อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : ในร่างทรง “วิตตมิน” ก่อนไปฟิลิปปินส์ของวิตต์ สุทธเสถียร และแรกมีมิกกี้ เมาส์ ณ เมืองไทย

ปลายทศวรรษ 2550 และต้นทศวรรษ 2560 ดูเหมือนชื่อวิตต์ สุทธเสถียร จะหวนกลับมาโลดแล่นในแวดวงบรรณพิภพอีกหน ซึ่งก็หาใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับวาระครบรอบชาตกาลที่เรามักแว่วยินการส่งเสียงให้รำลึกถึงบุคคลนั้นๆ เนืองๆ

แจ้งข้อมูลสักนิด วิตต์เกิดเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ.2460 เวลาครบรอบหนึ่งศตวรรษชาตกาลย่อมล่วงเลยมาเกือบๆ สองปี หากคงไม่สายเกินไปหรอกที่เราจะยังเล่าขานเรื่องราวของเขาอยู่

เอ่ยนามวิตต์ สุทธเสถียร ขึ้นมาคราใด บรรดานักอ่านที่พอจะรู้จักเขาแทบจะพากันไปจดจ่อกับความเป็นนักเขียนสำนวนสะวิง และงานเขียนสำคัญที่สะท้อนชีวิตในฟิลิปปินส์ช่วงทศวรรษ 2480 เยี่ยง ตระเวนมะนิลา

ทั้งๆ ที่จริง วิตต์สร้างสรรค์ผลงานอวดฝีมือแพรวพราวอันน่าจับตาจำนวนมากมาย แต่น่าเสียดายเหลือเกินที่นักอ่านปัจจุบันมีโอกาสได้สัมผัสงานของเขาเพียงไม่กี่ชิ้น

 

ถ้าพิจารณาชีวประวัติของวิตต์ ย่อมทราบดีว่า กลางปี พ.ศ.2482 เขาเดินทางไปศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ในบรรยากาศแห่งยุคสมัยอวลกลิ่นอายความเฟื่องฟูแบบอเมริกัน เริ่มสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยซิลลิแมน (Silliman University) เมืองดูมาเกเต้ (Dumaguete) แล้วย้ายมาเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยซานโตโทมัส (University of Santo Tomas) กรุงมะนิลา (Manila)

ทว่า “อสูรสงคราม” หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 “ได้ทำลายโอกาสที่จะได้รับปริญญาและทำให้ความฝันหลายอย่างหลายประการพังพินาศไปโดยสิ้นเชิง”

มิหนำซ้ำ สภาวะเลวร้ายในฟิลิปปินส์ขณะถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดครองทำให้วิตต์ตกระกำลำบากจนต้องระหกระเหินย้อนคืนสู่ประเทศไทยอย่างยากเข็ญ ครั้นเขามาสวมบทบาทนักหนังสือพิมพ์จึงถ่ายทอดไว้อย่างคับแค้นผ่านหนังสือตระเวนมะนิลา

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมใคร่สาธยายอีกหลายบรรทัด คือการย้อนไปกล่าวถึงงานเขียนยุคแรกๆ ของวิตต์ สุทธเสถียร ก่อนหน้าที่เขาจะไปเรียนฟิลิปปินส์

 

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 วิตต์ตอนเป็นวัยรุ่นได้แสดงความสนใจทางด้านหนังสือพิมพ์และการวาดเขียน ช่วงนี้เองที่เขาพากเพียรเขียนเรื่องสั้นๆ และวาดการ์ตูนส่งไปลงตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่างๆ เป็นต้นว่า ประมวญสาร และ เพลินจิตต์ โดยอาศัยร่างทรงในนามแฝง “วิตตมิน”

ดังเสียงเล่าของ ส. บุญเสนอ นักเขียนผู้เคยรั้งตำแหน่งบรรณาธิการ เพลินจิตต์ ความว่า

“ที่เพลินจิตต์รายเดือนนี่เอง คุณวิตต์เริ่มแปลและแต่งหนังสือลงหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก เรื่องแปลชอบเกี่ยวแก่ภาพยนตร์ ถ้าเรื่องแต่งมักเป็นเรื่องตลก ตอนนั้น คณะเพลินจิตต์กำลังเป็นพลุ คุณเวชยอมให้ออกหนังสือรายสัปดาห์เพิ่มอีกฉบับ คุณวิตต์รับเหมาเขียนการ์ตูนประจำตามเคย หากจะว่านาม “วิตตมิน” เกิดที่เพลินจิตต์ก็พอจะอนุมานได้”

เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558 ผมโชคดีที่ได้อ่านนิตยสาร เพลินจิตต์ หลายฉบับที่จัดพิมพ์ช่วงปี พ.ศ.2476 จึงค้นพบและสัมผัสอรรถรสข้อเขียนของ “วิตตมิน” จำนวน 2 ชิ้น

ชิ้นแรกเป็นเรื่องอ่านเล่นแนวขำขันสั้นๆ คือ “บ้านหม้อยามดึก” ลงพิมพ์ใน เพลินจิตต์ ปีที่ 1 เล่ม 6 ประจำวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2476 หน้า 39-45

 

“วิตตมิน” อาศัยสำบัดสำนวนเอกลักษณ์เฉพาะตนให้รายละเอียดบรรยากาศฉากแรกสุดว่า

“สภาพของถนนบ้านหม้อขณะนี้กำลังดึกสงัด แขกยามคนหนึ่งเคาะแผ่นเหล็กด้วยอาการงัวเงีย เพิ่งตีหนึ่ง ประตูบานหนึ่งของยี่ห้อ “ตั้งโต๊ะล้ม” มีแสงสว่างของไฟฟ้าพุ่งออกมาจับพื้นถนนยางแอสฟัลท์ทำให้เกิดมันปลาบ ซึ่งถ้าผู้หญิงสาวเห็นเข้าก็อยากจะใช้เปนลาน “กอดรำ” ผิดกว่าคนกวาดถนน ซึ่งอยากจะให้มันมีบ้านเรือนปลูกล้ำมาในถนนยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี”

จากนั้น เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ดำเนินถัดต่อมา

“อาศัยแสงสว่างหลัวๆ ภาพของ “เซียเฟียต” คันหนึ่งจอดกึกลงพร้อมกับการเช็ดเหงื่อและขากเสลดของโชเฟอร์ ภายหลังที่เสลดได้พุ่งแหวกอากาศลงไปหยุ่นตัวกับพื้นถนนแล้ว เจ้าของร่างกายในเสื้อแหวะหน้าเว้าหลังพูดว่า “เอ้า, เจ๊ก-ตัง!””

เหตุการณ์ตามท้องเรื่องเกิดขึ้นแถวย่านบ้านหม้อ “วิตตมิน” ถ่ายทอดเรื่องราวของแม่สาวน้อยวางมาดเหมือนคุณนาย เธอสวมเสื้อแหวะหน้าเว้าหลังนั่งรถยนต์เฟียตที่มีชายเชื้อสายจีนเป็นโชเฟอร์ เดิมทีตกลงราคาค่าโดยสารกันหนึ่งเฟื้อง หรือตกราคา 12.5 สตางค์ (เฟื้อง เท่ากับ 1/8 ของบาท) แต่ตอนลงจากรถ ด้วยความตระหนี่ หญิงสาวยื่นเงินให้คนขับเพียง 12 สตางค์ ชายชาวจีนเลยเอะอะโวยวายจะเอาเงินหนึ่งเฟื้องให้ได้และเดินมาจับมือเธอ ฝ่ายหญิงร้องเรียกอาบังแขกยามผิวดำให้มาช่วยเหลือ

“วิตตมิน” สะท้อนผ่านบทสนทนาของทั้งสาม พร้อมแสดงการล้อเลียนเสียงพูดภาษาไทยไม่ชัดของคนจีนและแขก

“รวงอารายกาน? ” ยามผิวดำถามขึ้น

“เรื่องราคาย่ะบัง”

“เอ๊ะ หราขา หราขาอาลาย?”

“หลีขา อาลาย ก็หลีขาค่าลกน่ะซี ลื้อพูกผิก อาบาง มีช่ายหราขา หราขา เขาเรียกหลีขาลู้ไม๋อาบังโอ๋ย?”

“อย่าเซือก อ้ายเช้ก! ว่าไงจ๊ะแม่อีหนู?”

