ฉัตรสุมาลย์ : เข้าพรรษา 8 แรก 8 หลัง

ช่วงนี้เป็นช่วงเข้าพรรษา ฆราวาสไม่ค่อยรู้เรื่องนะคะ จะรู้เฉพาะช่วงวันเข้าพรรษาที่นิยมไปทำบุญด้วยเทียนเข้าพรรษา และหลอดไฟ

สำหรับพระสงฆ์ ช่วงเข้าพรรษานี้ มักจะเป็นช่วงที่เข้มข้นกว่าปกติ บางวัด ทราบว่าท่านสวดมนต์ทำวัตรกันเฉพาะในช่วงเข้าพรรษาก็มี

วันก่อนภิกษุณีสายเถรวาทที่อินโดนีเซียไลน์มาถามว่า ท่านจะเข้าพรรษาวันที่ 16 สิงหาคม คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะออกพรรษาเมื่อใด ท่านธัมมนันทาก็ไปไม่ถูก เพราะทางไทยเข้าพรรษาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เราก็เข้าพรรษาเช่นนี้มาตลอด แล้วไปออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11

ภิกษุณีรูปนี้ ท่านว่าทำได้ เพราะพระบอก พระที่ว่าคือภิกษุที่นั่น ไม่ทราบว่าภิกษุไทย หรือภิกษุชาวอินโดนีเซีย

จึงต้องมาทบทวนความเข้าใจกันใหม่ว่า เราจะมีการเข้าพรรษาในเดือน 8 หน้า 8 หลัง เฉพาะปีอธิกมาส คือปีที่มีเดือน 8 สองครั้ง ซึ่งจะมาถึงทุก 4 ปี คือ 4 ปีมีครั้งหนึ่ง เฉพาะในปีดังกล่าวจึงอนุญาตให้เข้าพรรษาในเดือนแปดแรก หรือแปดหลังได้

แต่ความเข้าใจนี้เริ่มเพี้ยนไป นำมาใช้กับทุกปี แม้ในปีปกติที่มีเดือนแปดครั้งเดียว แม้เข้าพรรษาไปแล้วตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 ก็เข้าใจ (ผิด) ว่า สามารถเข้าพรรษาได้ในอีกเดือนหนึ่งถัดมา ซึ่งไม่ใช่เดือนแปดหลัง แต่เป็นเดือน 9 ไปแล้ว

ในกรณีเช่นนี้ ภิกษุณีรูปนี้ ท่านจะไม่ได้อานิสงส์พรรษา

 

คําถามที่ตามมาคือ ทำไมต้องมีเดือนแปดสองครั้ง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นความพยายามที่จะให้การนับเดือนตามปฏิทินจันทรคติสอดรับกับสุริยคติ

ทางสุริยคตินั้น หนึ่งปีมี 365 วัน หรือ 366 วัน ในปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน

เราลองนับวันในเดือนตามแบบจันทรคติ เดือนคู่ คือ เดือน 2, 4, 6, 8, 10, 12 จะมี 30 วัน ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เดือนคู่จึงมี 180 วัน

ส่วนเดือนคี่ คือ เดือน 1, 3, 5, 7, 9, 11 จะมีเดือนละ 29 วัน คือ ขึ้น 15 ค่ำ แต่แรมจะเป็น 14 ค่ำ เช่นนี้ นับวันในเดือนคี่รวมได้ 174 วัน

ทั้งปี ตามจันทรคติจะมีเดือนคู่ 6 เดือน เดือนคี่ 6 เดือน รวม 180+174 ได้ 354 วัน ทั้งปีน้อยกว่าสุริยคติอยู่ 11 วัน

ต้องรอ 3 รอบปี ได้ 33 วัน ในปีที่ 4 จึงเอา 30 วันนี้ เป็นเดือน 8 ที่สอง ส่วน 3 วันที่เป็นเศษนั้น เอาไปบวกให้ 1 วันในเดือนที่ 7 เดือนที่ 7 จึงเป็นเดือนคี่เดียวที่มีแรม 15 ค่ำ เรียกว่า วันอมาวสี

