บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ : EEC กำลังเดินหน้า ฤๅพัทยาจะก้าวตามอยู่ข้างหลัง

หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ตามอภิมหาโครงการยักษ์ Eastern Economic Corridor ( EEC) จ.ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งการลงทุนและท่องเที่ยวอาเซียนรวมถึงจีน-อินเดีย ก่อนขยับสู่ระดับโลกตามกระแสโลจิสติกส์ที่ย่อโลกให้แคบและสั้นลง

การดำเนินงานที่พอจับต้องได้ยามนี้ คือแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด รถไฟความเร็วสูงถึงระยอง ท่าเทียบเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ทางพิเศษมอเตอร์เวย์รองรับฝั่งมาบตาพุด แล้วก็สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา

เรียกว่ายิ่งใหญ่ที่ใครไม่ควรชิงตายเสียแต่ตอนนี้…เพราะจะพลาดโอกาสเห็นเมืองไทยก้าวไกลกว่าที่เคยเห็น!

 

ตามแผนคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Invesment – BOI) ระบุว่า จะปั้นเมืองทั้ง 3 ให้ดูน่าอยู่ทางฝั่งตะวันออก ซึ่งห่างเมืองหลวงรัศมี 200 ก.ม. กับส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับนานาชาติ และเมืองสมดุลด้านที่อยู่อาศัยกับสถานที่ทำงาน

แล้วยังจะส่งเสริมให้เป็นกลุ่มเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระดับอินเตอร์ โดยเฉพาะเมืองพัทยาซึ่งมีความพร้อมด้านที่พักแรม สถานที่จัดประชุม และแสดงสินค้านานาชาติ กับช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงครอบครัว จากความพร้อมด้านร้านอาหาร สวนสนุก ตลาดช้อปปิ้ง และยังส่งเสริมกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามพัฒนาการแพทย์ที่ทันสมัย

คณะทำงานประสานการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก ก็ได้เปิดเวทีประชุมแผนพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่ EEC เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาคนล่าสุดเข้าร่วมประชุม พอสรุปได้ว่าจะเร่งพัฒนาท่าเทียบเรือให้เทียบชั้น Pier 39 ของซานฟรานซิสโก

หลังรัฐมนตรีท่องเที่ยวไทยหลายคนเคยเอ่ยปากถึงเรื่องนี้คนแล้วคนเล่า

และจะสร้างอาคารผู้โดยสารรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเรือสำราญแบบ Cruise Terminal ที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวไทยไม่รู้กี่คนโอ่จะผลักดันแต่ก็ไม่สำเร็จสักเรื่อง

สุดท้ายเป็นรถไฟรางเบาแบบ “Tram” นอกจากนี้ ยังคิดจะพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นนครเพื่อการท่องเที่ยวกึ่งธุรกิจไปพร้อมกัน

ฝันอีกขั้นคือการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพสูงขึ้น กับรุดแก้ปัญหาจราจรที่ยุ่งอีนุงตุงนัง ให้หันมาใช้ระบบราง (หากมี) แทนการใช้พาหนะส่วนบุคคล

ทุกประเด็นดูดี…จึงมอบให้เมืองพัทยารับไปเป็นเจ้าภาพ นำบทสรุปเสนอบอร์ดใหญ่ EEC ที่มีลุงคนนั้นแหละเป็นประธาน ท่ามกลางความโล่งอกของผู้คนหากฝันที่ว่านั้นเป็นจริง!

 

ระหว่างแผนพัฒนาท่องเที่ยวพัทยาของ EEC กำลังยกร่างกับมีการตอกเสาเข็มกันบ้างแล้ว ก็น่ามองถึงสภาพความเป็นจริงปัจจุบันของเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา ซึ่งมีแต่ปัญหาหมักหมมมานานว่าจะก้าวทันโลกใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงได้ตามฝันจริงหรือไม่?

