คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / เพื่อความเข้าใจ “เจ้าแม่” : พัฒนาการของ “เทวี” ในอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เนื่องด้วยเพิ่งผ่านพ้นเทศกาล “นวราตรี” อันเป็นเทศกาลใหญ่ของพระเทวี ยังตามมาด้วยเทศกาล “ทีปาวลี” หรืองาน “ทิวแถวแห่งประทีป” ซึ่งก็จะได้มีการบูชา “พระแม่ลักษมี” โดยเฉพาะอีก

ผมจึงคิดว่าควรจะพูดเรื่องพระเทวีเสียหน่อย

ยิ่งในปัจจุบันนี้มีผู้นับถือเทวีมากมาย มีเทวีจากท้องถิ่นอินเดียจำนวนมากค่อยๆ ทยอยเป็นที่รู้จักของคนไทย เช่น พหุชรา เยลลัมมา ฯลฯ

ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังช่วยให้นักสร้างเทวรูปและพ่อค้าหัวใสหรือนักเวทมนตร์คาถาต่างๆ มีงานทำมากขึ้นด้วย

ความเข้าใจเรื่องเทวี ก็คล้ายกับความเข้าใจเรื่องเทพฮินดูที่ผมได้เคยพูดไปบ้าง โดยย่อคือเทพฮินดูนั้นไม่ค่อยคงสภาพอยู่กับที่ แต่ละองค์ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

บางองค์หายไป บางองค์เพิ่มมา บางองค์ปรับเปลี่ยนเป็นอีกลักษณะ

ส่วนความรู้ในบทความนี้ผมเก็บบางส่วนมาจากหนังสือชื่อ Hindu Goddesses : Vision of the Divine Feminine in the Hindu Religious ของ David Kingley พิมพ์โดย Motilal Banarasidas และจากบทความผมเองในหนังสือ “พลังผู้หญิง แม่ เมียและเทพสตรี” สพฐ.จัดพิมพ์ ท่านอาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เป็นบรรณาธิการ

 

ผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า การนับถือเทวีเป็นคติโบราณมีมาก่อนบุรุษจะเป็นใหญ่ในศาสนา ก่อนสมัยอารยันจะเข้ามาในอนุทวีปอินเดีย ก็ได้มีการขุดพบโบราณวัตถุรูปสตรีโดยทั่วไป นักโบราณคดีว่า นี่คงจะเป็นเทวีของชาวพื้นเมืองเดิม

สำหรับชาวลุ่มนั้น “แม่” สำคัญกว่าพ่อ เพราะเป็นผู้ให้ชีวิต เช่นเดียวกับโลกธรรมชาติ

ดังนั้น ผีบรรพชนแต่เดิมจึงเป็นหญิง พระเจ้าแห่งโลกดึกดำบรรพ์จึงเป็นผู้หญิง

ต่อมาอารยันสร้างสมวัฒนธรรมผสานกับคนพื้นเมือง ก็พาเอาจินตนาการทางศาสนาของตนเองมาเผยแผ่ รู้จักกันในนาม “พระเวท” (veda)

ในพระเวทมีทั้งเทวะและเทวี แม้อารยันจะให้ความสำคัญกับเพศชายแต่ก็ปรากฏเทพสตรีจำนวนไม่น้อย

เทพของชาวอารยัน โดยมากเป็น “ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ” เช่น ฟ้าฝนคือพระอินทร์ แสงสว่างคือวรุณ (ซึ่งจะกลายเป็นเทพแห่งน้ำในภายหลัง) ไฟคือเทพอัคนี พระอาทิตย์คือสุริยเทพ รุทรคือเสียงลมหวีดหวิวหรือเสียงร้องของหมาป่าบนภูเขา ฯลฯ

ส่วนเทวีนั่นเล่า ล้วนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่นุ่มนวล เช่น อุษาเทวีคือรุ่งอรุณสีชมพูอันอบอุ่นอ่อนโยน ราตรีเทวีคือกลางคืนอันแพรวพราวไปด้วยแสงดาว สรัสวตีคือแม่น้ำสำคัญ ศรีและลักษมีคือความอุดมสมบูรณ์และความมงคล ฯลฯ

ที่แปลกกว่าใครอื่นคือ อทิติ เพราะเธอคือ “ความเป็นมารดา” ของสิ่งทั้งหลาย มิใช่ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เห็นได้ชัดอย่างเทวีอื่นๆ แต่เธอคือความเป็นมารดาที่ไม่ปรากฏสามี (แม้จะโดนเกณฑ์ให้พระกัศยปะเป็นสามีในยุคปุราณะ)

