“เพื่อไทย” ถล่มไม่มีทิศทางสร้างรายได้-ช่วยคนรวย สส.ปชป.ติงอย่าโลกสวย มองศก.ดี

ถกงบ 63 วันที่ 2 “เพื่อไทย” ถล่มไม่มีทิศทางสร้างรายได้-ช่วยคนรวย จี้ ยุติแจกปลา –ไก่ ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ควรเอาเงิน 6 พันบาทแจกซื้อข้าวกินดีกว่า ขณะ “อดีตรมช.คลังปชป.” ติงรบ.โลกสวย มองเศรษฐกิจดีเกินไป ประเมินผิดพลาดซ้ำรอยยุค “บิ๊กจิ๋ว” แนะ เร่งใช้เงินค้างท่อ 10% อัดฉีดระบบศก.

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นวันที่ 2 โดยการอภิปรายเริ่มจาก นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย(พท.) อภิปรายว่า ขอให้รัฐบาลใช้งบประมาณส่วนงบลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะระบบชลประทานและสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และการลงทุนเพื่อเกิดกระบวนการสร้างรายได้ให้กับประชาชน เนื่องจากสภาวะสังคมโลกเปลี่ยนไป ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงตกงาน ทั้งนี้ ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ฯ วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ไม่มีทิศทางชัดเจนในการสร้างรายได้ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ดังนั้นขอให้ปรับปรุงและนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

ขณะที่นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณ เหมือนช่วยคนรวย ขณะที่เกษตรกรไม่ได้รับความช่วยเหลือ รัฐบาลมีนโยบายจะแจกปลาและไก่ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสาน ตนขอให้ยุติเพราะไม่เกิดประโยชน์ ควรแจกเงิน 6,000 บาทให้เกษตรกรซื้อข้าวบริโภคดีกว่า นอกจากนั้นควรส่งเสริมการปลูกพืช ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร คือปลูกพืชปลอดภัย ปลอดสารเคมี ขายให้ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสามารถขายได้ไร่ละ 1 แสนบาท และปลูกดอกดาวเรือง รวมถึงสนับสนุนการเลี้ยงวัว เป็นต้น

ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายว่า ตัวเลขรายได้ที่รัฐบาลให้มานั้นเห็นว่าดีเกินไป เพราะข้อมูลที่ตนได้รับมาชี้ให้เห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ของปีนี้อยู่ในช่วงถดถ้อย โดยกรมสรรพสามิตก็บอกว่าการจัดเก็บรายได้เริ่มชะลอตัว ดังนั้นรัฐบาลมองเศรษฐกิจดีเกินไป ซึ่งจะทำให้การประเมินสภาวะการทำนโยบายผิดพลาด เหมือนกับ 20 ปีก่อนที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ เลยตั้งเป้าเก็บรายได้ให้มากขึ้น แต่ความจริงเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ต้นปี 2540 แล้ว

นายพิสิฐ กล่าวอีกว่า การที่บอกว่ารัฐบาลมองเศรษฐกิจดีเกินไป ไม่ใช่หมายถึงว่าจะต้องไปเก็บภาษีมากขึ้น เข้าใจดีว่าในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ รัฐบาลต้องยอมที่จะให้ขาดดุลมากขึ้น จากที่รัฐบาลตั้งรายได้ไว้ที่ 2.7 ล้านล้านบาท น่าจะหายไปแสนล้านบาท หรือหมายความว่ารายได้หายไปและขาดดุลมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็นไม่ใช่การขึ้นภาษี แต่ต้องเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ เท่าที่ตรวจสอบจากงบประมาณโดยสังเขป เราจะตกใจกับตัวเลขงบประมาณปี 2561 มีการทิ้งวงเงิน 3.34 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบจากการที่ระบบการคลังทิ้งวงเงินงบประมาณดังกล่าว ทำให้ธุรกิจที่ทำกับภาครัฐเกิดความเดือดร้อน ขณะเดียวกัน เราทราบดีว่างบประมาณรายจ่ายปี 2563 ทำล่าช้าถึง 4 เดือน ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และทราบจากสำนักงบประมาณว่าปกติ 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ จะมีการจ่ายให้กับโครงการใหม่ประเมิน 4 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งหมายความว่า 4 หมื่นกว่าล้านบาทได้หายไป ดังนั้น รัฐบาลต้องเบิกจ่ายงบเข้าระบบ

“ขณะนี้รัฐบาลมีเงินค้างท่ออยู่ประมาณ 1.003 ล้านล้านบาท หรือหมายถึง 1 ใน 3 ของงบประมาณปี 2563 ที่เสนออยู่ในขณะนี้ ยังไม่ได้ใช้จ่าย ซึ่งความจริงรัฐบาลมีอำนาจใช้อยู่แล้ว ดังนั้นอยากเสนอรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หันมาดูงบค้างท่อซึ่งเป็นงบผูกพันที่ตรวจสอบมาอย่างดีและผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้วทั้งสิ้น และบางส่วนได้รับเงินมาเรียบร้อยแต่กันไว้ หากเร่งเบิกจ่ายส่วนนี้เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเงินแสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับที่บอกไปตอนต้นว่ารายได้จะหายไปแสนล้านบาท หากอัดฉีดเงินเข้าระบบ 1-2 แสนล้านบาท ภายใน 3-4 เดือนนี้ จะเยียวยาให้เศรษฐกิจไทยไม่ลื่นไถลเข้าสู่ช่วงถดถอยมากขึ้น” อดีตรมช.คลัง กล่าว

นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า จากเอกสารงบประมาณ พบว่าเงินคงคลังเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 มีอยู่ถึง 5.2 แสนล้านบาท ถามว่าทำไมรัฐบาลต้องเก็บไว้จำนวนมากขนาดนี้ ถ้าคิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 2 เปอร์เซ็นต์เท่ากับเป็นเงินหมื่นล้านบาท ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เงินคงคลัง ถามว่าทำเพื่ออะไร และเป็นการเสียเงินภาษีอากรของพวกเราโดยใช่เหตุ ดังนั้นถ้าเกิดยอมให้ขาดดุลมากขึ้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม ไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม เพียงแค่ลดเงินคงคลังให้เหลือ 3 แสนล้านบาทก็พอ จึงขอให้รัฐบาลได้โปรดช่วยดูแลระบบการคลัง เพราะขณะนี้ความเดือดร้อนของภาคเศรษฐกิจมีจริง แต่ไม่ใช่กับประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทั่วโลก นอกจากนี้ ยังอยากให้ดูแลเรื่องระบบการทำงานของรัฐบาล หรือสำนักงบประมาณ ในการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากได้รับข้อมูลจากการประชุมกรรมาธิการ(กมธ.) ว่าเวลากระทรวงหลักเบิกจ่าย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ มหาดไทย ยุติธรรม เป็นต้น จะได้รับ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นกระทรวงใหม่ๆ จะเบิกจ่ายได้เพียง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นการจัดสรรแบบเดิมๆ ทำให้เราไม่ได้ประโยชน์จากกระทรวงใหม่ๆ เพราะได้รับการตอบรับไม่ถึงครึ่ง แต่กระทรวงเดิมได้รับเต็ม ฉะนั้นต้องคิดใหม่ ต้องปรับปรุงระบบราชการ