ศัลยา ประชาชาติ “เจ้าสัวธนินท์” เดิมพัน 2 แสนล้าน นับถอยหลังเซ็นสัญญา “ไฮสปีดอีอีซี” “บิ๊กตู่” สั่ง 3 กระทรวงเคลียร์พื้นที่รับ

พลันที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดประเด็นด้วยตัวเองในระหว่างการสนทนาพิเศษเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่ารัฐต้องร่วมเสี่ยงกับเอกชน โครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544 ล้านบาท จึงจะประสบความสำเร็จ

“โครงการนี้มีความเสี่ยง แต่ก็มีโอกาสจะสำเร็จ ถ้ารัฐมีความเข้าใจ โครงการนี้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศแท้ๆ แต่ทีโออาร์ที่ออกมาไม่ใช่ เอกชนต้องแบกรับภาระทุกอย่างฝ่ายเดียว ทั้งที่เป็นการร่วมทุน PPP ระหว่างเอกชนและรัฐบาล รัฐจึงต้องร่วมรับผิดชอบ เสี่ยงร่วมกัน เหมือนเป็นคู่ชีวิตกัน”

“ถ้าล่มก็ล่มด้วยกัน ถ้าสำเร็จก็สำเร็จด้วยกัน”

 

ท่าทีที่ปรากฏออกมาเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังเผชิญกับแรงกดดันรวมและปัญหาบางอย่าง ทำให้ยากที่จะเดินหน้าโครงการให้ไปต่อ และทันเวลาเดดไลน์เซ็นสัญญาวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนด

อีกนัยหนึ่ง อาจจะสื่อไปถึง 2 รัฐมนตรี ว่าอย่าเอาเงื่อนเวลามาเป็นเกมบีบคั้นให้เอกชนเดินเข้าสู่วงจรการเมือง

เพราะการเซ็นสัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “รัฐ-เอกชน” พร้อมจะจรดปากกาทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถึงขณะนี้แต่ละฝ่ายยังมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาหรือขออนุมัติอีกมาก

โดยกลุ่มซีพีและพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กำลังเตรียมเอกสารอย่างขะมักเขม้นเพื่อให้ทันภายในเดือนตุลาคมนี้

ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดูเหมือนจะพร้อม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังต้องรอคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติก่อนจึงจะเซ็นสัญญาได้

แต่เนื่องจากปัจจุบันบอร์ดรถไฟฯ ชุดเดิมลาออกยกชุด ทำให้การเซ็นสัญญาสะดุด ต้องเลื่อนจากเดดไลน์เดิมวันที่ 15 ตุลาคม เป็น 25 ตุลาคม 2562

แถมมีกระแสข่าวลือในทำนองเบื้องหลังบอร์ดพร้อมใจลาออก เพราะไม่อยากจะเซ็นอนุมัติโครงการ นอกจากนี้ ยังทิ้งมติแนบท้ายให้ ร.ฟ.ท.เคลียร์ข้อกฎหมายให้ชัดว่าจะใช้ระเบียบไหนพิจารณาก่อนเสนอขออนุมัติเซ็นสัญญา

ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ต้องเลื่อนกำหนดเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพีเป็นวันที่ 25 ตุลาคม 2562 เนื่องจากบอร์ด ร.ฟ.ท.ลาออก และพบว่ายังไม่ได้มีการประชุมในเรื่องนี้ จึงต้องรอแต่งตั้งบอร์ดใหม่ จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวันที่ 15 ตุลาคมนี้

“คณะกรรมการคัดเลือกประชุมและทำหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มซีพีให้มาเซ็นสัญญาภายในวันที่ 25 ตุลาคมแล้ว หากไม่มาต้องทำตามทีโออาร์ริบเงินประกันซอง 2,000 ล้านบาท และขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ละทิ้งงานรัฐ”

ด้านนายอนุทินกล่าวว่า ต้องเร่งดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จก่อนครบกำหนดยืนราคาวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ เพราะถ้าพ้นจากนี้จะเสียหาย แต่หากไม่สามารถมาลงนามได้และไม่ทันกรอบเวลา ทาง ร.ฟ.ท.สามารถส่งหนังสือขยายเวลายืนราคาได้ แต่เมื่อขยายแล้ว จะริบเงินประกันซองไม่ได้

“ไม่ใช่เร่งเอกชนฝ่ายเดียว แต่ได้บอกกับรัฐด้วยว่าได้ทำอะไรที่ต้องทำแล้วหรือไม่ ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเข้ามากลั่นแกล้งเอกชน มีแต่เรียกให้มาเซ็นสัญญา ถ้าทุกฝ่ายทำตามทีโออาร์ จะไม่มีคำถามพวกนี้ แล้วเอกชนเองก็ไม่ควรมาขออะไรนอกทีโออาร์ ควรเห็นใจรัฐด้วย” นายอนุทินย้ำ

 

