มุกดา สุวรรณชาติ : …เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย…

มุกดา สุวรรณชาติ

ถึงเวลาที่ต้องช่วยกันปรับปรุงระบบยุติธรรม

การที่ผู้พิพากษาท่านหนึ่งมีความอึดอัดถึงขั้นประท้วงด้วยการยิงตัวเองด้วยอาวุธปืน นั่นเป็นภาพสะท้อนที่ปรากฏชัด ว่าในกระบวนการยุติธรรมบ้านเรามีปัญหาแน่

นึกว่ามีแต่ประชาชนที่อึดอัด เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนต่างมองเห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรม

ตั้งแต่การร่างกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญจนถึงการใช้ระบบยุติธรรมในการจัดการแก้ไขคดีความต่างๆ ซึ่งหลายคดีไม่ตรงกับความรู้สึกของประชาชน หรือไม่เข้าใจเหตุผลในการตัดสิน

ปัญหาความยุติธรรมเกิดจากระบบและคนของเราเอง ปัญญาชน สื่อมวลชน และคนที่มีฐานะนำในสังคม ส่วนใหญ่ก็เพิกเฉย หรือไปหาประโยชน์ร่วม

ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยุติธรรม ตั้งแต่นักศึกษา กฎหมาย และการเมือง จนถึงข้าราชการ ไปถึงขั้นอัยการ ศาล หาคนที่จะคัดค้านและต่อสู้ เพื่อหลักกฎหมายที่ถูกต้องน้อยเต็มที

นี่จึงเป็นเรื่องที่ทั้งนักการเมือง ผู้มีความรู้ทางกฎหมาย ผู้ใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรม ต้องรวมหัวมาช่วยกันแก้ไข ถ้ายังนิ่งเฉยกันอยู่ บ้านเมืองของเราจะตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า…

…เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย…

 

ความยุติธรรมไม่ได้เกิดมาคู่กับโลกนี้ ตามธรรมชาติสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงจะครอบครองหรือกินสิ่งที่อ่อนแอกว่า ความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นเพื่อหวังจะถ่วงดุลกับการใช้กำลังและอำนาจที่เหนือกว่า แต่ความยุติธรรมที่คนสร้าง มักไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ที่มุ่งหวัง แต่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ของสังคมในช่วงระยะเวลานั้นๆ

ถ้าประชาชนมีอำนาจ เสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตยจะสูง ความยุติธรรมมีมาก แต่ถ้าอำนาจไปรวมศูนย์ที่บางคน บางกลุ่ม กฎหมายจึงเขียนขึ้นตามความต้องการของผู้มีอำนาจ

ขณะนี้ความงุนงงสับสนของประชาชน ทำให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมีลักษณะเปรียบเทียบคดีต่างๆ เช่น

1. กรณีนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ถูกปลดจากตำแหน่งเพราะสอนทำอาหารออกทีวี แต่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายไม่มีบทลงโทษ แต่จะยังปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่

2. คดีผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ขับรถไล่ชนตำรวจบาดเจ็บ 5 นาย

เรื่องเกิดเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยขับรถกระบะไล่ชนตำรวจบาดเจ็บ 5 นาย ศาลพิพากษาว่า จำเลยพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยบันดาลโทสะ ลงโทษจำคุก 3 ปี รอลงอาญาไว้ 2 ปี

ศาลอุทธรณ์ได้มีการพิจารณา ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลชั้นต้น จึงพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานมั่วสุมลงโทษจำคุก 1 ปี ทางนำสืบเป็นประโยชน์คงลดโทษ 1 ใน 3 คงรับโทษจำคุก 34 ปี

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้ ให้จำคุกนายปรีชา 4 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้จำคุกในความผิดฐานมั่วสุม 8 เดือน รวมโทษจำคุกนายปรีชา 2 ปี 16 เดือน