อดีตเมื่อหาดทรายรูปพระจันทร์คืนแรมยังเงียบสงบ มีแต่เรือประมงชายฝั่งมาจอดหลบมรสุมจากลม “พัทธยา” เป็นเวลาเดียวกับลุงโฮจิมินห์กำลังกู้ชาติจากจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส โดยมีอเมริกาเล่นบทผู้ร้ายบนคาบอินโดจีน และใช้เมืองไทยเป็นฐานทัพส่งทหารอเมริกันไปรบ

นักรบรายใดรอดชีวิตกลับมาก็จะได้ไปพักผ่อนยังหาดพระจันทร์รูปคืนแรม ที่มีชื่อต่อมาว่า “พัทยา” จนสถานที่ดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีโรงแรม ร้านอาหารรับทหารอเมริกันตามมา พอสงครามเวียดนามสงบ พัทยาก็มีแต่จะโตวันโตคืน

ทำให้เกิดคำถามต่อมา หากลุงโฮฯ ไม่กู้ชาติ อเมริกาไม่ส่งทหารมารบ พัทยาจะได้ชื่อว่าคือเมืองท่องเที่ยวอู้ฟู่อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้หรือเปล่า?

 

เมื่อพัทยาเป็นดาวจรัสแสงด้านท่องเที่ยวไทย ต่อจากเวียงพิงค์เชียงใหม่และไข่มุกภูเก็ตซึ่งรุดหน้าไปก่อน องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) ต้นกำเนิด ททท. ได้ประเมินตลาดแล้วพบว่าพัทยามีแนวโน้มการเติบโตแบบรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่แน่นอน

จึงได้รีบจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองพัทยาทันที โดยนำผู้เชี่ยวชาญด้านจัดระเบียบและวางผังเมืองท่องเที่ยวชายทะเลจากญี่ปุ่นมาร่วมสำรวจวางแผนเมื่อปี 2517 กำหนดให้มีโรงแรมสูงไม่เกินยอดมะพร้าว มีแหล่งน้ำใช้สนับสนุนกับบ่อบำบัดน้ำเสีย และเตาเผากำจัดขยะ

แนวชายหาดริมทะเล (ปัจจุบันคือพัทยาสาย 1) กำหนดให้เป็น Walking Street ห้ามยานพาหนะทุกชนิดแล่นผ่าน เพื่อความปลอดภัยนักท่องเที่ยวตลอดแนวชายหาด

ส่วนพัทยาใต้ให้ปลอดอาคารพาณิชย์ และปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะเสมือนปอดฟอกลมหายใจ มีมาตรการรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินนักท่องเที่ยว และจัดระบบการจราจรลดความแออัด

แผนดังกล่าวดูน่าเชื่อถือ…แต่ขอโทษที! ไม่มีหน่วยงานใดนำไปปฏิบัติตามวาทกรรมคนยุคนี้ที่ว่า “บูรณาการร่วมกัน” เพราะงานท่องเที่ยวสมัยนั้นไม่ได้ต่างกับสมัยนี้ คือต้องอาศัยมือไม้จากหน่วยงานอื่น ที่จิ้มลงไปตรงไหนก็ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องท่องเที่ยวทั้งนั้น!

พัทยาโตมากว่า 50 ปี แต่น่าเสียดายที่กลับเหมือนเด็กพิการหัวโต

เมื่อเข้าสู่ยุค EEC ไทยแลนด์ 4.0 ปีนี้ จึงควรจับตาดูกันต่อไปว่า จะมีการเตรียมแก้สมการเมืองหัวโตกันอย่างไร ถึงจะขึ้นชั้นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวตลาดอาเซียนก่อน แล้วค่อยก้าวไปไกลถึงตลาดโลกตามฝัน

 

องค์ประกอบพัทยาปัจจุบันเป็นเมืองปกครองพิเศษมาตั้งแต่ปี 2521 มีพื้นที่ 208.10 ตร.ก.ม. มีครัวเรือนปี 2559 จำนวน 22,803 ครัวเรือน ประชากร 117,371 คน แต่มีประชากรแฝงมากถึง 4-5 แสนคน จึงปฏิเสธไม่ได้กับปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ตลอดเวลา เช่น จี้ปล้นชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย แย่งผัวแย่งเมีย ตลอดจนแย่งพื้นที่ทำกินกันทั่วไป

