วิเคราะห์ : เมื่อแบงก์ชาติออสซี่-ไทยออกมาเตือน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ธนาคารกลางแห่งออสเตรเลีย หรืออาร์บีเอ (Reserve Bank of Australia) จัดทำรายงานว่าด้วยความมั่นคงทางการเงินฉบับล่าสุดออกเผยแพร่เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีผลกระทบต่อการลงทุนและสถาบันการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ในขณะนี้ยังไม่ยกระดับถึงขั้นคุกคามกับความมั่นคงทางการเงินก็ตาม

แต่ถ้าปล่อยให้สถานการณ์ไหลไปโดยไม่มีการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเข้มงวด ระบบการเงินของออสเตรเลียจะตกอยู่ในความเสี่ยง

อาร์บีเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานพิมพ์ธนบัตรของออสเตรเลีย เทียบกับบ้านเราก็คือแบงก์ชาติ ระบุว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมาเกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่มีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน เช่น ภัยแล้ง หรือไฟป่า ส่งผลกระทบโดยตรงกับสถาบันประกันภัยต้องปรับปรุงค่าธรรมเนียมการประกันภัย เพิ่มค่าประกันสินค้า

ราคาทรัพย์สินหรือที่ดินในพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยพิบัติจะลดต่ำลงในบริเวณที่เกิดไฟป่าบ่อย น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือชายฝั่งที่มีการทรุดตัว

ภาวะโลกร้อนยังส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจประเภทต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว เกษตรกรรม และธุรกิจบริการอื่นๆ

ส่วนธนาคารหรือสถาบันเงินกู้ มีผลกระทบจากภาวะโลกร้อนไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้าประสบภัยพิบัติ การกู้ยืม ผ่อนชำระหนี้หรือฝากเงินก็ปั่นป่วนไปด้วย

ในทางกลับกัน สถาบันการเงินของออสเตรเลียจะหันไปให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก

นอกจากนี้แล้ว สถาบันการเงินออสเตรเลียยังได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะ โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนเพื่อให้เกิดความแม่นยำ เพราะหากประเมินพลาด โอกาสจะเกิดความเสียหาย ลูกค้าไม่เชื่อถือและถอนการลงทุนในที่สุด

นั่นเป็นความเคลื่อนไหวของอาร์บีเอซึ่งเป็นสถาบันหลักทางการเงินออสเตรเลีย

 

หันกลับมาดูบ้านเรา ผู้บริหารทางการเงินระดับสูงของประเทศ ได้แก่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยออกมาเตือนเรื่องโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าในอนาคตจะเป็นเรื่องรุนแรง

ดร.วิรไทบอกว่า สภาพปัญหานั้นจะไม่จำกัดอยู่เพียงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลแล้วจางหาย แต่โลกร้อนอาจทำให้บางอุตสาหกรรมล้มหายตายจาก หรือเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ในพืช ปศุสัตว์

ดร.วิรไทได้ให้คำแนะนำว่า ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลในความหมายกว้างด้วย คือต้องให้ความสำคัญกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพื่อให้ประเทศไทยและสังคมโลกเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ธุรกิจจะต้องชนะไปพร้อมกับสังคมวัฒนา

ผู้ว่าการแบงก์ชาติยังยกตัวอย่างไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 85 ราย และไฟเผาผลาญกินพื้นที่กว่า 600 ตารางกิโลเมตร

ต้นเหตุไฟป่าครั้งนั้นมีการตั้งข้อสงสัยว่า น่าจะมาจากบริษัทแปซิฟิก ก๊าซ แอนด์ อิเล็กทริก ที่ปล่อยปละละเลยมาตรการปลอดภัย เช่น การจัดการต้นไม้ตามแนวสายไฟฟ้า

การสร้างสถานีตรวจจับสภาพอากาศและไม่บำรุงรักษาอุปกรณ์ตามเวลาที่เหมาะสม

ผลของการทำธุรกิจอย่างประมาทและมองแค่กำไรระยะสั้นนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และยังส่งผลเลวร้ายย้อนกลับมาทิ่มแทงบริษัท เนื่องจากถูกยื่นฟ้องล้มละลายและเหยื่อผู้เสียหายรวมตัวเรียกค่าเสียหายมากถึง 8,400 ล้านเหรียญ

ดร.วิรไทชี้อีกว่า การทำธุรกิจในประเทศไทยที่ไม่ได้คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและรุนแรง เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ในด้านสังคม

ปี 2560 สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก

คนไทยที่รวยที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศ มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนจนที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศถึง 19 เท่า

กลุ่มผู้ถือครองที่ดินสูงสุดร้อยละ 10 ถือครองที่ดินกว่าร้อยละ 61.5 ของประเทศ ในขณะที่กลุ่มผู้ถือครองที่ดินน้อยที่สุดร้อยละ 10 ถือครองเพียงร้อยละ 0.07 เท่านั้น

คนไทยอีกจำนวนมาก “ติดกับดักหนี้” ระดับหนี้ครัวเรือนสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน

ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 78.7

 

ผู้ว่าการแบงก์ชาติสรุปไว้ในการปาฐกถาให้กับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จะต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มองกว้างและมองไกล ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลที่ดีภายในองค์กรและธรรมาภิบาลในความหมายกว้างที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

ในทางกลับกัน บริษัทใดที่ละเลยเรื่องเหล่านี้ นอกจากจะสร้างปัญหาต่อสังคม สิ่งแวดล้อม สร้างความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและฐานะการเงินของบริษัทแล้ว ยังจะต้องคอยวิ่งไล่ตามเมื่อมีกฎเกณฑ์การกำกับดูแลหรือมาตรฐานทางสังคมใหม่ๆ ออกมา และอาจเกิดผลกระทบกับความยั่งยืนของธุรกิจได้

ในวันนี้ ระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่ส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนพัฒนาไปไกลมาก ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ประโยชน์ในหลายมิติ ตั้งแต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ไปจนถึงการดึงดูดบุคลากรรุ่นใหม่

บริษัทที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจะมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากกว่าบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังมากขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทที่มีโอกาสสร้างผลข้างเคียงให้แก่สิ่งแวดล้อมและสังคม ผลข้างเคียงเหล่านี้อาจทำให้โครงการไปต่อไม่ได้ กลายเป็นความเสี่ยงด้านเครดิตของสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ช่องทางระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น

เงินลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (sustainable, responsible, and impact investing) หรือ SRI มีมูลค่ามากกว่า 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 8.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 เพราะงานศึกษาหลายชิ้นแสดงผลชัดเจนว่าการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าการลงทุนในบริษัททั่วไป

มุมมองของผู้ว่าการแบงก์ชาติของบ้านเรากับแบงก์ชาติออสเตรเลียเป็นไปในทางเดียวกัน