วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ถังระยะแรก บริหารไป-ปราบกบฎไป

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

กำเนิดถัง (ต่อ)

ผลจากนโยบายดังกล่าว ประกอบกับการทำศึกกับกบฏขบวนการอื่นที่ไม่ยอมขึ้นต่อถังควบคู่กันไป ทำให้จำนวนกบฏค่อยๆ ลดลงจนเหลือกองกำลังที่สำคัญอยู่อีกไม่กี่ขบวนการ แต่ละขบวนการถังได้ใช้เวลาที่การปราบปรามที่ยาวนานไม่เท่ากัน ซึ่งอาจแยกกล่าวได้คือ

กบฏที่ตั้งอยู่ทางด้านจะวันตกเฉียงเหนือของเมืองหลวงปราบได้ในช่วง ค.ศ.617-618 ชายแดนด้านเหนือซึ่งเป็นเติร์กใน ค.ศ.628 (บางที่ระบุว่า ค.ศ.629) ทางเหนือที่เป็นมณฑลซานซีในปัจจุบันใน ค.ศ.622 อาณาบริเวณเป่ยจิงในปัจจุบันใน ค.ศ.624

บริเวณภาคกลางและภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยในปัจจุบันใน ค.ศ.621 กบฏหลี่มี่ใน ค.ศ.618 (ได้กล่าวไปแล้ว) ชายฝั่งมณฑลเจียงซูและเขตแดนเจ้อเจียงในปัจจุบันใน ค.ศ.621 ที่ราบลุ่มแม่น้ำหยังจื่อในหนันจิงในระหว่าง ค.ศ.621-624 ตลอดจนทางภาคใต้ตรงบริเวณแม่น้ำหยังจื่อและส่วนใหญ่ของดินแดนทางใต้ใน ค.ศ.621

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า บรรดากบฏที่มีอยู่มากมายหลายขบวนการนี้ มีบ้างที่ขัดแย้งกันและทำศึกในระหว่างกัน ใช่แต่จะทำศึกกับถังเพียงฝ่ายเดียว มีบ้างที่เมื่อตั้งตนเป็นใหญ่แล้วก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิและตั้งราชวงศ์ขึ้น ใช่แต่ถังเท่านั้นที่ตั้งตนเช่นนั้น

และมีบ้างที่ร่วมมือกันแล้วทรยศหักหลังกัน เหตุการณ์นี้แม้จะเกิดแก่ถังเช่นกัน แต่ก็ไม่หนักเท่าบางขบวนการที่มีปัญหานี้

สถานการณ์ต่างๆ ที่ว่านี้จึงมีรายละเอียดที่ซับซ้อน และมีตัวแสดงอยู่มากมาย จนทำให้เห็นว่า หากผู้ชนะในบั้นปลายเป็นกบฏขบวนการอื่นที่มิใช่ถังแล้ว ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ย่อมบันทึกเป็นราชวงศ์อื่นที่มิใช่ถัง

 

จะเห็นได้ว่า หากนับแต่ที่ถังตั้งราชวงศ์ขึ้นใน ค.ศ.618 แล้ว การปราบกบฏขบวนการต่างๆ ใช้เวลายาวนานนับสิบปีจึงสิ้นสุดลง โดยกบฏขบวนการสุดท้ายที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ยาวนานนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากชนชาติทูเจี๋ว์ย (เติร์ก) ซึ่งในเวลานั้นคือทูเจี๋ว์ยตะวันออก

ในขณะที่ทูเจี๋ว์ยตะวันตกไม่มีนโยบายขยายดินแดนมายังที่ราบภาคกลาง ทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับถัง ทำให้ถังทำศึกกับทูเจี๋ว์ยตะวันออกเพียงด้านเดียวโดยไม่ต้องพะวงศึกสองด้าน จนสามารถผลักดันทูเจี๋ว์ยกลุ่มนี้ให้อยู่นอกด่านได้สำเร็จ

ถึงแม้จะทำศึกเพื่อรวมแผ่นดินอย่างยาวนาน แต่กับการบริหารภายในราชสำนักแล้วก็นับเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

การบริหารภายราชสำนักที่ดำเนินควบคู่ไปกับการทำศึกกับกบฏนั้น หากพิจารณาตามเกณฑ์ของผู้ที่สมาทานลัทธิขงจื่อแล้ว ถังเกาจู่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าที่จะถูกกล่าวขานยกย่อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลังจากตั้งตนเป็นจักพรรดิแล้ว ถังเกาจู่ทรงเอาธุระต่อการบริหารราชสำนักน้อยมาก

เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เวลาไปกับการแสวงหาความบันเทิงต่างๆ

ซึ่งมีทั้งการล่าสัตว์ร่วมกับผู้ใกล้ชิดที่ช่ำชองในการขี่ม้าและยิงธนู ความชื่นชอบในการร้องรำทำเพลงกับให้บำเหน็จแก่ผู้สร้างความบันเทิงให้แก่พระองค์ โดยไม่เหลียวแลเสนามาตย์ที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ของตน จนความลำเอียงเช่นนี้เป็นที่ติฉินนินทาไปทั่วทั้งราชสำนัก ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่นางใน

แต่ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไร้เหตุผล ใจร้อนใจเร็ว และรีบเร่งในการวินิจฉัยลงโทษเสนามาตย์ ดังใน ค.ศ.619 ที่ทรงให้ประหารชีวิตขุนนางที่ร่วมต่อสู้กันมานับแต่ตั้งมั่นที่ไท่หยวนอย่างรีบเร่ง เพียงแค่ต้องสงสัยว่าขุนนางผู้นี้กำลังวางแผนก่อกบฏ โดยไม่สืบสาวราวเรื่องให้ถ่องแท้

ด้วยเหตุที่นี้ ผลงานของถังเกาจู่ที่เป็นชิ้นเป็นอันจึงถูกการครองตนเช่นนั้นมากลบลง

 

ผลงานที่ว่าเป็นชิ้นเป็นอันดังกล่าวที่สำคัญก็คือ การเลือกใช้บุคคลจำนวนไม่กี่คน แต่มีความรู้ความสามารถสูงให้มาเป็นที่ปรึกษา บุคคลเหล่านี้แทบทั้งหมดล้วนมีบทบาทตั้งแต่ตอนที่ถังเกาจู่ตั้งตนเป็นกบฏ ซึ่งมีอยู่เพียง 5-6 คนเท่านั้น และกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่กุมงานในราชสำนักเอาไว้

ส่วนขุนนางระดับสูงที่ดูแลงานด้านพลเรือนที่มีอยู่ 45 คนนั้น มีอยู่ 27 คนที่เคยเป็นขุนนางทางด้านนี้ในสมัยสุย และต่างก็มีปู่หรือบิดาเคยเป็นขุนนางทางด้านนี้มาก่อน ซ้ำยังมีอยู่สี่คนที่เคยรับใช้กลุ่มอำนาจในราชวงศ์ใต้อีกด้วย

แต่ทั้งหมดนี้ต่างก็มีส่วนในการขับเคลื่อนงานด้านการปกครองของถังให้เป็นไปด้วยดี

การฟื้นฟูระบบการสอบบัณฑิตและศาสนาหรือลัทธินับเป็นผลงานสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้

 

กล่าวสำหรับการสอบบัณฑิตแล้วเริ่มมีความชัดเจนใน ค.ศ.621 เมื่อมีการจัดสอบบัณฑิตขึ้นที่เมืองหลวง แม้ผู้สอบได้จะมีจำนวนน้อย และเป็นการสอบตามเกณฑ์ที่สุยเคยตั้งเอาไว้ ผู้ที่สอบได้หากมิใช่ผู้ที่มีบุพการีมีฐานะสูงในระบบราชการแล้ว ก็มักจะเป็นผู้ที่มีพื้นความสัมพันธ์กับราชสำนักจากการร่วมก่อตั้งราชวงศ์มาด้วยกัน

นอกจากนี้ ก็ยังได้ฟื้นสถานศึกษาขึ้นในฉังอันที่เคยเปิดในสมัยสุยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง สถานศึกษานี้มีอยู่สามแห่งคือ สำนักกุลบุตรแห่งรัฐ (กว๋อจื่อเสี๋ว์ย, School of the Sons of State) มหาสิกขาลัย (ไท่เสี๋ว์ย, Superior School) และสำนักจตุรทวาร (ซื่อเหมินเสี๋ว์ย, School of the Four Gates)

ความรู้ที่สถานศึกษาทั้งสามแห่งนี้สอนกันก็คือความรู้จากปกรณ์โบราณ ซึ่งก็คือลัทธิขงจื่อ