จะเห็นว่า ตัวละครแขกยามเรียก “เจ๊ก” กลายเป็น “เช้ก” ตัวละครคนจีนก็ “พูกผิก” และพูดไม่ชัด

อาบังไล่โชเฟอร์ชาวจีนไปได้สำเร็จ หญิงสาวไม่ต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่ม อีกทั้ง “แม่สาวน้อยสะบัดหน้าแพร็ด เดินคอโหน่งเข้าไปในร้านตู้ทองที่มีป้ายทองเหลืองติดว่า “ร้านนายไตหอง ยี่ห้อตั้งโต๊ะล้ม จำหน่ายรูปพรรณและเครื่องทองต่างๆ””

ชื่อนายไตหอง มองเผินๆ เหมือนชื่อคนจีน แต่จริงๆ ส่อเจตนาขบขันให้ไพล่นึกคำไทยว่า ตายโหง

ในห้างร้านยี่ห้อตั้งโต๊ะล้ม แม่สาวน้อยมาดคุณนายสั่งเถ้าแก่หยิบแหวน ตุ้มหู และเข็มขัดนากมาให้เธอดู นายไตหองบอกว่าราคารวมทั้งสิ้น “พังห้าโล้ย” หรือ 1,500 บาท หญิงสาวจึงเอ่ย “ของยังงี้ อั๊วหาได้โดยไม่ต้องเสียสักเก๊เดียว” จีนไตหองฟังน้ำคำก็สวนกลับ “โหนย, พูกเปงเล่ง ถึงคุงนายจาเปงอาลายๆ โก้ตาม ซีไหมนี้ซีไหมเสรีป๊าบนา อีคุงนาย” ตรงจุดนี้ราวจะบ่งชี้ว่า กระทั่งคนเชื้อสายจีนยังตื่นตัวกับ “ซีไหมเสรีป๊าบ” (สมัยเสรีภาพ) หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

แม่หญิงมาดคุณนายถามเถ้าแก่ไตหองอีกว่า “ลื้อเปิดร้านแต่ดึกๆ นี่ไม่กลัวหรือ?” เพราะหลังจากเธอออกจากร้านไปไม่นาน เธอก็ย้อนกลับมาพร้อมมีดหั่นหมู ส่งเสียงข่มขู่เจ้าของร้านตั้งโต๊ะล้มให้ส่งแหวนและเข็มขัดนากมา ไม่ยินยอมจะเอามีดฟันคอ

ทันใดนั้น มีเสียงสะดุดธรณีประตูโครมใหญ่ และชายคนหนึ่งคะมำพุ่งเข้ามาในร้าน เขาทำหน้าเหยเกยิ้มเจื่อน เอ่ยขอโทษและออกปากเตือนว่า “เถ้าแก่ อั๊วคิดว่าลื้อไม่ควรเปิดร้านเวลานี้ ขโมยมักออกหากิน” นายไตหองพยายามบอกว่าเขากำลังถูกหญิงสาวข่มขู่จะชิงทรัพย์ แต่เจ้าหล่อนปฏิเสธแก้เก้อ “อุ๊ย! อย่าเชื่อค่ะคุณ อาเจ๊กแกประมาทหน้าผู้หญิงว่าปล้นไม่เปน และอะไรต่ออะไรอีกมาก” ชายคนนั้นว่า “จริงครับ, โดยมากผู้หญิงอ่อนหัดในการปล้นหรือตีชิงมาก”

ชายผู้เข้ามาใหม่สาธิตวิธีการปล้นอย่างแนบเนียนของโจรให้ทั้งเถ้าแก่และหญิงสาวรับชม พอทั้งสองบอกว่าเขาทำได้ไม่ค่อยสนิทแนบเนียน ชายแปลกหน้าเลยทำทีคว้าไม้พลองย่องไปด้านหลังแขกยามที่ยืนหลับ ตีหัวและลากร่างไปโยนลงถังขยะ

เขายังสาธิตอีกว่า ลำดับต่อไปพวกโจรก็จะเข้ามาตีหัวเจ้าของร้าน เพื่อให้ “ซีหนิกๆ” (สนิทๆ) และไม่ “หมวงงิ้ว” (เหมือนงิ้ว) ตามคำเถ้าแก่ เขากล่าว “ด้วยเกียรติยศฉันรับรองเถ้าแก่ — คอยดู – มันตียังงี้!” พร้อมๆ กับหวดจน “เถ้าแก่ไตหองทะลึ่งขึ้นแล้วล้มฟาดลงเห็นธงอเมริกันปลิวอยู่ไสวและเห็นนกบินผ่านไปมาร้องเจี๊ยบจ๊าบ”

