชาทักษิณ

เพราะความเห็นเหล่านั้นส่วนใหญ่ ก็กล่าวในทำนองไล่ ส.ส.แกะดำพวกนี้ออกจากพรรคไปเลยเพราะพรรคนี้เป็นของธนาธร “ถ้าไม่มีธนาธร พวกโนเนมอย่างแกก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง กรูเลือกพรรคนี้เพราะธนาธร ไม่ใช่เลือกเพราะตัวมึง”

จะเห็นได้ว่าเป็นทัศนคติที่ไม่เห็นคุณค่าของแต่ละคน แต่กลับมองว่า ส.ส.เหล่านี้แค่เป็นคนที่อยู่ใต้อุปถัมภ์ของธนาธร ไม่เคยมีผลงานหรือความสามารถของตัวเอง ดังนั้นอย่ามาหือกับธนาธร

ทัศนคติเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่ทัศนคติของนักประชาธิปไตย ที่กำลังเรียกร้องให้เลิกระบบอุปถัมภ์ในสังคม ถ้าพวกเขาเลือก ส.ส.พรรคนี้มาเพียงแค่เพราะธนาธรเป็นเจ้าของพรรค แต่ไม่สนใจว่า ส.ส.ที่พวกเขาเลือกมีความสามารถหรือไม่ ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงคุณภาพการใช้ดุลพินิจและสติปัญญาของคนรุ่นใหม่ในการเลือกผู้แทนเป็นอย่างยิ่ง

บางทีแกะดำ 2-3 คนที่กำลังถูกคนทั้งพรรคเล่นงานอยู่นั้น อาจมีศักดิ์ศรี กล้าหาญ เป็นเสรีชน เป็นนักประชาธิปไตย มากกว่าคนส่วนใหญ่ในพรรคนี้ที่อาจจะทำทุกอย่างเพื่อเอาใจเจ้าของพรรค เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดก็เป็นได้