เปิดผลศึกษาจุฬาฯ พบรพ.เอกชน บวกกำไรราคาพุ่งกว่า 10,000%

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังจากได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแนวทางการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยาเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จากผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชน พบว่า การกำหนดราคาขายของโรงพยาบาลแบบกลุ่มที่มีบริษัทในเครือ ไม่สอดคล้องกับต้นทุน คือ ต้นทุนต่ำ แต่กำหนดราคาขายสูง โดยเฉพาะ ยาลดไขมัน (Bestatin) ซึ่งมีช่วงราคาขายอยู่ที่ 2-61 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุนสูงถึง 11,965 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 60-99.17 % รองลงมา คือ ยาแก้ปวดลดไข้ (Tylenol) ช่วงราคาขายอยู่ที่ 1-22 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุนสูงสุด 4,483 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 21-97.82 %

ขณะที่ ยาลดความดัน (Anapril) ช่วงราคาขายอยู่ที่ 2-56 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุน 9,100 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 60-98.91 % ส่วนยารักษาลมชัก (Depakine) ช่วงราคาขาย 300-1,354 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุนสูงสุด 470 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 20.71-82.46 %

อย่างไรก็ตาม ยังมียาฆ่าเชื้อ (Ciprobay) ช่วงราคาขายอยู่ที่ 1,723-3,654 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุนสูงสุด 255.81 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 37.18-71.90 % และยามะเร็ง (Herceptin) ช่วงราคาขายอยู่ที่ 86,500-234,767 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุนสูงสุด 188.80 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 63.37 %

นายวิชัย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาขายสูง 10 อันดับแรก และราคาขายต่ำ 10 อันดับแรก มีปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ จะเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มธุรกิจ และประเภทธุรกิจ และปัจจัยด้านแหล่งที่ตั้ง โดยโรงพยาบาลแบบกลุ่มที่มีบริษัทในเครือประเภทบริษัทจำกัด และบริษัทจำกัดมหาชนมีการกำหนดราคาขายสูงสุด ทั้งที่มีราคาซื้อค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ โรงพยาบาลแบบเดี่ยวทประเภทบริษัทจำกัดและมูลนิธิ ส่วนใหญ่ มีการกำหนดราคาขายค่อนข้างต่ำ ทั้งที่มีราคาซื้อค่อนข้างสูงกว่า นอกจากนี้ โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกำหนดราคาขายสูง ดังนั้น ปัจจัยการตั้งราคาจึงไม่ได้มาจากการนำเข้าเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ความต้องการของโรงพยาบาลแต่ละประเภทมากกว่า