เทวีในยุคพระเวทนั้น มีส่วนน้อยที่มีการระบุถึงคู่ครอง ส่วนมากมักปรากฏอยู่อย่างเดี่ยวๆ และมักมีความสำคัญในตนเองอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือยังไม่มีบทบาทในการปราบปรามอสูรหรือสิ่งชั่วร้ายใดๆ

 

ยุคถัดมา คือยุค “ปุราณะ” เป็นยุคของการก่อรูปเทวตำนาน และบรรดาเทพเจ้าอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ยุคนี้เทพเจ้าในพระเวทได้กลืนกลายหายไปเป็นองค์ใหม่ๆ

ที่สำคัญยุคนี้นำเอาระบบระเบียบของมนุษย์ในทางสังคม เช่น ระบบครอบครัวพ่อแม่ลูก ระบบการปกครองแบบมีกษัตริย์ และระบบศีลธรรมทางสังคม เข้าไปแทนที่ระบบระเบียบของ “ธรรมชาติ” อย่างที่ทวยเทพมีกันในยุคพระเวท เพราะสังคมชนเผ่าแต่เดิมได้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแบบมีรัฐที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

ในยุคนี้จะเกิดเทวีที่ไม่ปรากฏในพระเวทมาก่อน เช่น อุมาไหมวตี ทุรคา กาลี ราธา ฯลฯ ขึ้นมามีบทบาทสำคัญ ในคัมภีร์จำพวกปุราณะ

นอกจากการเกิดขึ้นของเทวีใหม่ๆ แล้ว เทวีทั้งหลายยังได้ปรากฏคู่ครองขึ้นและได้ทำหน้าที่เทวมาตาไปด้วย

ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 5-6 ได้เกิดปุราณะที่ให้ความสำคัญกับเทวีเป็นพิเศษคือ “มารกัณเฑยปุราณะ” มารกัณเฑยะเป็นนามของฤษีตนหนึ่งผู้มีศรัทธาในพระเทวีเป็นพิเศษ

เนื้อหาส่วนที่สำคัญของปุราณะนี้เรียกว่า “เทวีมหาตมยะ” หรือความยิ่งใหญ่ของเทวี ซึ่งนิยมสวดกันในเทศกาลนวราตรีจนถึงทุกวันนี้

เทวีมหาตมยะ บอกเล่าบทบาทใหม่ของเทวี คือการที่จะต้องปราบปรามอสูรต่างๆ ที่เทวดาผู้ชายไม่อาจปราบลงได้ เช่น อสูรมธุ-ไกตภะ, รักตพีชะ, มหิษา เป็นต้น

 

จากเรื่องราวในปุราณะ ทำให้เกิดแนวคิด “มหาเทวี” หรือเทวีที่ยิ่งใหญ่ขึ้น คือถือว่าเทวีเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ มีเดชะอำนาจมากกว่าเทวดาผู้ชาย ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานแนวคิดของนิกาย “ศากตะ” ที่ให้ความสำคัญกับพระเทวีเป็นพิเศษ

ที่จริงในสมัยปุราณะ บรรดาเทวีต่างๆ ที่ทำหน้าที่ปราบอสูรหรือมีลักษณะที่ดุร้าย คงเป็นการรับเอาเทวีท้องถิ่นเข้าไปผสมผสานกับวัฒนธรรมสันสกฤตหรือวัฒนธรรมหลวงด้วย

“เทวีกาลี” อันมีชื่อเสียงที่เรารู้จักกันนี้เริ่มปรากฏครั้งแรกในอัคนิปุราณะและครุฑปุราณะในฐานะเทวีแห่งสงคราม