นอกจากความเคลื่อนไหวของคู่ดูโอ้พรรคภูมิใจไทยที่แอ๊กชั่นตลอดหลายวันที่ผ่านมาแล้ว ในส่วนคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีขุนคลัง “อุตตม สาวนายน” เป็นประธาน ให้เร่งเคลียร์ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มซีพีภายใน 1 ปี หลังเอกชนนำประเด็นนี้มาเป็นข้อต่อรองต้องได้พื้นที่ 100% และทำเป็นสัญญาแนบท้าย จึงจะเซ็นสัญญา

มี 3 กระทรวงเป็นเจ้าภาพ โดยกระทรวงพลังงานต้องเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 ก.ม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด มหาดไทยเร่งรัดการย้ายท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 จุด ย้ายเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงยาว 14 ก.ม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 39 จุด ย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 ก.ม. และกระทรวงคมนาคม โดย ร.ฟ.ท.ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อน้ำมันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 ก.ม. รวมทั้งเร่งรัด พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน 850 ไร่

ซึ่งดูแล้วไม่ง่ายที่จะเนรมิตแปลงที่ดินที่เต็มไปด้วยผู้บุกรุก ระบบสาธารณูปโภคระโยงระยางทั้งบนดิน ใต้ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ตามที่บอร์ดอีอีซีสั่งการ

และคงเป็นไปไม่ได้ที่คณะกรรมการคัดเลือกจะนำเงื่อนเวลา 1 ปีมาเป็นข้อผูกมัดแนบท้ายในสัญญา

เพราะหากรัฐผิดสัญญา ส่งพื้นที่ไม่ทันกำหนด จะเสียค่าโง่โดยปริยาย

ด้วยกายภาพและทางเทคนิค โดยเฉพาะสารพัดท่อที่อยู่ใต้ดินทั้งที่มองเห็น มองไม่เห็น ต้องใช้เวลารื้อย้ายมากที่สุด 3 ปี เพราะกว่าจะสำรวจ ออกแบบ ของบประมาณ เปิดประมูลและก่อสร้าง ก็กินเวลา 1 ปีแล้ว

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ประชุมกับ บมจ.ปตท. และ กฟผ. เตรียมจะดำเนินการย้ายท่อก๊าซ สายไฟที่อยู่ในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแล้ว

ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานที่ประชุม กล่าวว่า ในการหารือเบื้องต้น การย้ายท่อ สายไฟต่างๆ ตามสัญญาของโครงการ ได้กำหนดว่างบประมาณการรื้อย้ายต้องเป็นส่วนของเจ้าของหน่วยงาน คือใช้งบฯ ของ ปตท. และ กฟผ.

อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลเรื่องแนวทับซ้อนของท่อก๊าซบางช่วง ที่ยังต้องส่งจ่าย และไม่สามารถหยุดส่งจ่ายได้ กำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไร มีเส้นทางอื่นพอจะหลีกเลี่ยงเส้นทางทับซ้อนได้หรือไม่ จะเร่งสรุปผลให้บอร์ดอีอีซีรับทราบต่อไป

 

ทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด ณ เวลานี้คือ กลุ่มซีพีต้องยอมรับกับสภาพพื้นที่ที่รัฐพร้อมส่งมอบให้เพียง 72% ที่มีสภาพแบบฟันหลอ พร้อมตรงไหนก็เข้าพื้นที่เปิดไซต์งาน โดยเซ็นสัญญาไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ปัญหาภายหลัง

จากข้อมูล ร.ฟ.ท. ทั้งโครงการจะใช้พื้นที่ก่อสร้าง 3,571 ไร่ รวมเวนคืนอีก 850 ไร่ เป็น 4,421 ไร่ พร้อมส่งมอบ 3,151 ไร่ ยังมีพื้นที่ที่มีอุปสรรค 2 ส่วนคือ ที่บุกรุก 210 ไร่ มีผู้บุกรุก 513 ราย พื้นที่เช่า 83 สัญญา 210 ไร่ ส่วนสถานีมักกะสันส่งมอบได้ 100 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ คาดใช้เวลาส่งมอบพื้นที่ใน 1-2 ปี

ในทางกลับกัน รัฐก็เว้นช่วงให้เริ่มต้นนับสัญญาได้ในอีก 1 ปี เพื่อให้กลุ่มซีพีและ ร.ฟ.ท.มีเวลาเคลียร์เวนคืน รื้อย้าย แบบรายละเอียดก่อสร้างให้เสร็จ ก่อนลุยก่อสร้าง 5 ปี

แม้ยืนยันหนักแน่นว่าพร้อมเซ็นสัญญาไฮสปีดอีอีซี แต่ก็คงต้องวัดใจ “เจ้าสัวซีพี” ว่าจะยอมกัดฟันยอมรับข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่เห็นพ้องต้องกัน 100% เพื่อเซ็นสัญญาเดินหน้าพัฒนาโครงการระดับชาติได้ทันตามกำหนดหรือไม่

นี่คือโครงการยักษ์ที่เดิมพันสูง และกำลังถูกจับตามากที่สุดในเวลานี้