นี่คือที่มาว่า ทำไมจึงมีเดือน 8 สองครั้ง ทุกๆ 4 ปี

กรณีที่อนุญาตให้เข้าพรรษาได้ในแปดแรกหรือแปดหลังนี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะปีอธิกมาสเท่านั้น

องค์ความรู้นี้ เวลามาให้โอวาทภิกษุณีสงฆ์ พระอาจารย์ท่านพระครูสุธรรมนาถท่านสอนแล้วสอนอีก เราก็ไม่ค่อยเข้าหัวเท่าไร ถ้าไม่เขียนไว้ เดี๋ยวก็ลืมอีก

วิธีเขียนที่ดีสุด คือเขียนโดยมีเป้าหมายว่า มีท่านผู้อ่านนี้แหละดีที่สุด

 

ทีนี้เวลานับข้างขึ้นข้างแรมก็ดูที่ดวงจันทร์ เมื่อสิ้นสุดเดือนที่แรม 15 ค่ำ ดวงจันทร์มืดสนิท วันถัดไปเป็นขึ้น 1 ค่ำ ไม่ต่างจากแรม 15 ค่ำมากนัก เปลี่ยนเดือนที่ขึ้น 1 ค่ำค่ะ

ผู้เขียนต้องทำวงกลม เริ่มเดือนที่จุดล่างสุดของวงกลม ขึ้นไปทางซ้ายถึงข้างบนสุด จะเป็นขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ จุดกึ่งกลางระหว่างขึ้น 1 ค่ำ ถึงขึ้น 15 ค่ำ ก็เป็นขึ้น 8 ค่ำ เป็นวันพระเล็ก

พอดวงจันทร์เต็มดวงสุดที่ขึ้น 15 ค่ำ ทีนี้ก็ค่อยๆ ลงแล้ว จากขึ้น 15 ค่ำ ถัดไปเป็นแรม 1 ค่ำ พอลงทางขวาได้ครึ่งทางก็เป็นแรม 8 ค่ำ ไปจนจบรอบที่จุดล่างสุด คือ แรม 14 หรือ 15 ค่ำ จบเดือน เริ่มต้นดวงจันทร์ดวงใหม่ที่ขึ้น 1 ค่ำ เรียกว่า เดือนใหม่

ถ้าไม่เห็นรูปวงกลมแบบนี้ ผู้เขียนก็จะงง เมื่อคิดเป็นรูปภาพจึงจะเข้าใจ และสามารถโยงความหมายได้ว่า เมื่อหมดดวง ดวงคือดวงจันทร์ ก็ขึ้นเดือนใหม่

เมื่อกี้พูดถึงวันพระเล็ก วันพระใหญ่ สำคัญอย่างไร หรือต่างกันอย่างไรในภาคปฏิบัติ

วันพระใหญ่ คือ ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 14 หรือ 15 ค่ำนั้น พระสงฆ์ต้องลงปาติโมกข์ พระสงฆ์นี้ หมายรวม ทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ ไม่นับรวมสามเณรหรือสามเณรี

ก่อนการสวดปาติโมกข์ พระท่านก็จะต้องปลงอาบัติกันก่อน ชาวบ้านแซวว่า พระสองรูปเอาหัวชนกัน ประมาณนั้นเลยค่ะ ท่านเข้ามานั่งใกล้กัน รูปที่พรรษาน้อยกว่า ก็จะกราบรูปที่พรรษามากกว่า บางครั้งท่านจะบอกอาบัติเป็นภาษาไทยก่อนการปลงอาบัติเป็นภาษาบาลี ที่ศรีลังกาจะสอนว่า ตอนที่ปลงอาบัตินี้ จะต้องนั่งกระหย่งด้วย ท่านี้เป็นท่าปราบเซียนตั้งแต่ตอนขอบวช นั่งบนส้นเท้าค่ะ หัวเข่าลอยทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งตั้งสูงกว่าอีกข้างหนึ่ง สาวๆ ทำได้ไม่มีปัญหา แต่พออายุมากขึ้น จะนั่งท่านี้ลำบากหน่อย
ทุกรูปที่จะลงปาติโมกข์ต้องปลงอาบัติกันมาแล้ว ตามแบบศรีลังกาจะมีผู้อาราธนา เรียกว่า อาราธนกะและผู้สวด เรียกว่า เทสนกะ