กระนั้น…พัทยาก็ยังได้ชื่ออยู่ดีว่าคือเมืองเนื้อหอมมีแต่นักลงทุนรุมตอม เพราะมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติชายทะเล กิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น อาทิ สวนน้ำ สวนสนุก การแสดงทางวัฒนธรรมและบันเทิง แหล่งช้อปปิ้ง รวมแล้วกว่า 100 แห่งจากที่รัฐและเอกชนลงทุน

ไม่แปลกเลยที่จะเห็นตัวเลขทัวริสต์เมืองนี้เพิ่มขึ้นทุกปี จนแตะเพดานอยู่ที่ 14 ล้านคน เป็นคนไทย 5 ล้านคน ต่างชาติ 9 ล้านคน ทำให้สถานพักแรมเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวทุกระดับ ล่าสุด 1,008 แห่ง 76,966 ห้อง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 77% ตลอดปี

ตรงนี้เคยมีปัญหากรณีทัวร์จีนหด ทัวร์รัสเซียย้ายฐานไปภูเก็ตแทนจีน ผลคือห้องพักโอเวอร์ซัพพลาย การตัดราคาจึงมีแนวโน้มจะฟื้นคืนกลับมาหลอกหลอนพัทยากันอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนการเร่งตลาดเพิ่มสถิติจะด้วยวิธีฟรีวีซ่าหรือขายทัวร์ราคาถูก เหมือนยินดีเปิดเสรีรับมาเฟียต่างชาติมุดดินมาไล่ฆ่ากันในบ้านเรา ไม่นับกลุ่มทำกินจนกลายเป็นกลุ่มอิทธิพลในที่สุด

อีกอย่างต้องยอมรับกับนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัทนำเที่ยวซึ่งดูว่าปลอดภัย แต่ลึกๆ ย่อมหนีไม่พ้นการตกเป็นเหยื่อทัวร์ออฟชั่นนัล คือขายนอกรายการฟันค่าน้ำร้อนน้ำชาเป็นรายได้ไกด์หรือบริษัทนำเที่ยว

ส่วนรายที่วางแผนเดินทางมาเองเพื่อเลือกใช้ชีวิตเสรีในการเที่ยวและกินดื่ม แต่ก็ไม่วายถูกหิ้วปีกไปลอกคราบหมดเนื้อหมดตัว

บางรายตกเป็นเหยื่อเก้ง กวาง ชะนี โคนต้นมะพร้าวหรือเสาไฟฟ้าริมหาด ที่พร้อมจะล่าไปเสพสุข ก่อนก่อคดีโจรกรรมทรัพย์สิน วิธีการต่างๆ เป็นคดีความล้นโรงพักพัทยาอยู่บานเบอะ

ยังไม่นับรวมปัญหาจราจรติดขัดประจำวัน ที่มาจากความแออัดผู้อยู่อาศัยทำกิน และกระแสนักท่องเที่ยวแห่มาผสมโรง ขณะจำนวนรถสองแถวประจำทางแล่นครองถนนอยู่ถึง 712 คัน แท็กซี่อีก 500 คัน ซึ่งวันนี้ก็ยังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแกร็บแท็กซี่ที่เข้ามาแบ่งปันผู้โดยสาร

แล้วยังจะมีมหากาพย์น้ำท่วมขังซึ่งไม่สะเด็ดน้ำเสียที ทั้งที่พัทยาเป็นเมืองชายทะเล แต่ฝนตกแค่ไม่กี่ห่า ก็เจิ่งนองเป็นนครใต้บาดาลเพราะท่ออุดตันระบายลงทะเลไม่ทัน แล้วไหนจะกรณีน้ำทะเลเน่าเสีย แบคทีเรียสูงเกินค่ามาตรฐาน จากน้ำเสียชุมชนและสถานประกอบการ

เด็กพิการหัวโตเมืองนี้จึงมองไม่เห็นทางออกเลยว่าจะใช้โจทย์ข้อไหนมาแก้สมการให้พัทยาเป็นเมืองโชติช่วงชัชวาลทางการท่องเที่ยวของ EEC ได้ในอนาคตอย่างที่คิดฝันกัน?

และคงจะย่ำรอยเดิมอย่างที่เห็นนี่แหละ!