3. คดียึดทำเนียบรัฐบาล

การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ทำให้รัฐบาลนายกฯ สมัครไม่สามารถเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีภายในทำเนียบรัฐบาลได้ จวบจนสมัยของรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ต่อมา ศาลแพ่งได้มีคำสั่งชั่วคราวให้กลุ่มพันธมิตรฯ รื้อถอนเวทีปราศรัยและสิ่งกีดขวางอื่นๆ ออกจากทำเนียบรัฐบาล และเปิดถนนพิษณุโลก ถนนราชดำเนินทุกช่องการจราจร แต่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ออกและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมต่อไป รวมกว่า 3 เดือน

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกคนละ 3 ปี แต่ลดโทษเหลือคนละ 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุกคนละ 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้คนละ 8 เดือน ไม่รอการลงโทษ ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์

ถ้ามองผลทางการเมืองถือว่าคุ้มเพราะรัฐบาลล้มจริง

4. คดีแกนนำเสื้อแดงบุกโรงแรมที่ประชุมอาเซียน พัทยา

ศาลจังหวัดพัทยาได้ตัดสินจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา 15 แกนนำเสื้อแดง กรณีเป็นแกนนำพากลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก 4 ปี นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง กับพวกรวม 12 คน เป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา

5. คดีพันธมิตรฯ ปิดล้อมรัฐสภา ไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบาย

ศาลอาญายกฟ้อง 21 แกนนำ

ตอนนี้มีคนถามกันว่า แล้วคดีที่ นปช.บุกไปหน้าบ้านป๋าเปรม จะโดนลงโทษแบบไหน แบบยึดทำเนียบ แบบบุกพัทยา หรือแบบล้อมรัฐสภา

6. คดีขัดขวางการเลือกตั้ง ไม่มีแกนนำถูกฟ้อง

คดีนี้ฟ้องนายนวการ ขอนศรี และนายประเสริฐ ด้วงทิพย์ 2 แนวร่วม กปปส. เป็นจำเลยในข้อหาขัดขวางผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการลงคะแนน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง กรณียกพวกไปปิดล้อมสำนักงานเขตดินแดงเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมของ กปปส.เป็นการชุมนุมโดยสิทธิเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 5 ปี

วันขึ้นศาลฎีกา นายนวการ จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ และมีนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. เดินทางมาให้กำลังใจด้วย ขณะที่นายประเสริฐ จำเลยที่ 2 หลบหนี พิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา

7. คดีบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ปี 2551 เริ่มสอบพยานแล้วปี 2562

คดีแพ่ง 25 มีนาคม 2554 บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำเลยที่ 1-13 เรื่องละเมิด ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย กรณีที่ร่วมกันนำผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ หลายหมื่นคน ไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง

…การกระทำของจำเลยทั้ง 13 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามมูลค่าความเสียหาย…คำนวณความเสียหายของสนามบินทั้งสองแห่งแล้วเป็นเงิน 522,160,947.31 บาท ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ส่วนคดีอาญา ยึดสนามบิน พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม. กับพวกแนวร่วม พธม. รวม 98 คน เริ่มสืบพยานพฤษภาคม 2562 ตอนนี้ก็เกิน 10 ปีแล้ว คิดว่าอีกกี่ปีจะตัดสิน

8. คดี กปปส.

จะพิจารณาคดีทั้งหมดเป็นสำนวนเดียวกัน โดยอัยการจะนำสืบพยานบุคคลสืบรวม 891 ปาก

ส่วนจำเลยขอนำพยานบุคคลเข้าสืบมากกว่า 300 ปาก

แต่ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้อัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบจำนวน 80 ปาก ใช้เวลา 30 นัด และพยานจำเลยจำนวน 100 ปาก ใช้เวลา 30 นัด

คู่ความตกลงแล้ว คงอีกนาน

9. สลายการชุมนุม 2553 จะไปฟ้องศาลไหน?