หญิงสาวตกใจต่อสถานการณ์ เธอถามชายแปลกหน้าว่าจะทำเช่นไรดี และได้คำตอบ “ก๊อ – แสดงต่อไปน่ะซีครับ” เขาหยิบกุญแจที่พุงของนายไตหอง เดินมาไขตู้เซฟ โกยเงินจนเหลือแต่หีบเปล่าๆ และเดินเข้าไปอุ้มแม่สาวน้อย เธอร้อง “วุ้ย! ทำท่าก็พอค่ะ ไม่ต้องอุ้มจริงๆ หรอก” แต่เขาว่า “มันก็ไม่เห็นจริงซีครับ ไหนๆ ผมก็แสดงให้ดูจริงๆ มาหลายอย่างแล้ว เพราะฉะนั้น ผมขออุ้มคุณด้วยเกียรติยศ” เขายัดเธอเข้าไปในตู้เซฟ ลั่นกุญแจ เดินไปกวาดข้าวของมีค่าภายในร้าน

“วิตตมิน” จบเรื่องด้วยบทสนทนา

“คำอธิบายของคุณเห็นจะจบแล้ว ดิฉันออกได้หรือยังคะ?”

“โอ๋! ด้วยเกียรติยศ ขโมยมันคงจะไม่ปล่อยคุณออกหรอกครับ และตอนนี้ ด้วยเกียรติยศ มันก็เดินออกนอกร้านไป และผมก็กำลังแสดงท่าออกนอกร้านแล้ว ด้วยเกียรติยศ ผมลาก่อนละ”

 

ถ้ามองให้เป็นจุดเด่น การใช้บทสนทนาล้อเลียนเสียงพูดของคนจีนและแขกในเรื่อง “บ้านหม้อยามดึก” อาจเป็นกลวิธีแปลกใหม่เร้าอารมณ์ผู้อ่านให้ขบขัน

และเป็นชั้นเชิงที่น่าจะส่องประกายไม่บันเบาในยุคสมัยนั้น

แต่หากมองผ่านสายตาแบบปัจจุบัน การนำเอาเสียงพูดไม่ชัดมาล้อเลียนให้ตลกๆ

ย่อมมิแคล้วเข้าข่ายลักษณะเหยียดหยามเย้ยหยันแน่ๆ

 

งานอีกชิ้นของ “วิตตมิน” ที่มิอาจปฏิเสธว่าน่าสนุกยิ่ง ได้แก่ “กำเนิดของมิ๊กกี้” เขาแปลมาจากหนังสือ The New Royal และส่งไปลงตีพิมพ์ใน เพลินจิตต์ เล่ม 2 ประจำวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2476 หน้า 9-11 เปิดเรื่องว่า

“ท่านทราบไหมว่า ภายในเวลา ๕ นาที ที่ท่านได้รับความเพลิดเพลินและขบขันในการ์ตูนเสียงมิ๊กกี้นั้น มันต้องบรรจุภาพเขียนด้วยมือ, ในท่าท่างที่ต่างๆ กัน, ตั้งแต่เจ็ดพันภาพขึ้นไป วอลต์ ดีสนี เปนผู้ประดิษฐ์ตัวละครอันขบขันนี้ขึ้น ถูกละ, เขาไม่ได้เปนผู้วาดผู้เขียนเอง แต่เขามีพนักงานหมู่หนึ่ง ๑๗ คน, ล้วนแต่เปนผู้ที่ประเปรียวเอาใจใส่, และกะตือรือร้นในการงานทั้งนั้น แต่ถึงกระนั้นก็ดี การ์ตูนอันขบขันเหล่านี้จะต้องมาจากสมอง, ลักษณะนิสสัยใจคอ, และปลายดินสอของเขา”

จากข้อเขียนนี้ ผู้อ่านจะล่วงรู้เบื้องหลังและขั้นตอนการสร้างมิกกี้เมาส์ (Mickey Mouse) ขึ้นมาโลดแล่นในรูปโฉมการ์ตูนว่ากว่าจะสำเร็จได้ “มิสเตอร์ดิสนี” หรือวอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) และพนักงานทั้งหลายทุ่มเทแรงพากเพียรพยายามมากมายเพียงไร โดยมิสเตอร์ดิสนีจะส่งภาพวาดท่าทางเดินของมิกกี้เมาส์ที่เขาจินตนาการไปยังมือของพนักงานแผนกวาด พนักงานหนึ่งคนจะต้อง

