วิเคราะห์ : เบลเยี่ยมและการกลับมาของ “คาร์พูล”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

การจราจรในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม วันนี้กลายเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของรัฐบาลท้องถิ่นอย่างมากเพราะสภาพการจราจรที่ติดขัดมีผลลบต่อเศรษฐกิจเบลเยียมปีละ 8,000 ล้านเหรียญยูโร หรือตกเป็นเงินไทยราว 280,000 ล้านบาท

เป็นการสูญเสียทั้งเงิน เวลา และทำลายสภาพแวดล้อมของบรัสเซลส์

ชาวบรัสเซลส์ควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ดีกว่านั่งจ่อมอยู่ในรถยนต์ เฉลี่ยปีละ 54 ชั่วโมง

ผู้บริหารระดับสูงของบรัสเซลส์ถือว่าปัญหาจราจรในกรุงบรัสเซลส์เป็นประเด็นใหญ่ที่สุดประเด็นหนึ่งเพราะมีผลต่อคุณภาพอากาศ กระทบกับสุขภาพของประชาชน

มีความพยายามคิดทางออกหลายๆ ทาง แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญเพราะผู้คนส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในที่สุดต้องย้อนกลับมานึกถึงโครงการ “คาร์พูล” หรือการเดินทางร่วมกันในรถคันเดียว

 

คาร์พูลเวอร์ชั่นใหม่ของบรัสเซลส์ มีรายการโปรโมชั่นแจกแถมให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ

เช่น ใครจัดคาร์พูลแบ่งปันที่นั่งให้เพื่อนบ้านร่วมเดินทางไปด้วย ทางกรุงบรัสเซลส์จะจัดที่จอดรถพิเศษ

หรือถ้าคาร์พูลวิ่งเข้าไปในกลางเมืองจะลดราคาค่าจอดซึ่งปกติมีราคาแพงมาก รวมถึงยังมีแผนลดภาษีบุคคลให้กับผู้สนับสนุนคาร์พูล

ชาวบรัสเซลส์ต้องร่วมคิดแก้ปัญหาจราจรกันใหม่ เพราะเป็น 1 ในเมืองหลวงของยุโรปที่มีการจราจรคับคั่งที่สุด

ในดัชนีการชี้วัดการจราจรของ “ทอม ทอม” กรุงบรัสเซลส์ เลวร้ายพอๆ กับกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

รัฐบาลท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์วางเป้าหมายจะลดปริมาณรถยนต์บนถนน 20 เปอร์เซ็นต์ และจัดโปรแกรมคาร์พูลผ่านแอพพลิเคชั่น ให้ผู้ใช้รถยนต์และผู้ต้องการร่วมเดินทางในเส้นทางเดียวกันสามารถติดต่อสื่อสารได้โดยตรง

แอพพ์ดังกล่าวยังมีโปรแกรมแลกเปลี่ยนข้อมูลอื่นๆ รวมถึงการจองวัน-เวลาการเดินทางล่วงหน้า

ส่วนที่สหรัฐนั้น นักวิจัยด้านการขนส่งแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ชี้ว่า เมื่อปี 2560 การจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนของเมืองใหญ่ๆ 15 แห่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 83 ชั่วโมง ถือเป็นการสูญเสียทั้งเวลาและพลังงานอย่างมาก

นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย มีปัญหาการจราจรเลวร้ายสุด เฉลี่ยคนติดอยู่บนถนน 119 ชั่วโมงต่อปี

ตามด้วยนครซานฟรานซิสโก 103 ชั่วโมงต่อปี กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 102 ชั่วโมง และมหานครนิวยอร์ก 92 ชั่วโมง

ค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุจราจรติดขัดของเมืองต่างๆ เหล่านี้ รวมกันแล้วตกราวๆ 166,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเผาน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 3,300 ล้านแกลลอน

 

นักวิจัยยังคาดการณ์แนวโน้มอนาคตถ้าผู้คนยังยึดติดกับค่านิยมการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง การจราจรในสหรัฐจะเป็นปัญหาเรื้อรังต่อเนื่อง เฉลี่ยเวลาสูญเสียไปในการเดินทางแต่ละปี 62 ชั่วโมง

มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจพุ่งไปที่ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งมวลชนของลอสแองเจลิสพยายามขยายระบบขนส่งมวลชน เชื่อมไปยังชานเมืองให้มากที่สุด

แต่เนื่องจากการขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก การขนส่งมวลชนรองรับไม่ทัน

ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ในการเดินทางซึ่งคิดว่าสะดวกเป็นส่วนตัว ปลอดภัยกว่า

 