ด้วยลักษณะอันมีเอกลักษณ์ และดูเหมือนจะดุร้ายกว่าเทวีอื่นๆ คือเปลือยกาย มีผิวดำ ดื่มกินโลหิต และประดับกายด้วยซากศพ กาลีจะกลายเป็นเทวีที่สำคัญในพวกที่นับถือ “ตันตระ” ในเวลาต่อมา เพราะสามารถนำไปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติลึกลับที่เรียกว่าสาธนา อีกทั้งยังสะท้อนพลังงานลึกลับตามธรรมชาติ ที่ผนวกเอาการเกิดและการตายไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ ในยุคปุราณะยังมีการจัดกลุ่มเทวี ที่เรียกว่า “มาตฤกา” ที่แปลว่า มารดาหรือแม่ ที่จริงมาตฤกาเป็นกลุ่มเทวีที่เก่าแก่มีในกลุ่มคนพื้นเมืองมาก่อน แต่มาตฤกาในปุราณะมักเป็นภาพสะท้อนของเทวดาผู้ชายที่ได้ปรากฏขึ้นใหม่ในฐานะพลังงานเพศหญิง เช่น พระพรหมก็มี เทวีพรหมี, วิษณุก็มี เทวีไวษณวี, รุทระก็มี รุทราณี คเณศก็มี คเณศานี เป็นต้น

นอกจากบรรดาเทวีในปุราณะแล้ว ยังมีการนับถือเทวีท้องถิ่นอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งมักมีตำนานและระบบบูชาแบบพื้นบ้านนอกวัฒนธรรมสันสกฤต บางส่วนก็ถูกผนวกรวมเข้าในระบบวัฒนธรรมสันสกฤตของคัมภีร์ปุราณะ

แต่บางส่วนก็ยังคงอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิม เช่นบรรดา “อัมมา” (เจ้าแม่) ต่างๆ

 

วัดแขกสีลม คือตัวอย่างของศาสนสถานอัมมาองค์หนึ่งในวัฒนธรรมทมิฬนี่เอง

ซึ่งได้รับเอาวัฒนธรรมสันสกฤต (ใช้พราหมณ์ผู้ชาย สวดมนต์พระเวท และการบูชามาตรฐานตามหลักอาคมและไวทิก) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผิดกับบรรดา “ศาล” อัมมาตามหมู่บ้านในอินเดีย ซึ่งยังใช้ผู้หญิงหรือคนที่ไม่ใช่พราหมณ์ และทำพิธีอย่างชาวบ้าน

กระนั้น ไม่ว่าแบบไหนก็ยังมีการเข้าทรงและประเพณีท้องถิ่นอีกหลายอย่างผสมผสานกันไปด้วย

 

ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 เริ่มมีขบวนการ “ตันตระ” ปรากฏขึ้น และแพร่หลายมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 (แนวคิดนี้เป็นอย่างไรไว้ผมจะเล่าให้ฟังโดยละเอียดในภายหลัง) แต่การแพร่หลายของตันตระ ส่งผลให้นิกาย “ศากตะ” (นิกายที่นับถือพระเทวีหรือศักติ) แพร่หลายไปด้วย

นิกายศากตะถือว่าพระเจ้านั้นมิใช่สภาวะของบุรุษ แต่เป็น “พลัง” ของสตรีที่สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ คัมภีร์กุพชิกาตันตระ มีข้อความว่า “มิใช่พรหมา วิษณุและรุทระ (ศิวะ) หรอกที่สร้าง รักษาและทำลาย (สกลจักรวาล) แต่คือพรหมี ไวษณวีและรุทราณี (พระนามเพศหญิงของพระเป็นเจ้าสามองค์) ต่างหาก สวามีของพวกนางเป็นก็แต่เพียงซากศพ”

แม้นิกายศากตะจะทำให้สถานะของเทวีขึ้นสู่จุดสูงสุด (ดังที่เคยเป็นมาก่อนในยุคโบราณ) แต่ความแพร่หลายของนิกายนี้ก็มีไม่มากนัก ภายใต้สังคมผู้ชายเป็นใหญ่ แม้จนปัจจุบันก็ยังคงมีความพยายามที่จะโปรโมตความคิดเรื่องเทวีเป็นใหญ่ผ่านทางพิธีกรรม สื่อโทรทัศน์ สังคมออนไลน์ หรือแม้แต่การสร้างเทวีใหม่ๆ ขึ้นมา

ทุนนิยมนี่เสกสร้างความศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ได้นะครับ ในโลกปัจจุบันนี้

เรื่องเทพในอินเดียจึงยังไม่ใช่สิ่งที่ “นิ่ง” เอาเข้าจริงผมก็ไม่แน่ใจว่า บรรดาความเชื่อและวัฒนธรรมอันไหนมันนิ่งบ้าง เพียงแต่อินเดียความไม่นิ่งนี่ชัดเจนกว่าที่อื่นๆ ด้วยเพราะความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของอินเดียเอง

ซึ่งก็พอๆ กับไทยเรานี่แหละครับ