ธุรกิจพอดีคำ : “ยากที่สุด ยังทำได้” องค์กรไทยอย่างเราๆ ปีนี้ก็ยังไม่สายจะ “เริ่มต้น”

Dr. Pasi Sahlberg

ลองจินตนาการถึงโลกเมื่อหนึ่งร้อยปี่ที่แล้ว

ในยุคที่อุตสาหกรรมเริ่มมีความแพร่หลาย

การทำเกษตรกรรมแปลงใหญ่ เริ่มมีการใช้เครื่องจักร

การเดินทางจากที่หนึ่ง ไปยังอีกทีหนึ่ง

ถนนหนทาง ที่มีแต่รถม้า ก็กลายเป็น “ม้าเหล็ก”

เครื่องบินโดยสาร ก็มีใช้กันแพร่หลายมากขึ้นๆ

เป็นสายการบินราคาถูก ใครๆ ก็บินได้ อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

การสื่อสารทางจดหมาย ทางกระดาษ

ก็เริ่มเปลี่ยนเป็น โทรเลข โทรศัพท์

กลายเป็นอินเตอร์เน็ต โลกออนไลน์ พิมพ์แชต อย่างทุกวันนี้

แสงสว่างจากเทียนเล่มเล็ก เล่มน้อย ในยามดึก

ก็กลายมาเป็นแสงสว่างจากหลอดไฟกลมๆ

กลายเป็นหลอดไฟยาวๆ หลอดไฟหลากหลายรูปแบบ หลากสีสัน ยามค่ำคืน

บ้านจากที่อยู่กันในแนวราบ เรียงกันเป็นทอดๆ

ก็กลายมาเป็นตึกสูง สังคมแนวตั้ง อยู่กันเป็นเรื่องปกติ

วิถีชิวิตของคนในยุคร้อยปีที่แล้วกับปัจจุบันนั้น ช่างแตกต่างกันอย่างชัดเจน

หากแต่ว่า มีสถานที่แห่งหนึ่ง

ที่คงความ “คลาสสิค” เอาไว้ แม้ว่าจะผ่านมาร้อยปีแล้ว ก็ยังคง “ไม่แตกต่าง”

เพื่อนๆ พี่ๆ ในองค์กรขนาดใหญ่ หลายต่อหลายท่าน

พอรู้ว่า ผมมาทำทีมที่เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” ให้กับองค์กรอย่าง ปตท.

ก็มักจะให้กำลังใจ เพราะรู้ว่า “ไม่ง่าย”

บางคนถึงกับบอกว่า

“ถ้าทำที่ ปตท. ได้ ที่อื่นก็น่าจะไม่ยากละ”

หากแต่ว่า ในมุมมองของผมนั้น อาจจะ “ถูกครึ่งเดียว”

ผมเชื่อมาตลอดว่า สถานที่ที่ยากที่สุดในการสร้าง “นวัตกรรม”

คือ “โรงเรียน” ในระบบกระทรวงศึกษาธิการ ของเรา

เมื่อวานซืน ซื้อหนังสือ “Finnish Lessons 2.0” มา

หนังสือเล่มแรกของปี อ่านจบในสองวัน

สรุป เรื่องการศึกษาของ “ฟินแลนด์”

ประเทศที่เด็กๆ มีผลการสอบ PISA ดีที่สุดในโลกหลายๆ วิชา

คุณครูสอนชั่วโมงน้อยกว่าที่อื่น

นักเรียนเรียนชั่วโมงน้อยกว่าที่อื่น

การแข่งขันระหว่างโรงเรียน น้อยกว่าที่อื่น

เงินที่ใส่เข้าไปในระบบ ก็ไม่ได้มากมายไปกว่าที่อื่น

เขาทำได้อย่างไร? มีข้อมูลมากมาย

ไปหาอ่านกันได้ครับ ฮ่าๆๆๆ

(ขอโทษนะครับ เรื่องการศึกษา ใครๆ ก็มีความเห็น พูดแล้วหล่อ น่าเสียดายที่หลายคนไม่ค่อยจะมี Fact-Based ฟังเขามาเล่าต่อซะมาก เป็นอีกปัญหาในบ้านเรา คือ ไม่หาข้อมูล ไม่อ่านหนังสือ น้องๆ คนรุ่นใหม่ อนาคตของชาติ อย่ามีนิสัยแบบนี้นะครับ)

 

วันนี้อยากจะเล่าให้ฟัง “เรื่องเดียว”

เรื่องที่ชอบที่สุดในเล่ม หน้าที่ชอบที่สุดในเล่ม

นั่นคือ เรื่องของ “อิสรภาพ”

“หัวกะทิ” ของประเทศฟินแลนด์ต่างฝันอยากจะเป็น “ครู”

ไม่ใช่เพราะ เงินมาก งานสบาย สวัสดิการดี แต่อย่างใด

แต่เพราะถือว่าเป็นอาชีพที่ “มีเกียรติ”

