บทวิเคราะห์ : บทบาท “บิ๊กแดง” ไม่หนีสภา นิวสแตนดาร์ด ผบ.ทบ. “ผมขอเป็นเพื่อนนักการเมือง”

แม้ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะถูกปรามาสว่า หนีสภา แต่ภายหลังมีรายงานข่าวในช่วงเช้าวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา

เป็นรายงานข่าวการตรวจเยี่ยมการปฏิบัติของหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว (RDF) ของกองพลทหารราบที่ 9 กองกำลังสุรสีห์ ที่ จ.กาญจนบุรี ของ ผบ.ทบ.

วันเดียวกับการนัดหมายอันเป็นมติ โดยทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมผ่านมายัง ทบ.เพื่อเชิญ ผบ.ทบ.เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องความมั่นคง ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “บิ๊กโหน่ง” พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน

แม้การติดภารกิจของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จะส่ง “บิ๊กนัย” พล.อ.สุนัย ประภูชะเนย์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. มาเป็นตัวแทน แต่เมื่อทาง กมธ.ยืนยัน โดยจะทำหนังสือเชิญเป็นครั้งที่ 2 ต้องการให้ พล.อ.อภิรัชต์มาแลกเปลี่ยนด้วยตัวเอง

ไม่นาน พล.อ.อภิรัชต์ก็ปรากฏยังรัฐสภา ย่านเกียกกาย

เป็นการตัดสินใจกะทันหัน ตัดกำหนดการบางส่วนของการตรวจเยี่ยม และให้นโยบายแก่กองกำลังสุรสีห์ที่ จ.กาญจนบุรี แล้วรีบบินกลับเข้ากรุง เปลี่ยนเสื้อผ้าในรถ จากเครื่องแบบทหาร มาเป็นชุดสูทสากล

มุ่งหน้าสู่รัฐสภาตามคำเชิญทันที

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การทำหนังสือเชิญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านความมั่นคง เป็นมติของ กมธ. ภายหลังการบรรยายในหัวข้อ “แผ่นดินของเรา ในมุมมองด้านความมั่นคง” ณ หอประชุมกิตติขจร บก.ทบ.

แม้ระบุว่าเป็นเรื่องความมั่นคง แต่นัยพิทักษ์รัฐบาลเต็มที่

เพราะเป็นสปีชอันดุเดือดที่เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างกองทัพ ภายหลังกองทัพภาคที่ 4 ส่งตัวแทนเข้าแจ้งจับ 12 แกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน กับนักวิชาการ ม.116 กรณีที่ไปเปิดเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จังหวัดปัตตานี

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประกาศไว้ว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

โดยกล่าวหาว่า มีการยุยงปลุกปั่นให้มีการแก้ไขมาตรา 1

พร้อมทั้งพุ่งเป้าไปยังนักการเมือง ซึ่งถ่ายรูปคู่กับโจชัว หว่อง ที่ฮ่องกง นักการเมือง ซึ่งเป็นบุคคลประเภทฮ่องเต้ซินโดรม และนักการเมืองที่เจ้านายอยู่ในต่างประเทศ เป็นต้น

อีกทั้งยังเป็นสปีชอันแข็งกร้าวที่เตือนไปถึงพรรคการเมือง ทั้งเพื่อไทย ทั้งอนาคตใหม่ หรือแม้ประชาชาติ ก่อนวาระรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่มีวงเงินรวม 3.2 ล้านล้านบาทจะเกิดขึ้น

หลังฝ่ายค้านประกาศ “วางเป้า” ชำแหละงบประมาณของกระทรวงกลาโหม และงบฯ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เสนอเข้าสู่สภาเป็นพิเศษ

และที่สำคัญยังเป็นการพบกันท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ออกหน้าเชียร์ เมื่อถูกนักข่าวถามด้วย

ดังนั้น กรณีดังกล่าว ไม่เพียงแต่มติการเชิญอันจากมาจาก กมธ.เท่านั้นที่น่าตื่นเต้น แต่การตอบรับเพื่อเข้าแลกเปลี่ยนเรื่องความมั่นคงของ พล.อ.อภิรัชต์ ตามคำเชิญยังถือเป็นปรากฏการณ์ระดับ “บิ๊กเซอร์ไพรส์” สำคัญของการเมืองไทย

เพราะถือเป็นการสร้าง “มาตรฐานใหม่” จากคนระดับ ผบ.เหล่าทัพ อันเป็นข้าราชการประจำในฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะข้าราชการทหาร เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติเรียกก็ต้องให้ความร่วมมือ