ผู้เรียนส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานของบุคคลในราชสำนัก ชนชั้นผู้ดี และขุนนางชั้นสูง โดยใน ค.ศ.626 พบว่ามีผู้เข้าศึกษา 342 คน โดยสถานศึกษาที่อยู่ระดับล่างสุดคือสำนักจตุรทวาร สถานศึกษานี้มีแต่กุลบุตรของชนชั้นสูง การเล่าเรียนจึงไม่เคร่งครัดจริงจัง ผู้เรียนต่างเรียนกันด้วยความสุขารมย์

แต่กระนั้น การศึกษานี้ก็มิได้จำกัดเฉพาะในเมืองหลวง ด้วยใน ค.ศ.624 ถังเกาจู่ทรงให้เปิดสถานศึกษาในลักษณะนี้ขึ้นในหน่วยปกครองระดับจังหวัดและอำเภอทั่วจักรวรรดิ

ส่วนทางด้านศาสนาหรือลัทธิก็ได้มีการจัดระเบียบขึ้นใหม่ให้เป็นระบบ หลังจากที่ต้องตกอยู่ในอาการหวาดผวาอันเนื่องมาจากการศึกที่ยาวนาน ทั้งนี้ พุทธและเต้ายังคงเป็นเสาหลักที่สำคัญที่มีผู้นับถือที่เป็นราษฎรจำนวนมาก จนมีชุมชนศาสนาหรือลัทธิเป็นของตนเอง

ชุมชนทั้งสองหลักคิดนี้ต่างก็มีนักบวช ภิกษุ และแม่ชีพำนักอยู่ โดยในยุคนี้ราชวงศ์ได้เสนอให้วัตถุปัจจัยไทยทาน ที่ดิน โบสถ์ อาราม และศาสนสถานอื่นๆ แต่ที่น่าสนใจก็คือ การพยายามประสานให้ศาสนาพุทธ ลัทธิเต้า และลัทธิขงจื่ออยู่ใต้ชายคาเดียวกัน

คือให้มีการอบรมสั่งสอนหลักคิดของทั้งสามศาสนาและลัทธิไปด้วยกัน ซึ่งไม่เฉพาะแต่ในหมู่ราษฎรเท่านั้น หากยังมีในหมู่ชนชั้นนำอีกด้วย

 

นโยบายด้านการศึกษาและการส่งเสริมด้านศีลธรรมจรรยาดังกล่าว ดำเนินควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ยากกว่าสองด้านข้างต้น เพราะเมื่อราชวงศ์ตั้งตนขึ้นมาแล้วสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางให้มั่นคง

แต่ด้วยเหตุที่การศึกที่มีกับกบฏขบวนการต่างๆ การรวมศูนย์อำนาจจึงถูกกระทบด้วยความมั่นคงทางการคลัง ด้วยการศึกดังกล่าวทำให้ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และงบประมาณนี้ใช่แต่จะใช้แต่ในทางการทหารเท่านั้น หากยังรวมถึงเงินเดือนของข้าราชการที่ทำงานด้านพลเรือนอีกด้วย

จากเหตุนี้ การหารายได้เข้าจักรวรรดิจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ การเก็บภาษีทางการค้าและการเกษตรจึงเป็นรายได้หลัก โดยในยุคนี้ได้ตั้งสำนักงานการตลาดขึ้นทั้งในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ต่างๆ

องค์กรนี้มีหน้าที่ในการลงทะเบียนร้านค้าในตลาด การตรวจสอบมาตราชั่งตวงวัด การกำหนดรายการและราคาสินค้าที่แน่นอน และการประกันราคาซื้อขายสินค้าให้เสมอกัน

ส่วนทางการเกษตรได้สร้างระบบจัดเก็บภาษีคงที่แก่พืชผล ผ้า และแรงงานบริการที่แน่นอน ระบบภาษีนี้จะตั้งอยู่บนฐานของแรงงานผู้ใหญ่ สถานะของเกษตรกร และขนาดของที่ดินทำกินเป็นเกณฑ์ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบคูคลองและระบบบริหารจัดการน้ำอีกด้วย

โดยแทบทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ถังได้สืบทอดนโยบายหลายด้านมาจากสุย และถังก็สามารถทำได้สำเร็จในระดับที่น่าพอใจ แต่สิ่งที่ยังมิได้สงบจบลงเลยก็คือ การศึกจากกบฏขบวนการต่างๆ ถังยังคงจัดการกับกบฏเหล่านี้อย่างไม่ลดละ

โดยมิได้เฉลียวใจเลยว่า ปัญหานี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