“สร้างตัวการ์ตูนขันๆ ขึ้นไม่น้อยกว่า ๗๐๐ รูปเพื่อประกอบเข้ากับการเดิรของมิกกี้, รูปหนึ่งๆ ก็มีท่าทางแตกต่างกัน” และ “เมื่อทุกตอนของเรื่องได้เขียน, อัด, ถ่าย, และตรวจเรียบร้อยแล้ว เขานำการ์ตูนเรื่องนั้นมาฉายบนจอ สำหรับหัวหน้าแผนกเพลงและเสียงต่างๆ จะได้ตรวจบันทึกว่าตอนไหน ควรจะทำเพลงและเสียงให้เหมาะอย่างไร จะได้ไม่คลาดเคลื่อนและผิดจังหวะ ในชั้นต้นเขาลองซ้อมคณดนตรีดูก่อน โดยยังไม่ได้เปืดเครื่องอัดเสียง ครั้นเมื่อเห็นเหมาะกันทุกประการเปนที่พอใจของเขาแล้ว จึงเปิดเครื่องอัดเสียง และฉายการ์ตูนพร้อมกันไปตามบทบาทที่กำหนดไว้จนตลอดเรื่อง ถ้าตอนไหนเปนส่วนที่เจ้ามิ๊กกี้พูด วอลต์ดิสนีเปนต้องพูดแทนเข้าไปในเครื่องอัดเสียงเสมอ”

เพราะความวิริยะอุตสาหะนั่นแหละ จึงทำให้การ์ตูนมิกกี้เมาส์เขย่าโลกสะเทือนสะท้านเสียงหัวเราะขนานใหญ่ในทุกคราวนำออกฉาย

 

วิตต์ สุทธเสถียร น่าจะประทับใจเรื่องราวของวอลต์ ดิสนีย์และมิกกี้เมาส์ไม่น้อย เนื่องจากเขาชื่นชอบการวาดการ์ตูนลายเส้น และเคยใช้นาม “วิตตมิน” วาดรูปส่งไปตีพิมพ์ตามหน้าสื่อต่างๆ ตั้งแต่วัยเยาว์ มิหนำซ้ำ ช่วงปลายทศวรรษ 2480 และทศวรรษ 2490 ยังใช้นาม “วิตนี่” วาดภาพประกอบให้นิตยสาร ประชามิตร และ โบว์แดง

มิกกี้เมาส์ถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกากลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1928 (พ.ศ.2471) และแพร่กระจายความนิยมไปยังหลายแหล่งแห่งหนของโลก

ที่เมืองไทย กลิ่นอายของตัวการ์ตูนนี้โชยมาอบอวลเช่นกันตั้งแต่กลางทศวรรษ 2470

และผมคิดว่างานแปลเรียบเรียงของ “วิตตมิน” ที่ลงพิมพ์ในเพลินจิตต์ นับเป็นหมุดหมายหนึ่งที่เอื้ออำนวยให้คนไทยได้ทำความรู้จักกับเจ้าหนูมิกกี้

ปลายทศวรรษ 2470 “มิกกี้เมาส์” ยังถูกนำมาผูกโยงกับการโฆษณาสินค้าต่างๆ นานาที่จัดจำหน่ายในสังคมไทย เช่น ครีมแต่งผมมิกกี้เมาส์ ที่พบจากหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478 และหนังสือพิมพ์ กรุงเทพวารศัพท์ ประจำวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 (หากเทียบการนับศักราชแบบปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับจะออกเผยแพร่ในปี พ.ศ.2479)

ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่ๆ หันกลับมาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิตต์ สุทธเสถียร กันมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่า ส่วนใหญ่มักเน้นมองไปยังงานเขียนช่วงหลังๆ ที่เขากลับมาจากฟิลิปปินส์และทำงานหนังสือพิมพ์

ผมจึงตระหนักว่า ควรอย่างยิ่งที่จะทดลองนำเสนอความเริ่มริเป็นนักเขียนก่อนไปฟิลิปปินส์ของเขา ในร่างทรง “วิตตมิน” บ้าง