ผู้อาราธนาก็จะถามถึงความพร้อมในการจัดเตรียมสถานที่ น้ำดื่ม มีภิกษุณีมาลงปาติโมกข์กี่รูป เป็นต้น จากนั้น ผู้สวดท่านก็จะสวดปาติโมกข์ คือสิกขาบททั้ง 311 ข้อที่ภิกษุณีถือ ใช้เวลานานค่ะ ตอนที่ท่านธัมมนันทาท่านเรียนการสวดจากปวัตตินีของท่านนั้น ปวัตตินีท่านสวดสองหมวดแรกเป็นทำนอง ใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง จะขยับตัวได้เฉพาะช่วงที่จบหมวด เมื่อยน่าดู

ตอนนี้ ภิกษุณีท่านฝึกฝนกันทำเวลาดีที่สุดอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 10 นาที เคยมีภิกษุณีชาวอินเดียมาเข้าพรรษาด้วย ท่านทำเวลาได้ 1 ชั่วโมง ท่านพูดภาษามราฐี เสียงจะใกล้กับบาลีอยู่ ท่านเลยได้เปรียบ

ที่เล่ามาตั้งยืดยาว เพื่อจะบอกว่า วันขึ้น 15 ค่ำ แรม 14, 15 ค่ำนั้น ตารางเวลาของพระท่านค่อนข้างแน่น

 

สําหรับภิกษุณีนั้น มีมากกว่าพระภิกษุอีก คือ พระภิกษุณีต้องรับโอวาทจากพระภิกษุ และพระภิกษุที่จะให้โอวาทได้ก็ต้องมีความรู้ด้านพระธรรมวินัย และมีพรรษาอย่างต่ำ 20 พรรษา เช่นนี้ พระภิกษุณีจึงต้องอิงอาศัยพระภิกษุสงฆ์

ดั้งเดิมนั้น เพื่อให้แน่ใจว่า ภิกษุณีรู้ว่า วันไหนเป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ หรือแรม 15 ค่ำ อย่าลืมว่าสมัยก่อนไม่มีปฏิทิน ต้องอาศัยดูดวงจันทร์จริงๆ และก็อย่างที่บอกนั่นแหละค่ะ ขึ้น 15 ค่ำ กับแรม 1 ค่ำนั้น สูสีกันมาก มหานิกายถือวันหนึ่ง ธรรมยุตถืออีกวันหนึ่งก็ด้วยเหตุนี้ ดูดวงจันทร์ต่างกัน จริงๆ แล้วมันกึ่งๆ อยู่นะคะ

เจ้าฟ้ามงกุฎ ท่านเก่งเรื่องการดูเดือน ท่านจึงทรงกำหนดวันต่างไปจากที่พระมหานิกายถือ แต่ก็ต่างเพียงวันเดียวนั่นแหละค่ะ

การทำความเข้าใจการเดินของดวงจันทร์และดวงดาวต่างๆ เป็นศาสตร์เฉพาะ ที่โหราศาสตร์จะสนใจเป็นพิเศษ พระสงฆ์ทั่วๆ ไปก็อาศัยเพียงดูปฏิทินเหมือนๆ กับเรา ปฏิทินไทยจึงมีเอกลักษณ์พิเศษกว่าประเทศอื่น หมายของวันพระ บางทีก็ทำเป็นรูปพระพุทธรูป ให้ดียิ่งขึ้นก็ทำเป็นรูปดวงจันทร์ ทั้งข้างขึ้นข้างแรม

แต่การที่เรารู้ที่มาที่ไปด้วยก็จะทำความเข้าใจได้ลึกซึ้งมากขึ้น