“ดีป้า” โต้เดือดปมใช้งบไม่เหมาะสม ยันทุกโครงการโปร่งใส มีตัวชี้วัดชัด

เมื่อวานนี้ (17 ตุลาคม 2562) อาคารดีป้า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร – กรณีที่มีกระแสข่าว พาดพิงถึงการใช้งบประมาณ 410 ล้านบาท ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ว่าเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมนั้น ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า ชี้แจงว่า งบดังกล่าว เป็นการก่อสร้างอาคาร World Expo ตามแผนดำเนินงาน มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ที่ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ใช่งบการเดินทาง หรือ โรดโชว์ ตามที่เผยแพร่ผ่านสื่อ โดยงบก่อสร้างนี้ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เอาเข้าคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2561 และได้ปรับลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง จากที่เคยใช้ในการจัดงาน World Expo วงเงิน 320,000 บาท ต่อตารางเมตร ตามที่ประเทศไทยเคยจัดเมื่อ 5 ปีก่อน เหลือเพียง 245,000 บาท ต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณการลงทุนในเวทีโลกที่มีมากกว่า 120 ประเทศเข้าร่วม แต่ครั้งนี้ได้จัดขึ้นที่ นครดูไบ ซึ่งมีค่าครองชีพ ค่าใช้จ่าย และอัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อ แตกต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อนเป็นอย่างมาก ดังนั้นการดูงบประมาณ ควรดูให้ถูกต้อง เพราะถ้าดูไม่ถูกต้อง จะมาบริหารประเทศไทยก็คงจะผิดพลาด เพราะเจ้าหน้าที่ระดับต้น ยังอ่านออกว่างบ World Expo เป็นงบลงทุน

ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นตัวชี้วัด 300 ล้านบาทนั้น ขอชี้แจง ดังนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีภารกิจในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลเริ่มต้น ให้เกิดการลงทุน และพัฒนาธุรกิจ โดยงบรายจ่ายประจำปี 2563 กำหนด ให้เกิดการลงทุน ซึ่งดีป้า เข้าไปเป็น Angle VC รับความเสี่ยงให้วิสาหกิจเริ่มต้นได้มีโอกาส โดยตั้งเป้าหมาย 30 ราย รายละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งแต่ละราย มีตัวชี้วัดให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง รายละ 10 ล้านบาท รวมทั้งหมด 300 ล้านบาท คาดว่าในอนาคต จะมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง ปีละกว่าร้อยละ 10 และหลังจากปีที่ 3 จะเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งตัวชี้วัด กับกิจกรรมตามแผนงาน อย่าเอาไปโยงกับ World Expo ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน

ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าวทิ้งท้ายว่า การก่อสร้างอาคารประเทศไทย ใน World Expo ตัวชี้วัด ไม่มีในผลลัพธ์ แต่มีตัวชี้วัดในแผนงาน และการก่อสร้างเสร็จปีงบประมาณรายจ่าย 2564 ช่วงเดือนตุลาคม และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีการจัดงานโดย 10 กระทรวงที่ร่วมกัน พร้อมคนไทยใน นครดูไบ โดยตั้งเป้าตลอดการจัดงาน 6 เดือน (ต.ค.2563 – มี.ค.2564) จะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 หรือ 2.5 ล้านคน จากผู้เข้าชมงานทั้งหมด 25 ล้านคนตามที่เจ้าภาพกำหนด โดยดีป้า คาดว่าจากจำนวนผู้เข้าชม 2.5 ล้านคน ร้อยละ 25 จะมาเที่ยว ประเทศไทย หรือ ประมาณ 625,000 คน ซึ่งแต่ละคนที่มาประเทศไทย จะใช้จ่ายวันละ 50 ดอลลาร์ต่อวัน หรือใช้จ่ายขั้นต่ำ 1,250 บาทต่อวัน และอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 3 วัน ทำให้เกิดการใช้จ่ายมากกว่า 2,340 ล้านบาท

“ถ้าจะถามถึงผลกระทบ ทางกระทรวงดีอีเอส และดีป้า ได้พิจารณาอย่างรอบครอบ และจะวัดการดำเนินงานในปีที่มีการเปิดอาคาร คือในปี 2564 ไม่ใช่ ปี 2563 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มากกว่านี้ เรายังได้เอา พระอัจฉริยะภาพ ของ พระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ที่ได้พัฒนาประเทศไทย จนเรามีแผ่นดินที่คนไทยมี รอยยิ้ม มีความสุข อยู่ถึงทุกวันนี้ ไปเผยแพร่ ต่อสายตา นานาชาติ กว่า 2.5 ล้านคน รวมทั้งยังได้เอา ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม รากเหง้าความรักชาติ และเทคโนโลยีของเด็กไทย ไปแสดงสร้างความภาคภูมิใจให้คนไทย ขอย้ำว่าในส่วนของผลลัพธ์ การดำเนินการส่งเสริม ได้เขียนไว้ ชัด 2,000 ล้านบาท ทางตรง และจะก่อให้เกิดการบริโภค การลงทุนต่อเนื่องอีก 3 รอบ ในระบบเศรษฐกิจ หรือกว่า 6,000 ล้านบาท” ดร.ณัฐพล กล่าว