“วันนี้ผมตั้งใจที่จะมา จริงๆ มีภารกิจตรวจเยี่ยมกองกำลังสุรสีห์ ก็รีบบินกลับมา เนื่องจากเห็นความสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติที่เราจะต้องทำงานร่วมกัน และเดินไปด้วยกัน”

“บิ๊กแดง” นั่งหัวโต๊ะคู่ “บิ๊กโหน่ง” เปิดโอกาสให้ซักถาม

มิหนำซ้ำ ภายหลังการปิดห้องคุยนานกว่า 1 ชั่วโมง จากที่เคยแข็งกร้าว กลับปรากฏภาพแห่งความชื่นมื่น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่ผ่านมา

พล.อ.อภิรัชต์ชี้ว่า “เป็นสัญญาณที่ดี ถ้าไม่ดีผมไม่มาหรอก”

“ผมมีบทบาทหน้าที่ในด้านความมั่นคง ท่านมีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องรักษาและเป็นเสียงให้กับประชานที่เลือกท่านมา หลายท่านผมเห็นในทีวีหรือในสภาท่านดุเดือดวิจารณ์ดุเดือดมาก แต่วันนี้มาเจอก็คนละรูปแบบ ก็เช่นเดียวกัน ท่านก็บอกว่า ผมดูเหมือนดุ พอมาเจอจริงๆ ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย”

เบื้องต้น เห็นตรงกันเปิดตำแหน่งที่ปรึกษา กมธ.ให้คนจากกองทัพ เพื่อทำหน้าที่เป็นแมสเซนเจอร์ระหว่างกัน

เช่นเดียวกับ พล.ท.พงศกรที่บอกว่า “แฮปปี้กันทั้ง 2 ฝ่าย”

“ผบ.ทบ.ก็มีชุดความคิดของท่าน กมธ.ก็รับฟัง โดย 2 ฝ่ายได้อธิบายความในใจ เอาความจริงมาพูดกัน ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น เราทราบว่าท่านคิดอะไร และท่านก็ทราบว่าเราคิดอะไร”

ก่อนที่ พล.ท.พงศกรจะโพสต์สรุปข้อหารือทั้งหมด 12 ประเด็น

ไล่เรียงมาตั้งแต่ สงครามไฮบริด หรือสงครามลูกผสม ยาเสพติดตามแนวชายแดน อาชญากรรมไซเบอร์ เรื่องฮ่องกง การปฏิบัติการข่าวสารหรือ “ไอโอ” ของกองทัพ แนวทางการพูดคุยสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยหนทางการกำหนดใจตนเองด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีความที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเรื่องร้อนๆ จากการแจ้งความเอาผิดระหว่างพรรคฝ่ายค้าน กับกองทัพภาคที่ 4 จากเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรายงานว่า กมธ.สัดส่วนพรรคฝ่ายค้านได้ขอให้ พล.อ.อภิรัชต์ช่วยประสานแม่ทัพภาคที่ 4 ให้ถอนฟ้อง ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์รับปาก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องประนีประนอม

ที่สำคัญ กมธ.ได้ถามถึงกรณีการยึดอำนาจ คำตอบของ พล.อ.อภิรัชต์ได้ยืนยันว่า จะไม่แทรกแซงทางการเมือง

ในมุมของกรรมาธิการ การรับปากของ พล.อ.อภิรัชต์ ถือเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน

อีกทั้งเมื่อออกมานอกห้องยังสำทับด้วยการดับข่าวแซวเล่นๆ ของ พล.อ.ประวิตร ในการเชียร์นั่งนายกฯ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์

เพราะด้วย 2 สถานะ ทั้งยังรับราชการอยู่ ทั้งยังเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยตำแหน่ง ผบ.ทบ. จึงไม่สามารถเป็นไปได้อยู่แล้ว

“ผมเป็นเพื่อนกับนักการเมืองดีกว่า ผมไม่เล่นการเมือง ผมไม่เล่นกับนักการเมือง”

แน่นอนว่า บทบาทของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อประสานเข้ากับท่าทีของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ถือได้ว่า เป็นไปด้วยความสร้างสรรค์

เป็นความสร้างสรรค์ทางการเมืองในการแสวงหาจุดร่วม และสงวนจุดต่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองยุคเก่า จากยุคที่ฝ่ายการเมืองถูกกดให้สยบยอม มาเป็นการผ่อนปรนด้วยท่าทียอมรับและเข้าใจบทบาทของกันและกันมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนไทยอยากเห็นแน่นอน

แต่จะ “ลับ ลวง พราง” หรือไม่ คงต้องให้วันเวลาเป็นผู้พิสูจน์!