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัว แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสอบสวนเพื่อเอาโทษแก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ศาลอาญาจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจรับคดีทั้งสองสำนวนไว้พิจารณา อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

10. ความสงสัยของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ต่อกรณีฟ้องแรมโบ้ (สุภรณ์) ไม่ทัน

“ผม คุณวีระกานต์ นพ.เหวง เป็นผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ คุณอดิศร พรรคเพื่อไทย คุณจตุพร เป็นกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ส่วนคุณสุภรณ์ ย้ายจากพรรคเพื่อไทยไปเป็นผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ มีข้อแตกต่างกันทางคดีอย่างไรหรือไม่”

“ยิ่งเห็นกรณีคุณอุตตม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่เกี่ยวข้องกับคดีเงินกู้ธนาคารกรุงไทย แต่ไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีเหมือนกรรมการคนอื่นๆ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ สังคมใดที่กระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ ได้ จะพูดถึงประชาธิปไตยและสันติสุขของประชาชนในมิติไหน”

คุณณัฐวุฒิเพียงแต่สังเวชใจกับคำว่าอภินิหารทางกฎหมาย และปาฏิหาริย์แห่งหลักนิติธรรมที่เกิดขึ้นเท่านั้น

11. มาดูคดีเล็กๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพที่คนธรรมดาต้องพบเจอ

คดีส่องแสงหากลโกง ราชภักดิ์

25 มกราคม 2560 ธเนตร อนันตวงษ์ หรือ ตูน จำเลยคดีร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ถูกอัยการศาลทหารฟ้องในข้อหาชุมนุมการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ธเนตรให้การรับสารภาพในชั้นศาล ตุลาการศาลทหารพิพากษาให้จำคุกจำเลย 6 เดือน โดยมีการเพิ่มโทษ จากการที่จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาในคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำให้เสียทรัพย์ แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดเหลือ 4 เดือน

คดีเปิดศูนย์ปราบโกงบ้านโป่ง สั่งเพิ่มข้อหา-ใครเข้าปรับทัศนคติ คดีจบ

มีชาวบ้าน 17 คน พร้อมด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่ ไม่ยอมรับ และไม่สมัครใจที่จะเข้าโครงการอบรมเพื่อการพัฒนา พร้อมทั้งยืนยันที่จะสู้คดีต่อไป

นี่ยังไม่นับคดีเล็กคดีน้อยที่ถูกจับหลังการรัฐประหาร 2557 เช่น ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ชู 3 นิ้วมายืนประท้วง กินไอติม ชูป้ายประท้วง ตั้งศูนย์ปราบโกง แจกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเสียร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติ บางอันก็ไม่เป็นคดีแต่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

การดำเนินคดีเล็กๆ กับมวลชนไม่น่าทำ เพราะถ้าใช้หลักการนี้ มวลชนที่เข้าไปยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ก็ต้องโดนข้อหาหนัก

12. ความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เข้าใจง่ายๆ ก็คือข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งข้อนี้ถูกนำมาใช้ปรามผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาล ไม่ให้เคลื่อนไหวได้ เช่นกรณีคุณจาตุรนต์ แถลงต่อนักข่าวต่างประเทศเมื่อนานมาแล้ว ก็ถูกจับ คดียังคาอยู่ โดนข้อหามาตรา 116 นี่แหละ และล่าสุดที่เห็นก็คือกรณี 7 พรรคฝ่ายค้านรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถูกฟ้องในข้อหานี้ ที่ผ่านมายังไม่เห็นมีใครฟ้องกลับ เพิ่งจะมีกรณีนี้หลายคนเห็นว่าการฟ้องกลับน่าจะเป็นมาตรการที่ดีพอสมควรเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการอ้างข้อหานี้ฟ้องบุคคลต่างๆ พร่ำเพรื่อ

แม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี แต่ผู้ชนะและมีอำนาจจะยังคงเป็นผู้กำหนดกฎและวิธีปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม

ถ้าโครงสร้างอำนาจไม่เปลี่ยน ต่อให้คดีใหญ่แค่ไหน เช่น คนตายใน 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519

พฤษภาทมิฬ 2535 หรือเมษายน- พฤษภาคม 2553 ผู้เกี่ยวข้องจะไม่มีความผิด เพราะเขามีอำนาจ