ถามว่า ดูอย่างไรว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ

คำตอบคือ “อิสระในการคิดงาน และ ทำงาน” ครับ

เราให้เกียรติคุณหมอ ทนายความ วิศวกร

อาชีพต่างๆ เหล่านี้

เพราะเราให้ “อิสรภาพในการทำงาน” ใน “วิชาชีพ” เขา

วิศวกร รู้ดีที่สุดว่า จะสร้างตึกอย่างไร

คุณหมอ รู้ดีที่สุดว่า จะรักษาคนไข้อย่างไร

“ครูหัวกะทิของชาติ” ในโรงเรียนที่ประเทศฟินแลนด์

ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ออกแบบการสอนเอง

วัดผลเอง เพราะรู้จัก “นักเรียน” ดีที่สุด

นักเรียนแต่ละคน ที่เกิดมาพร้อม “พรสวรรค์” ที่แตกต่าง

รอคอยการบ่มเพาะจาก “ครู” ของพวกเขา

คุณครูมีปากเสียงได้ เพื่อ “นักเรียน”

โดยมีพื้นฐานบน “ความเชื่อใจ” ของสังคม

แต่น่าแปลกที่อาชีพ “ครู” ในบ้านเรา หลายๆ ครั้ง

กลับถูก ผู้บริหาร นักวิชาการ ข้าราชการ นักการเมือง

นักเศรษฐศาสตร์ นักการตลาด นักธุรกิจ ที่ปรึกษา

บอกพวกเขาว่า เขาควรจะสอนหนังสือ บริหารโรงเรียนอย่างไร

ตามมาด้วย ระบบ เครื่องมือมากมาย ที่ทำให้คุณครูมีงานเพิ่ม

ต้องทำรายงาน โดนตรวจสอบมากขึ้น

แต่มีเวลากับการเรียนรู้ของ “นักเรียน” น้อยลง

Laszlo Bock

พอพูดมาถึงตรงนี้ คำถามก็ผุดขึ้นในหัว

คุณภาพครูของเขากับ “เรา” อาจจะต่างกัน

จริงครับ ไม่เถียงเลย

หาก “เกียรติ” ของการเป็นครู ยังเป็นเพียงแค่ “ลม” ที่จับต้องไม่ได้

“หัวกะทิ” ที่ไหน ก็คงไม่อยากทำงานในสภาพแวดล้อมแบบนั้น

ถูกจำกัด “อิสรภาพทางความคิด และการลงมือทำ”

ถูกตรวจสอบรอบทิศ กับผู้บริหาร ที่เท้าไม่ติดดิน

ที่ “กลัว” เหลือเกินจะ “ล้มเหลว”

จึงต้องพึ่ง “ที่ปรึกษา” มาสร้าง “ตัววัด” มากมาย

ขาดความตระหนักรู้ของ “ปัญหา” ที่แท้จริง

ที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ

Laszlo Bock หัวหน้าทีม HR ของ Google เคยบอกไว้

ในหนังสือ Work Rules ว่า

สูตรลับการสร้าง “นวัตกรรม” ของ “Google”

คือ จ้าง “หัวกะทิ” แล้วให้ “อิสระ” แก่พวกเขา

“ผู้บริหาร” มีปากเสียงน้อยกว่า “คนหน้างาน” ที่มี “ข้อมูล”

ผมอ่านหนังสือ Finnish 2.0 เล่มนี้แล้ว ชัดเจนมากว่า

“ฟินแลนด์” ใช้แนวคิดแบบเดียวกันเลย ในเรื่อง “การศึกษา”

สร้าง “ครู” ที่ดี และให้ “เกียรติ” พวกเขาได้ทำงาน

ในที่ที่ยากที่สุดในการ “เปลี่ยนแปลง”

แนวคิดนี้ ก็ยังสามารถใช้ได้ในการสร้าง “นวัตกรรม”

คำถามจึงย้อนกลับมาที่ “องค์กร” ทั้งหลายในบ้านเรา

ที่โอ้อวดว่า มีคนรู่นใหม่ ดีกรีดีๆ มากมาย เต็มบริษัท

แต่กลับ “สร้างสรรค์” อะไรไม่ออก

ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจาก “ระบบ” ที่ให้ทุกสิ่งอยู่กับร่องกับรอย

รายงานเยอะ ประชุมมาก จนไม่ได้คุยกับ “ลูกค้า”

ไม่มีเวลา “สร้างสรรค์” สิ่งใหม่ๆ อย่างที่องค์กรพูดว่า อยากได้

เป็นปัญหาคลาสสิคขององค์กรใหญ่หลายๆ แห่งในบ้านเรา

“อิสรภาพทางความคิด” นั้น พูดให้ดูดี ง่าย

แต่ทำให้เกิดจริงในองค์กรนั้น “ไม่ง่าย”

หากแต่ว่า ระบบการศึกษาที่ว่ายาก ยังเปลี่ยนได้

องค์กรไทยอย่างเราๆ ปีนี้ก็ยังไม่สายจะ “เริ่มต้น” ครับ

 

ร้อยปีผ่านไป ฉันยังคงเป็นเหมือนเดิม

ณ ประเทศรูปขวาน สถานที่ที่คนคนหนึ่งต้องเดินเข้าออกอยู่ถึงหลายสิบปี

สร้าง “คน” ให้เป็น “คน”

“ห้องเรียน” สี่เหลี่ยม

มีกระดานดำหน้าห้อง มีชอล์ก มีปากกา

มีคุณครูหนึ่งคน กับนักเรียนหลายสิบคน

นั่งเก้าอี้ โต๊ะวางสมุด จดตามที่คุณครูสอน

“อนาคตของชาติ” หันหน้าไปทางด้านเดียวกัน อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

ราวกับ “กองทัพ” คนงาน ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ไทยแลนด์ 4.0 อย่าลืมเรื่องนี้นะครับ