มนัส สัตยารักษ์ | พบประชาชน : ภาพพจน์และเครดิต

แม้จะถูกต้องแต่ไม่เป็นธรรม เมื่อสารพัดสื่อเอาภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเทียบกับพระเอกบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ในกรณีช่วยเหลือชาวบ้านถูกน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีและหลายจังหวัดทางภาคอีสาน เป็นภาพที่ดูเหมือนว่าฝ่ายพระเอกทุ่มเทและเสียสละมากกว่าพลเอก

มิหนำซ้ำพลเอกถึงคราวเคราะห์ ต้องไปเป็นนายแบบสร้างภาพผัดใบเหลียงกับไข่ที่เกาะสมุย ตามกำหนดการล่วงหน้า (ก่อนน้ำท่วม)

ภาพพลเอกในชุดกุ๊กทันสมัยที่เกาะสมุย เทียบกับภาพพระเอกช่วยชาวบ้านถูกน้ำท่วม ดูไม่เป็นธรรมต่อพลเอกเท่าไรนัก

ถ้าเปรียบเป็นเกมกีฬาก็เป็นกีฬาคนละชนิดกัน เฉกเช่นเทนนิสกับแบดมินตันอย่างไรอย่างนั้น มีคอร์ตคล้ายกันและตีข้ามเน็ตเหมือนกัน แต่อุปกรณ์ กติกา การนับคะแนนไม่เหมือนกัน

สถานะตลอดจนอำนาจหน้าที่ของพลเอกกับพระเอกก็ต่างกัน

เมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วม พลเอกซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม สั่งข้าราชการทั้งพลเรือนและทหารช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยตามหน้าที่ทันที

บรรดาข้าราชการเหล่านั้นถึงแม้นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งก็ต้องทำอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีเพียงแต่รับรายงาน กำชับ ตรวจสอบ และลงไปเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยในบางจุดบ้างเท่านั้น ว่ากันอย่างเป็นธรรม พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำได้ดีและครบถ้วน เพียงแต่ออกเป็นข่าวน้อยกว่าพระเอกบิณฑ์

การทำงานแบบข้าราชการมักจะชักช้าจนไม่ทันการณ์ มิหนำซ้ำบางหน่วยจะมีคนทุจริตคอยหาช่องทางฉกฉวยเอาผลประโยชน์ ข้าราชการต้องทำงานด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ต่างกับเอกชนหรือองค์กรเอกชนซึ่งทำงานอย่างอิสระได้รวดเร็วกว่า

โดยเฉพาะพระเอกบิณฑ์ ที่เปี่ยมด้วยจิตอาสามาตลอดจนมีประสบการณ์และบทเรียนมากมาย แถมครั้งนี้เสียสละควักเงินส่วนตัวถึง 1 ล้านบาท ประกาศไปแจกครอบครัวละ 1,000 เพราะทนเห็นความเดือดร้อนอย่างสาหัสของผู้เคราะห์ร้ายไม่ได้

ที่เกริ่นไว้ในบรรทัดแรกของคอลัมน์ว่า “ถูกต้องแต่ไม่เป็นธรรม” (ซึ่งขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว) นั้นหมายความว่าอย่างไร?

“ถูกต้อง” เพราะภาพลักษณ์และเครดิตของพลเอกกับพระเอกอันเป็นคุณสมบัติติดตัวและเฉพาะตัวต่างกันอย่างชัดเจน คนหนึ่งมีแต่ภาพลบ ในขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นบวกมาตลอด ดังนั้น ผลการเทียบเคียงของสื่อย่อมไม่ผิดพลาด

แม้ในที่สุดรายการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจะประสบความสำเร็จทั้งฝั่งของพลเอกและฝั่งของพระเอก แต่ในที่สุดแล้วยังมีปัญหาให้ต้องขบคิด ถกเถียงและแก้ไขกันต่อไป เป็นต้นว่า ฝั่งพระเอกต้องการแจกให้ผู้ประสบเคราะห์ร้ายโดยเร็ว แต่ฝ่ายพลเอกต้องสำรวจความเสียหายก่อนแล้วช่วยเหลือ มากหรือน้อยตามความเสียหายที่ได้รับ

ผู้บริจาคบางรายระบุเป็นการจำเพาะเจาะจงว่าจะบริจาคในบัญชีของพระเอกบิณฑ์

ชาวเน็ตหลายรายสงสัยภาพที่นายกรัฐมนตรีถือป้ายอวดบอกจำนวนเงินบริจาคของ “กระทรวง” ต่างๆ ว่า เงินที่บริจาคเรือนล้านนั้นเป็นงบประมาณแผ่นดินหรือเปล่า? ถ้าเป็นงบประมาณแผ่นดินทำไมไม่ส่งไปช่วยเหลือโดยตรงทันที ทำไมต้องเอามาสร้างภาพก่อน