ย้อนกลับมาที่กรุงเทพมหานครวันนี้

ปัญหารถติดเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสติดอันดับโลก

มาจากสาเหตุเดียวกันคือปริมาณรถยนต์มีจำนวนมาก

มากเกินกว่าถนนจะรองรับได้

ขณะที่คุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร อยู่ในขั้นเลวร้ายติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

ปริมาณรถยนต์ที่มีมาก เพราะมาจากจุดเริ่มต้นของปัญหาคือการทะลักของประชากรเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะกรุงเทพมหานครเป็นเมืองเดียวที่มีครบทุกมิติ

ใครอยากแสวงหางานดีๆ มีรายได้สูง ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ

ใครอยากเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีครูสอนเก่ง ต้องเข้ามาหาโรงเรียนในกรุงเทพฯ

ใครอยากทำธุรกิจ ติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศต้องมากรุงเทพฯ

คนอยู่บ้านนอกต่างใฝ่ฝันเข้ามากรุงเทพฯ เพราะมีทุกอย่างครบครัน

ผมเองเป็นหนึ่งในคนบ้านนอก ที่ใฝ่ฝันต้องการเข้ามาแสวงหาโชคชะตาในกรุงเทพฯ

เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อ 45 ปีที่แล้ว จำนวนประชากรมีไม่มาก แต่การจราจรในใจกลางเมืองก็มีปัญหาแล้ว เนื่องจากการวางระบบผังเมืองไม่ได้พัฒนาคู่ขนานไปได้ด้วยกัน

อย่างถนนราชประสงค์ ประตูน้ำ รถติดมาก เพราะมีศูนย์การค้าใหญ่ๆ และร้านขายส่งตั้งอยู่

ทุกคนในกรุงเทพฯ แห่กันไปใช้บริการศูนย์การค้าใหม่ที่มีรูปแบบทันสมัย เช่น มีบันไดเลื่อน มีสินค้าหลากหลายจากต่างประเทศ

ส่วนที่ประตูน้ำ เป็นแหล่งรวมสินค้าสำเร็จรูปราคาขายส่ง พ่อค้าแม่ค้าต้องมาซื้อที่นั่น

เมื่อการจราจรคับคั่ง ก็แก้ปัญหาจราจรด้วยการสร้างสะพานลอยข้ามแยก แต่ยิ่งสร้างรถก็ยิ่งติด เพราะจำนวนรถเยอะขึ้น

ระบบขนส่งมวลชนก็มีแค่รถเมล์ เป็นรถเมล์ที่ไม่มีการพัฒนาปรับปรุงให้ทันสมัยน่าใช้บริการ นั่งรถเมล์สมัยนั้น อาจโดนลูกหลงเด็กนักเรียนตีกัน

ระยะเวลาประมาณ 20 ปีให้หลัง กรุงเทพมหานครขยายเมืองรวดเร็วมาก มีการก่อสร้างตึกอาคารสูงมากมาย มองไปรอบๆ ไม่ต่างกับนิวยอร์ก ฮ่องกง โตเกียว หรือลอสแองเจลิส

ระบบขนส่งมวลชนก็ก่อสร้างทั้งบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงก์

กระนั้น ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ยังยุ่งเหยิงอีนุงตุงนังเหมือนเดิม

ยิ่งในช่วงเวลานี้ การจราจรติดหนักเข้าไปอีก เพราะมีการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ทั้งระบบรางบนดินและใต้ดินหลายสายพร้อมๆ กัน

 

คนกรุงเทพฯ คงต้องทำใจและมองโลกในแง่บวกๆ ว่า อนาคตอีกไม่นาน ราวๆ 4-5 ปี เมืองหลวงแห่งนี้จะมีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

เป็นระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อทั้งบนบก-ใต้ดินและทางน้ำ

ผมวาดฝันว่า รถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างหน้าหมู่บ้านเมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ทางผู้ให้บริการรถไฟฟ้าจะเปิดตู้โบกี้ให้นักปั่นจักรยาน

ผมจะปั่นจักรยานจากบ้านพักซึ่งอยู่ห่างราวๆ 2 กิโลเมตรไปสถานีรถไฟฟ้าแล้วยกใส่ตู้โบกี้

เมื่อไปถึงปลายทาง เอาจักรยานลงแล้วปั่นเข้าทำงานได้เลย

ไม่ต้องพึ่งพารถส่วนตัวเหมือนเช่นทุกวันนี้

คนที่ช่วยให้ฝันของผมเป็นจริง นึกถึงใครไม่ออก

ยกเว้นนายกฯ ลุงตู่ซึ่งเป็นหัวขบวนทำให้รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ขยายบานออกไปอย่างที่เห็น