นึกถึงเมื่อครั้งที่ “ตูน บอดี้สแลม” หรืออาทิวราห์ คงมาลัย นักร้อง นักแต่งเพลง วิ่งการกุศลเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ เป็นการทำงานของเอกชน โดยโรงพยาบาลเพียงรับทราบและช่วยประชาสัมพันธ์บ้างเท่านั้น แต่ละครั้งมีผู้ร่วมมือร่วมใจมหาศาล

บังเอิญว่าในช่วงเวลานั้นกระทรวงสาธารณสุขออกข่าวว่า “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” ทำให้กระทรวงสาธารณสุขขาดแคลน โครงการของตูนจึงถูกแขวะจากพิธีกรการเมืองของ Voice TV ซึ่งไม่พอใจ พวกเขาจึงแสดงความคิดเห็นว่าการช่วยเหลือโรงพยาบาลเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่หน้าที่ของตูน และไม่ใช่ด้วยการบริจาค

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปไม่เอาด้วยกับพิธีกรการเมือง โครงการของตูนซึ่งเป็นโครงการของเอกชนล้วนๆ ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายทุกโครงการ

พล.อ.ประยุทธ์ชอบใช้ทฤษฎีเปรียบเทียบมาแต่ไหนแต่ไร ในกรณีอุทกภัยภาคอีสานครั้งนี้ก็เช่นกัน พอมีเสียงตำหนิว่ารัฐบาลชักช้าและสะเปะสะปะ แทนที่จะโต้ตอบโดยการประชาสัมพันธ์แจกแจงผลงานของทหารและข้าราชการ กลับพูดว่า

“ต่อให้ไปเรียกคนที่อยู่เมืองนอกมาก็ทำไม่ได้”

นั่นหมายถึงเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยลืมไปว่าทักษิณทำได้ดีเยี่ยมในวิกฤต “สึนามิ” ได้รับคำยกย่องจากทั่วโลก

พอพูดถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในการบริหารหรือความไม่ชอบมาพากลในบ้านเมือง พล.อ.ประยุทธ์มักจะสวนออกมาทันทีทำนองว่า “รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็เคยทำแบบนี้”

เมื่อไม่นานมานี้เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรัฐมนตรีมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ก็จะมีคำตอบออกมาว่า “ผมจำเป็นต้องมีคนแบบนี้บ้าง ก็เหมือนกับรัฐบาลในยุคก่อนๆ นั่นแหละ”

คำตอบเหล่านี้แสดงให้เห็นความคิดที่ฝังลึกมานานจนกลายเป็นลักษณะประจำตัว แทนที่จะถือเป็นบทเรียนแล้วแก้ไข กลับยึดไว้เป็นข้ออ้างแก้ตัว เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ควรจะมีในตัวผู้นำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ 13 กันยายน 2562 หลังจากพูดคุยว่าเป็นห่วงอุทกภัยที่อีสานแล้ว นายกฯ ถามประชาชนชาวนครฯ ว่า “พวกเราเดือดร้อนอะไรมากหรือไม่ที่ผมเป็นนายกฯ” ถามแล้วก็ตอบเองว่า “ไม่เดือดร้อนใช่ไหม”

ผมอ่านรายละเอียดจากหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” เห็นพาดหัวข่าวตัวโตว่า “ผมเป็นนายกฯ เดือดร้อนอะไรมากไหม” ความรู้สึกแรกผมคิดว่านายกฯ พูดประชดหรือท้าทายแบบนักเลง

และผมก็อยากตอบแบบประชดเชิงนักเลงเช่นกันว่า “ก็ไม่เดือดร้อนอะไรมากหรอก นอกจากรำคาญรายการทีวี ‘นายกฯ พบประชาชน’ เท่านั้นแหละ”

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากคนรอบข้างยังพยายามที่จะเอาใจนายกฯ ให้ได้ “เล่นของชอบ” หลังจากที่โยนก้อนหินถามทางจนถูกถล่มมาก่อนแล้ว ทิ้งระยะไปพักหนึ่งก็กลับมาทำท่าจะเสนอรายการทีวีมหาภัยนี้อีก

ในฐานะที่ผมเป็นคนสนใจการสื่อสารมวลชน ขอตอบตรงๆ แบบนักเลงว่า คนที่จะออกรายการ “พบประชาชน” ได้ดีต้องมีภาพลักษณ์และเครดิตที่น่าเชื่อถือแบบพระเอกบิณฑ์ บรรลือฤทธ์ หรือตูน บอดี้สแลม นะครับ